เอเอฟพี – กองเรือล่าวาฬญี่ปุ่นออกเดินทางจากท่าเรือทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศท่ามกลางการคุ้มกันอย่างเข้มงวดในวันนี้ (26) ซึ่งถือเป็นการออกล่าครั้งแรก นับตั้งแต่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) มีคำสั่งห้ามญี่ปุ่นสังหารวาฬในทะเลแอนตาร์กติกเมื่อเดือนที่แล้ว
กองเรือ 4 ลำมุ่งหน้าออกจากชายฝั่งเมืองอายูกาวะ (Ayukawa) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรมล่าวาฬนอกชายฝั่งประจำฤดูกาลนี้ และไม่ได้อยู่ในข่ายต้องห้ามตามคำสั่งของ ไอซีเจ ซึ่งระบุว่า การล่าวาฬของญี่ปุ่นบริเวณมหาสมุทรใต้ (Soutern Ocean) มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ และอ้างวิทยาศาสตร์บังหน้าเพื่อหลักเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตร
ผู้สังเกตการณ์บางคนคาดหวังว่า คำสั่ง ไอซีเจ อาจทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นยอมพับโครงการ “ล่าวาฬเพื่อวิจัย” แต่ปรากฏว่าโตเกียวยังคงเดินหน้าล่าวาฬในน่านน้ำอื่นๆ ที่ศาลไม่ได้สั่งห้าม ซึ่งก็หมายความว่า ญี่ปุ่นจะยังต้องสู้รบกับบรรดานักอนุรักษ์ที่มองว่าการล่าวาฬซึ่งเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของชาวญี่ปุ่นควรจะยุติลงได้แล้วอย่างจริงจัง
นักการเมืองญี่ปุ่นบางรายออกมาตอบโต้คำครหาจากต่างชาติว่าเป็น “การรุกรานทางวัฒนธรรม” จากโลกตะวันตก ขณะที่ชาวประมงในเมืองอายูกาวะต่างแสดงความกังวลว่า คำสั่ง ไอซีเจ อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตดั้งเดิมของพวกเขา
เสียงนกหวีดดังขึ้นเป็นสัญญาณเมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น (8.30 น. ตามเวลาในไทย) ขณะที่กองเรือล่าวาฬ 4 ลำ พร้อมเรือลาดตระเวนยามฝั่งอีก 3 ลำมุ่งหน้าออกจากชายฝั่งเมืองอายูกาวะ โดยมีบุคคลสำคัญและชาวบ้านท้องถิ่นราว 100 คน มาร่วมพิธีปล่อยเรือ และไม่มีกลุ่มต่อต้านกิจกรรมล่าวาฬมาขัดขวางแต่อย่างใด
เมืองเล็กๆ แห่งนี้ถูกคลื่นสึนามิเมื่อปี 2011 ซัดถล่มจนย่อยยับ และยังคงปรากฏร่องรอยความเสียหายจากภัยพิบัติเมื่อ 3 ปีก่อน ขณะที่ชาวบ้านยอมรับว่า ชุมชนของพวกเขาอยู่ได้ด้วยการล่าวาฬเป็นหลัก
“ไม่ว่าศาลจะมีคำพิพากษาอย่างไร สิ่งที่เราทำได้ก็คือ แสดงออกให้ทุกคนเห็นว่าพวกเรายังยืนหยัดที่จะอยู่ตรงนี้” โคจิ คาโตะ ลูกเรือประมงวัย 22 ปี ให้สัมภาษณ์
“คนนอกก็วิจารณ์กันไปสารพัดอย่าง แต่ผมอยากให้พวกเขามองในมุมของเราบ้าง สำหรับผมแล้ว การล่าวาฬเป็นงานที่ให้ผลตอบแทนดีกว่างานอื่นๆ
รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศจะปรับปรุงกิจกรรมล่าวาฬในทะเลแอนตาร์กติกาเสียใหม่เพื่อให้มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น และรับรองว่าจะไม่มีการล่าวาฬในมหาสมุทรใต้ช่วงปี 2014-2015 แต่จะยังส่งเรือออกไปเพื่อสานต่อโครงการวิจัยที่ไม่เป็นอันตราย ส่วนโครงการ “ล่าวาฬเพื่อวิจัย” ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือจะยังเดินหน้าต่อไป
ญี่ปุ่นซึ่งเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการล่าวาฬนานาชาติ (IWC) อาศัยช่องโหว่ของกฎห้ามล่าวาฬเพื่อการค้าในปี 1986 โดยอ้างว่าทำไปเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ แต่ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า เนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ถูกล่าเหล่านี้มักจะกลายเป็น “เมนูอาหาร” ของชาวญี่ปุ่นในที่สุด