xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นนำเข้า “เนื้อวาฬ” จากไอซ์แลนด์ 2,000 ตัน หลังศาลโลกสั่งห้าม “ล่าวาฬ” แถบขั้วโลกใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - เหล่านักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมออกมากล่าวประณามวันนี้ (9 พ.ค.) หลังญี่ปุ่นนำเข้าเนื้อวาฬแช่แข็งน้ำหนัก 2,000 ตันจากไอซ์แลนด์ โดยพวกเขาชี้ว่า เป็นการท้าทายมติของโลกในเรื่องการล่าสัตว์เลี้ยงลูกนมชนิดนี้

จุนอิจิ ซาโตะ จากองค์การ “กรีนพีซ” ประจำญี่ปุ่นระบุว่า วานนี้ (8) ลังบรรจุเนื้อวาฬฟินได้ถูกนำลงจากเรือสินค้า ที่แล่นจากไอซ์แลนด์ไปยังเมืองโอซากา ทางภาคตะวันตกของญี่ปุ่น

บรรดาองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และสำนักข่าวรายงานว่า เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเรือลำนี้ได้แล่นออกจากท่าเรือในไอซ์แลนด์ พร้อมบรรทุกสินค้าจำนวนมหาศาล จนเกือบเท่ากับปริมาณเนื้อวาฬทั้งหมดที่มีการนำเข้าจากชาติยุโรปเหนือแห่งนี้ ในตลอดช่วง 6 ปีที่ผ่านมา

เจ้าหน้าที่คนหนึ่งในท่าเรือเมืองโอซากายืนยันว่า เรือลำนี้แล่นมาเทียบท่าเรือจริง

เขาเปิดเผยกับเอเอฟพีว่า “เรือชื่อ ‘อัลมา’ แล่นมาถึงเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม โดยเราได้รับแจ้งล่วงหน้าว่า เรือลำนี้จะขนเนื้อวาฬมาลงที่ท่าเรือโอซากา”

กรีนพีซระบุว่า รู้สึกประหลาดใจกั้บปริมาณสินค้าล็อตนี้

ซาโตกล่าวว่า “เราไม่เข้าใจว่าทำไมญี่ปุ่นต้องนำเข้าเนื้อวาฬในปริมาณมหาศาลถึงเพียงนี้” ซึ่งนับเป็น 2 ใน 3 ของปริมาณการบริโภคเนื้อวาฬตลอดทั้งปีในญี่ปุ่น

เขากล่าวเสริมว่า “ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เราขอต่อต้านการส่งสินค้าล็อตนี้”

เมื่อเดือนธันวาคม ไอซ์แลนด์เผยว่าได้เพิ่มโควตาการล่าวาฬในปี 2014 ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจะเรียกเสียงประณามอย่างรุนแรงจากนานาชาติ

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และบางประเทศรุมวิพากษ์วิจารณ์ไอซ์แลนด์และนอร์เวย์อย่างโกรธเคือง นับตั้งแต่ไอซ์แลนด์กลับมาดำเนินภารกิจล่าวาฬอีกครั้งเมื่อปี 2006 แม้จะนานาชาติได้สั่งให้ระงับปฏิบัติการชั่วคราวก็ตาม

ทั้งนี้ ชาวไอซ์แลนด์ไม่ค่อยนิยมรับประทานเนื้อวาฬ และเนื้อของวาฬส่วนใหญ่ที่จับได้จะถูกส่งไปขายในตลาดญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นก็ตั้งโครงการล่าวาฬเช่นกัน แต่อ้างว่ามีจุดประสงค์เพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ แม้ว่าในที่สุดแล้วเนื้อวาฬเหล่านั้นจะถูกส่งไปขายตามภัตตาคารก็ตาม

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ขององค์การสหประชาชาติได้มีคำตัดสินว่า ภารกิจล่าวาฬประจำปีในมหาสมุทรใต้ (Southern Ocean) ของญี่ปุ่นเป็นการล่าวาฬเชงพาณิชย์ที่อ้างจุดประสงค์ทางวิทยาศาสตร์บังหน้า เพื่อหลบเลี่ยงข้อห้ามล่าวาฬของนานาชาติ

โตเกียวกล่าวว่า จะยุติการล่าวาฬในมหาสมุทรใต้ในช่วงปี 2014 ถึง 2015 แต่จะยังส่งเรือเข้าไปเพื่อดำเนินการ “วิจัยที่ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตสัตว์” อย่างไรก็ตาม การออกมาประกาศเช่นนี้ชี้ว่ามีความเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นจะส่งเรือติดฉมวกกลับไปอีกครั้งในปีถัดไป
กำลังโหลดความคิดเห็น