เอเจนซีส์ - “โอบามา” วางท่าเข้ม ปิดฉากทัวร์เอเชียในวันอังคาร (29 เม.ย.) โดยเตือนจีนอย่าใช้กำลังแก้ข้อพิพาท พร้อมให้สัญญาสนับสนุนทางการทหารแก่ฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ดี ถึงแม้ใช้เวลาอยู่ในภูมิภาคนี้ 1 สัปดาห์ ทว่า ยุทธศาสตร์ “ปักหมุด” ของผู้นำสหรัฐฯ ยังเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยดังเดิม มิหนำซ้ำยังไม่สามารถกล่อมให้ปักกิ่งเชื่อมั่นในสัมพันธภาพมิติใหม่ที่สร้างสรรค์
ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ใช้โอกาสในการกล่าวปราศรัยต่อทหารอเมริกันและฟิลิปปินส์ที่กรุงมะนิลา เมื่อวันอังคาร มาตอกย้ำความกังวลต่อข้อพิพาทด้านดินแดนระหว่างจีนกับพวกชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ในเอเชีย ซึ่งเป็นประเด็นที่ครอบงำการเดินทางเยือน 4 ประเทศของผู้นำแดนอินทรีครั้งนี้
“เราเชื่อว่าประเทศต่างๆ และประชาชนทั้งหลาย มีสิทธิ์ดำรงชีวิตอย่างปลอดภัยและสันติ โดยที่อธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของพวกเขาได้รับการเคารพ”
“เราเชื่อว่า กฎหมายระหว่างประเทศจักต้องได้รับการปฏิบัติตาม เสรีภาพในการเดินเรือจักต้องได้รับการปกป้อง และการพาณิชย์จักต้องไม่ถูกขัดขวาง เราเชื่อว่าข้อพิพาทต่างๆ จักต้องได้รับการแก้ไขด้วยสันติวิธี ไม่ใช่ด้วยการข่มขู่หรือการใช้กำลัง” โอบามากล่าว
จีนนั้นประกาศอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ และกลายเป็นกรณีพิพาทกับฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม โดยที่ฟิลิปปินส์ หนึ่งในพันธมิตรของสหรัฐฯที่มีกองทัพอ่อนแอที่สุดในเอเชีย เรียกร้องให้มหามิตรอเมริกาช่วยคานอำนาจพญามังกรที่แผ่อิทธิพลและเพิ่มความกดดันทั้งทางการทหารและการทูตเพื่อเข้าควบคุมน่านน้ำที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติและเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าสำคัญยิ่งของโลกนี้
วันจันทร์ที่ผ่านมา มะนิลาและวอชิงตันร่วมลงนามข้อตกลงที่เปิดโอกาสให้กองทัพสหรัฐฯ ส่งทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้ามาหมุนเวียนประจำการในฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้น
ในวันอังคาร โอบามาพยายามตอกย้ำสร้างความมั่นใจให้แก่แดนตากาล็อกว่า อเมริกาจะยึดมั่นในสนธิสัญญาการป้องกันร่วมกัน ซึ่งประเทศทั้งสองลงนามกันไว้ตั้งแต่ปี 1951 และให้การสนับสนุนหากฟิลิปปินส์ถูกโจมตี
อย่างไรก็ดี ผู้นำสหรัฐฯ ไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงว่า จะให้ความช่วยเหลืออย่างไร หากฟิลิปปินส์งัดข้อกับจีน เกี่ยวกับดินแดนในทะเลจีนใต้
ด้วยเหตุนี้เอง ฝ่ายมะนิลาจึงยังคงมีข้อกังขา “ไม่มีพันธสัญญาหนักแน่นจากอเมริกาว่าจะปกป้องฟิลิปปินส์” หนังสือพิมพ์ฟิลิปปินส์ เดลี อินไควเรอร์ พาดหัวหน้าหนึ่ง หลังจากโอบามาพบกับประธานาธิบดี เบนิโญ อากีโน ในวันจันทร์ โดยไม่ได้ประกาศชัดเจนว่า จะสนับสนุนฟิลิปปินส์หากกรณีพิพาทกับจีนขึ้นในทะเลจีนใต้
กระทั่งในวันอังคาร อันโตนิโอ ทริลลาเนส วุฒิสมาชิกและพันธมิตรของอากีโน ยังคงวิจารณ์ว่า ผู้นำตากาล็อกตระหนักแล้วว่า กองทหารอเมริกันจะไม่เข้าร่วมกับกองทหารฟิลิปปินส์ หากเกิดกรณีขัดแย้งกับจีนในทะเลจีนใต้
นอกจากไม่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจอย่างเต็มที่ในฟิลิปปินส์แล้ว ผู้สังเกตการณ์หลายคนยังลงความเห็นว่า ภารกิจสำคัญในการเน้นย้ำยุทธศาสตร์ “ปักหมุดเอเชีย” ระหว่างการเยือนเอเชียของโอบามาครั้งนี้ ไม่อาจบรรลุผลสำเร็จตามที่ทำเนียบขาววางแผนไว้
ตัวอย่างเช่นที่ญี่ปุ่น จุดหมายปลายทางแรกของโอบามานั้น เขาไม่สามารถผลักดันให้บรรลุข้อตกลงการค้าทวิภาคี ซึ่งจะส่งผลกระทบกระเทือนต่ออนาคตของข้อตกลงสร้างเขตการค้าเสรีขึ้นในภูมิภาคแถบนี้ ที่จะกีดกันจีนออกไปนอกวง อันมีชื่อว่า “ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก” (ทีพีพี) มิหนำซ้ำสถานการณ์การเจรจายังย่ำแย่กระทั่งสองฝ่ายต้องเลื่อนการแถลงร่วมจนเกือบถึงเวลาที่ผู้นำสหรัฐฯ ต้องขึ้นเครื่องบินแอร์ฟอร์ซ วัน เพื่อบินต่อไปยังเกาหลีใต้
สำหรับญี่ปุ่น คูนิฮิโกะ มิยากิ อดีตนักการทูตญี่ปุ่นวิเคราะห์ว่า พอใจอย่างมากที่โอบามาแถลงว่า สนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกันของ 2 ประเทศ ครอบคลุมหมู่เกาะเซงกากุในทะเลจีนตะวันออกที่ญี่ปุ่นแย่งชิงสิทธิ์อยู่กับจีน
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ประกาศปกป้องญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ แต่โอบามายืนกรานว่า วอชิงตันไม่ต้องการต่อต้านหรือปิดล้อมจีน
กระนั้นก็ตาม ขณะที่พวกนักวิจารณ์เห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ว่า โอบามาสอบผ่านในเรื่องนี้ ทว่า บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ ไชน่า เดลี ของทางการจีนฉบับวันอังคาร กลับส่งสัญญาณว่า ปักกิ่งไม่เชื่อคำพูดของผู้นำอเมริกา
“ชัดเจนมากขึ้นว่า วอชิงตันมองปักกิ่งเป็นศัตรู และการประกาศปกป้องพวกพันธมิตรที่ขัดแย้งกับจีน ก็เป็นการประกาศโจ่งแจ้งว่าอเมริกาไม่ปิดบังอีกต่อไปแล้วเกี่ยวกับความพยายามในการปิดล้อมจำกัดวงอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้”
บทบรรณาธิการยังเตือนว่า ไม่ควรเชื่อ “คำหวาน” ของโอบามาในสัมพันธภาพใหม่ที่สร้างสรรค์ระหว่างจีนกับอเมริกา แต่ควรตระหนักถึง “ความจริงอันร้ายกาจทางภูมิรัฐศาสตร์”
“การสมคบกับพันธมิตรที่สร้างปัญหา เท่ากับว่าอเมริกาประกาศตัวเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของจีน”
ก่อนที่โอบามาจบทริปเยือนเอเชีย เฉิน กัง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนยังปรามาสว่า ความสนใจของอเมริกาต่อเอเชียจะจบลงในระยะเวลาอันสั้น แต่ความเกี่ยวข้องของจีนต่างหากที่ยืนยงคงอยู่ตลอดไป
สำหรับที่เกาหลีใต้ ถึงแม้โอบามาแสดงความเสียใจต่อโศกนาฏกรรมเรือเฟอร์รีล่ม รวมทั้งแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับโซลในการรับมือกับเปียงยาง แต่กลับไม่มีการเสนอแนวคิดใหม่ในการกำราบโครงการนิวเคลียร์ของเปียงยางแต่อย่างใด
ส่วนที่มาเลเซีย แม้ดูเหมือนโอบามาประสบความสำเร็จอยู่บ้างระหว่างการเยือนประเทศนี้ แต่อาจเป็นเพียงการชดเชยจากการที่เขาผิดนัดไม่ได้เดินทางมาเยือนตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากวิกฤตชัตดาวน์ในวอชิงตัน
การเยือนเอเชียของโอบามายังมีขึ้นขณะที่นโยบายการต่างประเทศในตะวันออกกลางของเขาถูกวิจารณ์อย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นการรับมือสงครามกลางเมืองในซีเรีย และความพยายามผลักดันสันติภาพอิสราเอล-ปาเลสไตน์
พวกผู้สังเกตการณ์ในเอเชียยังวิตกว่า ยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชียอาจไปไม่ถึงไหน เนื่องจากอเมริกากำลังพะวักพะวนกับสถานการณ์ในยุโรปอย่างวิกฤตยูเครน ตลอดจนสถานการณ์ในตะวันออกกลางมากกว่า