xs
xsm
sm
md
lg

ยูเครนออกหมายจับ ปธน.“สังหารหมู่” ส่วน “ไครเมีย” ก่อหวอด-หวั่นแยกดินแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - ยูเครนเมื่อวันจันทร์ (24 ก.พ.) ออกหมายจับ วิกตอร์ ยานูโควิช ผู้ถูกโค่นลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี ในข้อหา “สังหารหมู่ประชาชน” โดยสถานที่ล่าสุดที่มีผู้พบเห็นตัวผู้นำที่ฝักใฝ่มอสโกผู้นี้ คือคาบสมุทรไครเมีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สนับสนุนรัสเซียและมีการชุมนุมต่อต้านการยึดอำนาจในเมืองหลวง อีกทั้งเป็นจุดที่น่าเป็นห่วงว่าจะมีการแบ่งแยกดินแดน นอกจากนั้นผู้นำหมีขาวยังตั้งคำถามว่าคณะผู้นำใหม่ของยูเครนนั้นได้อำนาจมาด้วยความไม่ชอบธรรม อย่างไรก็ตามทางด้านสหภาพยุโรป(อียู) และสหรัฐฯ ให้การหนุนหลังกลุ่มกุมอำนาจใหม่อย่างแข็งขัน โดยสัญญาพิจารณาให้ความช่วยเหลือ แม้ยังไม่ชัดเจนว่าจะถึงระดับ 35,000 ล้านดอลลาร์ตามที่รักษาการรัฐมนตรีคลังของกรุงเคียฟร้องขอหรือไม่

เสียงเรียกร้องดังกึกก้องขึ้นทุกขณะให้ดำเนินคดีกับยานูโควิช ผู้ถูกกล่าวหาว่ารวบอำนาจทำตัวเป็นเผด็จการ, กระจายความมั่งคั่งให้พวกพ้อง และปราบปรามจนทำให้ผู้ประท้วงจำนวนมากเสียชีวิตในช่วง 3 เดือนล่าสุด โดยเฉพาะในสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีการซุ่มยิงผู้ประท้วงจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 82 คนในกรุงเคียฟ ถือเป็นเหตุการณ์นองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่ที่ยูเครนแยกตัวเป็นเอกราชภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

เมื่อ วันจันทร์ อาร์เซน อาวาคอฟ รักษาการฐมนตรีมหาดไทย โพสต์บนเฟซบุ๊กว่า ได้เริ่มการสอบสวนกรณี “การสังหารหมู่ประชาชน” และออกหมายจับยานูโควิช รวมทั้งเจ้าหน้าที่อีกหลายคนแล้ว

อาวาคอฟเสริมว่า ในวันเสาร์ (22) ยานูโควิชพยายามหนีออกนอกประเทศทางเครื่องบินจากเมืองโดเนตสก์ ทางตะวันออก ซึ่งเป็นฐานอำนาจทางการเมืองและพื้นที่ที่สนับสนุนรัสเซีย แต่ติดขัดที่เอกสารไม่ครบจึงไม่ได้รับ อนุญาตให้ใช้สนามบิน จากนั้น ยานูโควิชพร้อมทีมรักษาความปลอดภัยติดอาวุธได้เดินทางต่อด้วยขบวนรถยนต์ 3 คันและไปถึงแหลมไครเมียในวันอาทิตย์ (23) ก่อนขึ้นรถหายไปและยุติการติดต่อสื่อสารทุกรูปแบบ

ยูเครนนั้นเผชิญทั้งวิกฤตการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ กระทั่งมีความเสี่ยงที่จะมีการแบ่งแยกดินแดนระหว่างพื้นที่ที่สนับสนุนตะวันตกกับพื้นที่ที่สนับสนุนรัสเซีย ขณะเดียวกันก็กำลังมีความเสี่ยงผิดชำระหนี้ด้วย

ที่แหลมไครเมียเมื่อวันอาทิตย์ สถานการณ์เข้าสู่ภาวะตึงเครียด โดยมีผู้ประท้วงสนับสนุนรัสเซียนับพันๆ คนชูธงรัสเซียบนศาลาการเมืองเซวาสโตโปล พร้อมเรียกร้องให้ “เมืองแม่รัสเซีย” มาช่วยเหลือ และประณาม “การปล้นอำนาจ” ในเคียฟ อย่างไรก็ดี ผู้ประท้วงบางส่วนก็แสดงความไม่พอใจที่ยานูโควิชไม่สามารถจัดการวิกฤตได้ และกลับหลบหนีออกจากกรุงเคียฟ

ทั้งนี้ รัสเซียยังคงมีฐานทัพเรือขนาดใหญ่ในเมืองท่าเซวาสโตโปล ในไครเมีย อันเป็นสาเหตุให้ยูเครนกับรัสเซียปีนเกลียวกันมาตลอดสองทศวรรษ

ความตึงเครียดล่าสุดที่ไครเมีย ดูเหมือนเกิดจากการปลุกปั่นของรัสเซีย แม้ตัวแทนของพรรครัสเซียน ยูนิตี้ ที่สนับสนุนมอสโก ออกมาลดกระแสความกังวลโดยยืนยันว่า ไม่ต้องการแบ่งแยกไครเมีย แต่ต้องการคงความสัมพันธ์กับรัสเซีย และเข้าร่วมสหภาพศุลกากรที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ผลักดันเท่านั้น

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีไครเมียซึ่งมีฐานะเป็นเขตปกครองตนเอง ยังประกาศว่า พร้อมปฏิบัติตามการตัดสินใจของรัฐสภาในเคียฟทุกประการ
ภายหลังสถานการณ์ในกรุงเคียฟคลี่คลายลง ด้วยการหลบหนีไปของ วิกตอร์ ยานูโควิช บริเวณแคมป์พักแรมและสถานที่ชุมนุมในจัตุรัสเอกราช กลางเมืองหลวงของยูเครนแห่งนี้ ก็เปลี่ยนไปเป็นจุดไว้อาลัยผู้ประท้วงที่เสียชีวิต ในภาพนี้ซึ่งถ่ายในวันจันทร์ (24) เป็นบรรยากาศของบริเวณหนึ่งในจัตุรัสที่ผู้ประท้วงหลายคนสิ้นชีพระหว่างการปะทะกับเจ้าหน้าที่
ความกังวลว่า ไครเมียจะกลายเป็นจุดร้อนสำหรับขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่สนับสนุนรัสเซีย ทำให้อเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส และโปแลนด์ ออกมาเรียกร้องเมื่อวันอาทิตย์ ให้ยูเครนสมัครสมานเป็นหนึ่งเดียว นอกจากนั้น ระหว่างการพูดคุยทางโทรศัพท์ ทั้งปูตินและนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลของเยอรมนี ยังแสดงการคัดค้านการแบ่งแยกดินแดนในยูเครน

ยานูโควิชนั้นเป็นต้นเหตุของการประท้วงในกรุงเคียฟ หลังจากยกเลิกข้อตกลงการค้าสำคัญกับสหภาพยุโรป (อียู) ในเดือนพฤศจิกายนและหันมาคบค้ากับรัสเซีย และการประท้วงลุกลามเป็นการโจมตีการคอร์รัปชัน การละเมิดสิทธิมนุษยชน และเรียกร้องให้ยานูโควิชลาออก

วันอาทิตย์ โอเลคซานเดอร์ ตูร์ชินอฟ ประธานรัฐสภาที่ได้รับเลือกให้รักษาการประธานาธิบดี หลังจากสภาลงมติปลดยานูโควิชเมื่อวันศุกร์ (21) กล่าวว่า ภารกิจสำคัญอันดับต้นๆ ครอบคลุมการปกป้องเศรษฐกิจและการกลับสู่เส้นทางการรวมตัวกับยุโรป ซึ่งแน่นอนว่า ภารกิจหลังนั้นคงสร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งแก่มอสโกที่เคยตกรางวัลให้ยานูโควิชสำหรับการระงับการลงนามข้อตกลงกับอียูด้วยเงินช่วยเหลือ 15,000 ล้านดอลลาร์ แล้วบัดนี้ถูกแช่แข็งภายใต้เหตุผลว่า ไม่มั่นใจในสถานการณ์การเมืองของยูเครน หลังจากอัดฉีดเพียงงวดเดียว 3,000 ล้านดอลลาร์ตั้งแต่เดือนธันวาคม

ตูร์ชินอฟเตือนเมื่อวันอาทิตย์ว่า เคียฟอาจผิดชำระหนี้ต่างประเทศ 13,000 ล้านดอลลาร์ที่ถึงกำหนดในปีนี้ หากตะวันตกไม่สามารถเข้ามาเติมเต็มความช่วยเหลือที่ถูกรัสเซียระงับ

อย่างไรก็ดี อียูนั้นเตรียมพร้อมแล้วที่จะปัดฝุ่นข้อตกลงกับเคียฟ ซึ่งอาจครอบคลุมเงินช่วยเหลือหลายพันล้านดอลลาร์ โดยแคทเธอลีน แอชตัน ประธานด้านนโยบายการต่างประเทศของอียู มีกำหนดเยือนเคียฟในวันจันทร์และอังคารเพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ ขณะที่เจฟฟรีย์ ไพแอตต์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า อเมริกาพร้อมช่วยให้ยูเครนได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

วันจันทร์ ยูริ โคโลบอฟ รักษาการรัฐมนตรีคลังแถลงว่า ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจมหภาคที่ยูเครนจำเป็นต้องได้รับนั้น อาจจะอยู่ในราว 35,000 ล้านดอลลาร์ ภายในสิ้นปีหน้า โดยที่ยูเครนหวังว่าจะได้รับเงินกู้ฉุกเฉินภายใน 2 สัปดาห์จากพันธมิตรต่างชาติ อาทิ อเมริกาและโปแลนด์ และเรียกร้องให้จัดประชุมผู้บริจาคระหว่างประเทศในสองสัปดาห์หน้าเพื่อหารือในการช่วยเหลือยูเครน

ในส่วนของรัสเซียนั้น นอกเหนือจากชะลอการให้ความช่วยเหลือยูเครนแล้ว ยังได้เรียกเอกอัครราชทูตของตนประจำยูเครนกลับประเทศด้วย นอกจากนั้นในวันจันทร์ นายกรัฐมนตรีดมิตริ เมดเวเดฟ ของรัสเซีย ยังได้ออกคำแถลงแสดงปฏิกิริยาต่อการเปลี่ยนถ่ายอำนาจในกรุงเคียฟเป็นหนแรกของเขา โดยตั้งคำถามว่าคณะผู้นำใหม่ของยูเครนนั้นได้อำนาจมาอย่างไม่ชอบธรรม และการที่พวกประเทศตะวันตกยอมรับผู้นำใหม่เหล่านี้ก็เป็นการกระทำอันผิดพลาด

เมดเวเดฟบอกว่า รัสเซียไม่สามารถยอมรับทางการใหม่ในกรุงเคียฟในฐานะเป็นคู่เจรจากันได้ และไม่สามารถที่จะเจรจากับพวกกบฏ “ผู้ถือปืนคาลัชนิคอฟ (ปืนอาก้า) ได้”

“พูดกันอย่างเคร่งครัดแล้ว ไม่มีใครเป็นตัวแทนของเราในการติดต่อสื่อสารอยู่ที่นั่นในเวลานี้ มีข้อน่าสงสัยอันฉกาจฉกรรจ์เกี่ยวกับความชอบธรรมขององค์กรแห่งอำนาจต่างๆ ทั้งหมดซึ่งปฏิบัติหน้าที่ที่นั่น” พวกสำนักข่าวของรัสเซียรายงานคำพูดของนายกรัฐมนตรีผู้นี้

“คู่เจรจาชาวต่างประเทศ คู่เจรจาชาวตะวันตกของเราบางรายนั้นคิดไปอีกอย่างหนึ่ง ... นี่ต้องถือเป็นความผิดปกติของการรับรู้บางอย่างบางประการ ในเมื่อคนเรากลับเรียกว่าเป็นความถูกต้องชอบธรรมไปได้ ทั้งๆ ที่โดยสาระแล้วมันเป็นผลลัพธ์ของการก่อกบฎด้วยกำลังอาวุธ” เมดเวเดฟกล่าว

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่ารัฐมนตรีคลังของรัสเซียแถลงว่า ถ้าหากเคียฟถอยหลังออกจากการตัดสินใจของยานูโควิช และหวนกลับไปลงนามในข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนกับอียูแล้ว รัสเซียก็จะต้องขึ้นอัตราภาษีศุลกากรสินค้าของตนที่ส่งไปให้ยูเครน ทั้งนี้เคียฟต้องพึ่งพาอาศัยแก๊สธรรมชาติของรัสเซียเป็นอย่างมาก ดังนั้น หากรัสเซียขึ้นภาษี เศรษฐกิจของยูเครนก็จะยิ่งถูกกดดันหนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น