เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดีวิกตอร์ ยานูโควิช ของยูเครน ขอ “ลาป่วยไม่มีกำหนด” อย่างที่ไม่เคยมีเค้าลางมาก่อนในวันพฤหัสบดี (30 ม.ค.) หลังจากรัฐสภาผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมผู้ประท้วงที่ถูกจับกุม ทว่า ฝ่ายค้านปฏิเสธร่างกฎหมายดังกล่าวทันทีพร้อมประกาศต่อสู้ต่อ เนื่องจากไม่พอใจที่มีการพ่วงเงื่อนไขมาด้วย ยิ่งกว่านั้น สถานการณ์ของยูเครนยิ่งทวีความซับซ้อนขึ้นอีก เมื่อ วลาดิมีร์ ปูติน ประมุขของรัสเซียตั้งข้อแม้ว่า ต้องขอดูโฉมหน้ารัฐบาลใหม่ในกรุงเคียฟ ก่อนพิจารณาอัดฉีดเงินช่วยเหลือตามสัญญาที่เคยให้ไว้
คำแถลงจากเว็บไซต์ประธานาธิบดียูเครนเมื่อวันพฤหัสบดี ระบุว่า ยานูโควิชมีอาการของโรคระบบหายใจรุนแรงและไข้สูง แต่ไม่ได้ระบุว่า ประธานาธิบดีจะลาป่วยนานแค่ไหนหรือยังสามารถทำงานใดๆ ได้หรือไม่
ผู้นำยูเครนถูกกดดันมาตลอด 2 เดือนหลังนี้จากการประท้วงใหญ่ เนื่องจากประชาชนจำนวนมากไม่พอใจที่เขายกเลิกการกระชับสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป (อียู) ที่เฝ้ารอกันมานาน และภายหลังจากนั้นการคัดค้านนี้ก็บานปลายเป็นการเรียกร้องให้ยานูโควิชลาออก แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ รวมถึงดำเนินการปลดเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในการปราบปรามผู้ประท้วงด้วยความรุนแรง
ตลอดสัปดาห์นี้ ทางฝ่ายยานูโควิชได้แสดงให้เห็นถึงการอ่อนข้อและมีความพยายามแก้ไขวิกฤต เริ่มจากนายกรัฐมนตรีมืย์โคลา อาซารอฟ ลาออกพร้อมคณะรัฐมนตรี ตามด้วยรัฐสภาอนุมัติยกเลิกกฎหมายห้ามการประท้วงทั้งที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบไปเมื่อกลางเดือน แล้วล่าสุดเมื่อวันพุธ (29) รัฐสภายังอนุมัติการนิรโทษกรรมผู้ประท้วงบางส่วนที่ถูกจับกุมในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา โดยมีข้อแม้ว่า ผู้ประท้วงต้องคืนถนนและสถานที่ราชการที่ยึดไว้ทั่วประเทศ แต่ไม่รวมอาคารหลายแห่งในกรุงเคียฟที่ผู้ชุมนุมใช้เป็นศูนย์ปฏิบัติการ รวมทั้งใช้เป็นที่พักพิงจากอุณหภูมิติดลบถึง 20 องศาในช่วงกลางคืน ทั้งนี้กฎหมายระบุอย่างชัดเจนว่าการคืนถนนและสถานที่ราชการนี้ต้องกระทำภายในเวลา 15 วันนับแต่ที่กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้
พรรครีเจียนส์ ปาร์ตี้ ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล เทคะแนนให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ หลังจากประชุมลับกับยานูโควิช ซึ่งมีรายงานว่า ผู้นำยูเครนขู่ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งก่อนกำหนด หากบรรดา ส.ส.ไม่ยกมือสนับสนุนร่างกฎหมายนิรโทษกรรม
ทว่า ฝ่ายค้านตัดสินใจงดออกเสียง เนื่องจากไม่พอใจที่มีการพ่วงเงื่อนไขดังกล่าวและประกาศประท้วงต่อ
โอเลก ทิแยกไนบ็อก หัวหน้าพรรคสโวโบดาซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านโจมตีว่า สภากำลังใช้นักเคลื่อนไหวที่ถูกจับกุมเป็นตัวประกันเพื่อบีบให้ผู้ประท้วงยอมคืนสถานที่ราชการให้รัฐบาล ซึ่งถือเป็นการกระทำเยี่ยงผู้ก่อการร้ายจึงเข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ล่าสุด ผู้ประท้วงยังคงปักหลักอยู่ในบริเวณจัตุรัสเอกราช กลางกรุงเคียฟอย่างหนาแน่น รวมถึงยึดสถานที่ราชการหลายแห่งที่รวมถึงศาลาว่าการนครเคียฟ
สัปดาห์ที่แล้ว มีนักเคลื่อนไหว 3 คนถูกยิงตายจากการปะทะกับตำรวจในเคียฟ และแม้ความตึงเครียดเริ่มบรรเทาลงหลังจากรัฐบาลจับเข่าเจรจากับฝ่ายค้าน แต่ยังไม่มีทีท่าว่าวิกฤตยูเครน อดีตสาธารณรัฐแห่งหนึ่งในสหภาพโซเวียตที่ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างรัสเซียกับอียู จะคลี่คลายลงง่ายๆ
ลีโอนิด คราฟชุค ประธานาธิบดีคนแรกนับจากยูเครนได้รับเอกราช เตือนเมื่อวันพุธว่า ประเทศอยู่บนขอบเหวของสงครามกลางเมือง
ผู้สังเกตการณ์เชื่อว่า จากความรุนแรงที่ลุกลามขึ้นเรื่อยๆ นับจากเดือนธันวาคม ยานูโควิชน่าจะสำเหนียกว่า การใช้กำลังรังแต่ทำให้เกิดปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่าตามมา และหันมาค้นหามาตรการที่ละมุนละม่อมมากขึ้นเพื่อโน้มน้าวกลุ่มต่อต้าน
ขณะเดียวกัน มีความกังวลมากขึ้นว่า อาจเกิดความแตกแยกระหว่างผู้ประท้วงกลุ่มหัวรุนแรงกับสายกลาง หลังจากเมื่อวันพุธ สองกลุ่มนี้ปะทะกันจนมีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 2 คน เนื่องจากนักเคลื่อนไหวของพรรคสโวโบดาที่ยึดถือแนวทางสายกลางต้องการคืนกระทรวงเกษตรเพื่อประนีประนอมกับรัฐบาล แต่สมาชิกกลุ่มสปิลนา สปราวา ซึ่งเป็นกลุ่มหัวรุนแรงไม่ยอม
ในอีกด้านหนึ่ง แคทเธอลีน แอชตัน ประธานด้านนโยบายการต่างประเทศของอียู กล่าวเมื่อวันพุธภายหลังพบกับยานูโควิชว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลยูเครนจะต้องเจรจากับฝ่ายค้านอย่างจริงจัง เพื่อยุติความรุนแรงและการข่มขู่
ทว่า สถานการณ์กลับทวีความสลับซับซ้อนขึ้นอีก เมื่อประธานาธิบดีปูตินของรัสเซีย แถลงในวันเดียวกันว่า รัสเซียจะรอดูรัฐบาลชุดใหม่ของยูเครน ก่อนพิจารณาแพ็คเกจความช่วยเหลือทั้งหมด 15,000 ล้านดอลลาร์ที่เคยสัญญาว่าจะให้เคียฟ
ผู้นำรัสเซียยังกล่าวระหว่างหารือกับนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลของเยอรมนีว่า การแทรกแซงกิจการของประเทศอื่นเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้
ด้านแมร์เคิลตอบกลับว่า ควรผลักดันให้มีการเจรจาอย่างสร้างสรรค์เพื่อแก้ไขวิกฤตยูเครน
นักวิเคราะห์มองว่า เครมลินอาจกลับลำ หากรัฐบาลชุดใหม่ของยูเครนเป็นกลุ่มต่อต้านมอสโก ทำให้สุดท้ายอียูต้องยื่นมือเข้าอุ้มยูเครนแทน