xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : “ฮิลลารี คลินตัน” เปิดตัวพ็อกเกตบุ๊กหยั่งคะแนนนิยมก่อนลงสู้ศึก “ผู้นำทำเนียบขาว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลายเป็นที่จับตามองของบรรดาผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเมืองสหรัฐฯ เมื่อ ฮิลลารี คลินตัน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ได้ฤกษ์เปิดตัวหนังสือบันทึกความทรงจำเล่มใหม่ ซึ่งเธอใช้ชื่อว่า “ฮาร์ด ชอยซ์” (Hard Choices) เมื่อวันอังคารที่ 10 มิถุนายน หลายคนตีความว่าการเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ถือเป็นการเปิดฉากแคมเปญหาเสียงชิงตำแหน่ง “ประธานาธิบดีหญิง” คนแรกของสหรัฐฯ ในปี 2016 อย่างไม่เป็นทางการ และยังเป็นโอกาสให้ คลินตัน ได้เผยมุมมองของ “นักปฏิบัตินิยม” ด้านนโยบายต่างประเทศ ซึ่งพร้อมที่จะนำเสนอนโยบายที่แตกต่างออกไปจากอดีตผู้บังคับบัญชาอย่างประธานาธิบดี บารัค โอบามา

เสียงตอบรับที่ได้ในครั้งนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ คลินตัน ตัดสินใจได้ว่า เธอควรจะก้าวลงสู่สนามเลือกตั้งเพื่อเป็นผู้นำหญิงของทำเนียบขาวในอีก 2 ปีข้างหน้าหรือไม่

นักการเมืองหญิงแกร่งซึ่งเคยอยู่ในฐานะ “สตรีหมายเลขหนึ่ง” ในสมัยของประธานาธิบดี บิล คลินตัน ระบุว่า เธอจะตัดสินใจเรื่องลงสมัครชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ ก็ต่อเมื่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาคองเกรสเดือนพฤศจิกายนนี้ผ่านพ้นไปเสียก่อน แต่คนในพรรคเดโมแครตส่วนใหญ่ก็มั่นใจว่า คลินตัน จะลงสู้ศึกทำเนียบขาวอย่างแน่นอน

ผู้ช่วยคนสนิทของ คลินตัน ชี้ว่ากระแสตอบรับหนังสือ “ฮาร์ด ชอยซ์” และปฏิกิริยาของชาวอเมริกันระหว่างที่ คลินตัน เดินสายเปิดตัวหนังสือ จะเป็นมาตรวัดอนาคตของเธอได้เป็นอย่างดี และการหยั่งเสียงยังช่วยให้คลินตันได้ “ลองเอาเท้าจุ่มน้ำ โดยไม่ต้องเสี่ยงกับการจมน้ำตาย”

หลังจากเยือน 12 ประเทศตลอดระยะเวลา 4 ปีในฐานะนักการทูตสูงสุดของอเมริกา คลินตัน ได้นำประสบการณ์การพบปะและรับมือกับพวกผู้นำมหาอำนาจในประเด็นปัญหาระดับโลกที่ยากต่อการจัดการมาถ่ายทอดไว้ในหนังสือเล่มล่าสุด ซึ่งเธอบอกว่า บุคลิกส่วนตัวมีความสำคัญอย่างมากชนิดที่หลายคนคาดไม่ถึงในกิจการระหว่างประเทศ

ในบรรดาผู้นำที่มีปัญหาอย่างมากกับ คลินตัน ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ คือ ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย โดยเธอบอกว่า ปูติน “ท้าทายตลอดเวลา เป็นผู้นำเผด็จการที่กระหายอำนาจ ดินแดน และอิทธิพล” ซึ่งบุคลิกเช่นนี้ตรงข้ามกับอดีตประธานาธิบดี หู จิ่นเทา ของจีนที่ “กระหายการต่อสู้น้อยกว่า สุภาพกว่า และคาดเดาได้มากกว่า”

อย่างไรก็ดี คลินตัน สำทับว่า หู ไม่มี “บารมี” แบบที่ เติ้ง เสี่ยวผิง เคยมี จึงคล้ายประธานคณะกรรมการบริหารที่เฉยชามากกว่าซีอีโอที่เข้าไปจัดการปัญหาต่างๆ ด้วยตนเอง

คลินตัน ยังวิจารณ์อดีตประธานาธิบดี มะห์มูด อาห์มาดิเนจัด แห่งอิหร่านอย่างรุนแรงว่า เป็น “ผู้ยั่วยุ และผู้ปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของนาซี... ซึ่งมุ่งตำหนิตะวันตกได้ทุกเรื่อง”

คลินตัน ชี้ว่าอดีตผู้นำอิหร่านมักแสดงความอวดดี ท้าตีท้าต่อยบนเวทีโลก และไม่ยินดีประนีประนอมกับอเมริกาเพื่อให้สามารถเดินหน้าเจรจาโครงการนิวเคลียร์ จนส่งผลทำให้วอชิงตันต้องใช้มาตรการลงโทษ และทิ้งท้ายว่าการครองอำนาจสมัยสองของ อาห์มาดิเนจัด ถือเป็นความหายนะ

ในบรรดาพันธมิตรของสหรัฐฯ ผู้นำที่ คลินตัน ชื่นชมที่สุดดูเหมือนจะเป็นนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี ที่เธอบอกว่าเป็น “ผู้นำที่มีอำนาจที่สุดซึ่งแบกยุโรปไว้บนบ่า” แต่ในขณะที่ แมร์เคิล เงียบขรึม อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส นิโคลาส์ ซาร์โกซี กลับชอบ “พรั่งพรู” นโยบายการต่างประเทศของตนชนิดที่ทำให้บรรยากาศในห้องประชุมตึงเครียด

คลินตัน ยังบอกว่า อดีตผู้นำแดนน้ำหอมชอบนินทาผู้นำคนอื่นว่า “บ้าบอหรืออ่อนแอ” และถึงจะดูกระตือรือร้นเกินไป แต่ ซาร์โกซี “ก็เป็นสุภาพบุรุษเสมอ”

นอกจากจะเผยมุมมองที่เธอมีต่อผู้นำประเทศอื่นแล้ว คลินตัน ยังใช้หนังสือ “ฮาร์ด ชอยซ์” เป็นเวทีแก้ข้อครหาต่างๆ ที่เธอเคยได้รับสมัยยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ และชี้แจงเบื้องลึกเบื้องหลังของการตัดสินใจครั้งสำคัญๆ ตลอด 4 ปี

บทหนึ่งของหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงเหตุการณ์กลุ่มติดอาวุธบุกโจมตีสถานกงสุลสหรัฐฯในเมืองเบงกาซีของลิเบีย เมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี 2012 ซึ่งทำให้เอกอัครราชทูต คริสโตเฟอร์ สตีเวนส์ ถูกสังหาร พวกรีพับลิกันหยิบยกเรื่องนี้มาตำหนิ คลินตัน ว่าไม่จัดหามาตรการคุ้มกันความปลอดภัยชาวอเมริกันในต่างแดนมากพอ

ในการให้สัมภาษณ์ต่อสถานีโทรทัศน์เอบีซีซึ่งออกอากาศเมื่อวันจันทร์ที่ 9 มิถุนายน คลินตัน ยอมรับว่า สวัสดิภาพของเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศเป็นความรับผิดชอบของเธอก็จริง ทว่าก็มีข้อจำกัดบางอย่าง “ดิฉันไม่สามารถมานั่งพิจารณาผังอาคารและคิดว่าตรงไหนควรจะทำกำแพงกันระเบิด หรือควรจะเสริมความแข็งแกร่งที่จุดใด ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วย”

คลินตัน ยังยอมรับว่าเธอ “ตัดสินใจพลาด” ที่ยกมือสนับสนุนให้สหรัฐฯ นำกำลังบุกอิรักเมื่อปี 2002 ขณะที่เธอยังเป็นวุฒิสมาชิก และประเด็นนี้เองที่เธอถูก บารัค โอบามา หยิบยกมาโจมตีจนเป็นสาเหตุที่ทำให้แพ้ศึกคัดเลือกผู้แทนพรรคเดโมแครต เมื่อปี 2008

คลินตัน ชี้ว่า เธอมีมุมมองที่แตกต่างจากประธานาธิบดี โอบามา หลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือเรื่องการเจรจากับกลุ่มติดอาวุธตอลิบาน ซึ่งช่วยให้เธอรอดจากกระแสวิจารณ์คำสั่งแลกเปลี่ยน 5 นักโทษตอลิบานกับสิบเอก โบว์ เบิร์กดาห์ล ทหารอเมริกันที่ตกเป็นเชลยในอัฟกานิสถานอยู่ 5 ปี ที่กำลังทำให้ โอบามา ถูกสภาคองเกรสและสังคมอเมริกันตั้งคำถามอยู่ในเวลานี้

อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งยังยอมรับว่า เธอสนับสนุนการติดอาวุธให้กบฏซีเรียใช้ต่อกรกับกองทัพประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด แต่ประธานาธิบดี โอบามา กลับค้านเรื่องนี้มาโดยตลอด

ผลสำรวจความคิดเห็นหลายสำนักบ่งบอกตรงกันว่า คลินตัน เป็นเต็งหนึ่งที่จะได้รับเลือกเป็นผู้แทนพรรคเดโมแครตลงชิงชัยในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016 ขอเพียงแต่เธอประกาศตัวลงแข่งขันเท่านั้น นอกจากนี้ เธอยังเป็นที่ชื่นชอบในหมู่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ โดยผลสำรวจจากเอบีซีนิวส์-วอชิงตันโพสต์ พบว่า คนอเมริกันร้อยละ 67 มองว่า คลินตัน จะเป็นผู้นำประเทศที่เข้มแข็ง ร้อยละ 60 คิดว่าเธอเป็นคนซื่อสัตย์ไว้วางใจได้ และร้อยละ 59 มองว่า คลินตัน มีแนวคิดใหม่ๆ ที่จะช่วบขับเคลื่อนสหรัฐฯ ไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองในอนาคต

กำลังโหลดความคิดเห็น