เอเจนซีส์ - ฮิลลารี คลินตัน เปิดตัวหนังสือบันทึกความทรงจำเล่มใหม่ของเธอ ที่มีบางคนชี้ว่าเป็นการเปิดแคมเปญชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯอย่างไม่เป็นทางการ โดยภายในหนังสือ มีการวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำต่างชาติหลายคน เป็นต้นว่า ปูตินนั้น “จ้อง” ฟื้นอาณาจักรโซเวียต ส่วน หู จิ่นเทา “เย็นชา” และ มะหมุด อาห์มาดิเนจาด อดีตผู้นำอิหร่าน “ชอบทะเลาะ”
อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของอเมริกายังบอกว่า การที่รีพับลิกันเที่ยววิพากษ์กล่าวหาเธอต้องรับผิดชอบกรณีสถานกงสุลเมืองเบงกาซีถูกโจมตี ซึ่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำลิเบียถูกสังหารด้วยนั้น กลายเป็นแรงกระตุ้นเธอเพิ่มมากขึ้นในการลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยหน้า แต่เธอก็ออกตัวว่ายังไม่ได้ตัดสินใจแน่นอน พร้อมเผยตอนออกจากทำเนียบขาวนอกจากหมดเนื้อหมดตัวแล้วยังมีหนี้สินจากคดีความต่างๆ
ฮิลลารี คลินตัน ได้ฤกษ์เปิดตัวหนังสือบันทึกความทรงจำเล่มใหม่ซึ่งใช้ชื่อว่า “ฮาร์ด ชอยซ์” (Hard Choices) วันอังคาร (10 มิ.ย.) โดยที่หลายคนตีความว่า เป็นการเริ่มแคมเปญหาเสียงชิงตำแหน่งประมุขทำเนียบขาวปี 2016 อย่างไม่เป็นทางการ
หลังจากเยือน 12 ประเทศตลอดระยะเวลา 4 ปีในฐานะนักการทูตสูงสุดของอเมริกา คลินตันได้นำประสบการณ์การพบปะและรับมือกับพวกเพลเยอร์มหาอำนาจ ในประเด็นปัญหาระดับโลกที่ยากต่อการจัดการมาถ่ายทอดไว้ในหนังสือเล่มล่าสุด ซึ่งเธอบอกว่า บุคลิกส่วนตัวมีความสำคัญอย่างมากชนิดที่หลายคนคาดไม่ถึงในกิจการระหว่างประเทศ
ในบรรดาผู้นำที่มีปัญหาอย่างมากกับคลินตันขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศมากที่สุดคือ วลาดิมีร์ ปูติน ที่เธอบอกว่า “ท้าทายตลอดเวลา เป็นผู้นำเผด็จการผู้กระหายที่จะมีอำนาจ ดินแดน และอิทธิพลมากขึ้น”
ตรงข้ามกับหู จิ่นเทา ที่ “กระหายการต่อสู้น้อยกว่า สุภาพกว่า และคาดเดาได้มากกว่า” อย่างไรก็ดี คลินตันสำทับว่า อดีตประธานาธิบดีจีนผู้นี้ไม่มี “บารมี” แบบที่เติ้ง เสี่ยวผิงมี จึงคล้ายประธานคณะกรรมการบริหารที่เฉยชามากกว่าซีอีโอที่เข้าไปจัดการปัญหาต่างๆ ด้วยตนเอง
อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแดนอินทรีวิจารณ์ อาห์มาดิเนจาด อย่างรุนแรงว่าเป็น “ผู้ยั่วยุและผู้ปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของนาซี ... ซึ่งมุ่งตำหนิตะวันตกได้ทุกเรื่อง”
คลินตันยังบอกว่า อดีตผู้นำอิหร่านมักแสดงความอวดดีท้าตีท้าต่อยบนเวทีโลก และไม่ยินดีประนีประนอมกับอเมริกาเพื่อให้สามารถเดินหน้าการเจรจาโครงการนิวเคลียร์ จนส่งผลทำให้วอชิงตันต้องใช้มาตรการลงโทษ และทิ้งท้ายว่า การครองอำนาจสมัยสองของอาห์มาดิเนจาด ถือเป็นความหายนะ
ในบรรดาพันธมิตรของสหรัฐฯ ผู้นำที่คลินตันชื่นชมที่สุดดูเหมือนจะเป็นนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี ที่เธอบอกว่าเป็น “ผู้นำที่มีอำนาจที่สุดซึ่งแบกยุโรปไว้บนบ่า”
แต่ขณะที่แมร์เคิลเงียบขรึม อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส นิโคลาส์ ซาร์โกซี กลับชอบ “พรั่งพรู” นโยบายการต่างประเทศของตนชนิดทำให้บรรยากาศในห้องประชุมตึงเครียด คลินตันยังบอกว่า อดีตผู้นำแดนน้ำหอมชอบนินทาผู้นำคนอื่นว่า บ้าบอหรืออ่อนแอ ทว่าเธอก็หยอดด้วยว่า แม้ดูกระตือรือร้นเกินไปอยู่ตลอดเวลา แต่ซาร์โกซี “ก็เป็นสุภาพบุรุษเสมอ”
นอกจากนั้น ระหว่างให้สัมภาษณ์รายการข่าวของเครือข่ายโทรทัศน์เอบีซี ของสหรัฐฯ เพื่อโปรโมตหนังสือเล่มใหม่เมื่อวันจันทร์ (9) คลินตันยังเปิดใจว่า เธอรู้สึกกระตือรือร้นเพิ่มมากขึ้น ที่จะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี จากการถูกพรรครีพับลิกันวิจารณ์วิจารณ์อย่างหนัก กรณีการโจมตีของผู้ก่อการร้ายต่อสถานกงสุลสหรัฐฯ ในเมืองเบงกาซี ประเทศลิเบีย เมื่อสองปีก่อนตอนที่เธอยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ
สมาชิกคนสำคัญของรีพับลิกันหลายต่อหลายคน กล่าวหาคณะรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ขัดขวางการสอบสวนเรื่องนี้ของรัฐสภา และทำให้สังคมเข้าใจผิดเกี่ยวกับเหตุการณ์การโจมตีคราวนี้ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2012 ไม่กี่สัปดาห์ นอกจากนั้นรีพับลิกันยังตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวทางการรับมือการโจมตีของคลินตัน และวิพากษ์ว่าเธอควรที่จะหาทางป้องกันสำนักงานการทูตอเมริกันในเบงกาซีได้ดีกว่านั้น
คลินตันตอบโต้ข้อกล่าวเหล่านี้ในหนังสือเล่มใหม่ว่า สิ่งที่รีพับลิกันทำเป็นเพียงการเล่นเกมการเมือง และเธอจะไม่ยอมเป็นส่วนหนึ่งของการนำความตายของเอกอัครราชทูต คริส สตีเวน ตลอดจนเจ้าหน้าที่อเมริกันคนอื่นๆ อีก 3 คนในครั้งนั้น มาเป็นประโยชน์ในการแข่งขันทางการเมือง
ในหนังสือเล่มนี้ เธอกล่าวถึงความพ่ายแพ้ต่อ บารัค โอบามา ในการแข่งขันเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตเพื่อลงสมัครตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2008 ว่ากลยุทธ์การหาเสียงของตัวเธอเองด้อยประสิทธิภาพ และเพิ่งจะสามารถดึงศักยภาพทั้งหมดออกมาใช้หลังจากพ่ายแพ้ยับเยินในการหยั่งเสียงแบบคอคัสในมลรัฐไอโอวา กระนั้น เธอบอกว่า จะเรียนรู้จากความผิดพลาดเหล่านั้น และสำทับว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจแน่นอนว่าจะลงสมัครอีกครั้งในปี 2016 หรือไม่
สำหรับในระหว่างให้สัมภาษณ์เอบีซีนิวส์เมื่อวันจันทร์ คลินตันเล่าว่า ครอบครัวของเธอมีค่าใช้จ่ายในคดีฟ้องร้องต่างๆ และเป็นหนี้เป็นสินตอนที่บิลล์ คลินตัน สามีของเธอ หมดวาระการเป็นประธานาธิบดีเมื่อต้นปี 2001
เธอยังถูกถามเรื่องเกี่ยวกับ โมนิกา ลูวินสกี นักศึกษาฝึกงานในทำเนียบขาว ซึ่งมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับ บิลล์ คลินตัน สามีของเธอ ขณะที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี คลินตันบอกว่าเธอมีความปรารถนาดีต่อลูวินสกี
“ฉันหวังว่าเธอจะสามารถขบคิดเกี่ยวกับอนาคตของเธอ และสร้างชีวิตที่เธอสามารถค้นพบความหมาย เป็นชีวิตที่เธอมีความพึงพอใจ” คลินตันกล่าว 1 เดือนหลังจากที่นิตยสาร “แวนิตี้ แฟร์” ได้ตีพิมพ์เรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยเขียนในแบบที่ลูวินสกี้เป็นผู้บอกเล่าเรื่องด้วยตนเอง