xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ยูเครนลาออกหวังแก้วิกฤต รัฐสภาก็ยอมยกเลิก กม.ต้านชุมนุม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - นายกรัฐมนตรี มืย์โคลา อาซารอฟ ของยูเครน ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งในวันอังคาร (28 ม.ค.) ในความพยายามที่จะช่วยคลี่คลายวิกฤตทางการเมืองร้ายแรงในประเทศ ถึงแม้คาดเดากันว่าสาเหตุที่แท้จริงอาจเป็นเพราะน้อยใจที่ประธานาธิบดีหยิบยื่นตำแหน่งของตนให้ผู้นำฝ่ายค้าน ขณะเดียวกัน รัฐสภาก็เปิดประชุมฉุกเฉินและลงมติยกเลิกกฎหมายปราบปรามการชุมนุมประท้วง ซึ่งสร้างความเดือดดาลให้แก่ฝ่ายค้าน

อาซารอฟแถลงว่า ได้ “ตัดสินใจเป็นการส่วนตัว” และยื่นหนังสือขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อประธานาธิบดีวิกตอร์ ยานูโควิชแล้ว โดยหวังว่าวิธีการนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสในการประนีประนอมทางการเมืองและสังคมเพื่อยุติวิกฤตความขัดแย้ง

ทว่า หลายฝ่ายมองว่าอาซารอฟไม่พอใจที่ตัวเองถูกดูหมิ่นอย่างเปิดเผย จากการที่ยานูโควิชเสนอตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้แก่อาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค อดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจและผู้นำฝ่ายค้านในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อพยายามยุติการประท้วงที่ขยายวงกว้างขึ้นทุกที

ฝ่ายค้านนั้นเรียกร้องมาตั้งแต่ต้นให้รัฐบาลของอาซารอฟลาออก กระนั้นทั้งยัตเซนยุคและวิตาลี คลิตช์โก อดีตแชมป์มวยโลกและผู้นำฝ่ายค้านอีกคนที่ได้รับข้อเสนอเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี ต่างปฏิเสธเทียบเชิญของยานูโควิชอย่างเป็นทางการเมื่อคืนวันจันทร์ (27) เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นกับดักเพื่อสร้างภาพการประนีประนอม ดังนั้น คำถามต่อไปคือ ผู้นำยูเครนจะยอมรับการลาออกของอาซารอฟหรือไม่
นายกรัฐมนตรี มืย์โคลา อาซารอฟ ของยูเครน ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งในวันอังคาร (28 ม.ค.)
อาซารอฟนั้นมีบทบาทสำคัญในการนำพาเศรษฐกิจของประเทศฝ่าฟันความยากลำบากมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ด้วยการตรึงค่าเงินกับดอลลาร์และปฏิเสธแรงกดดันของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ให้ขึ้นราคาเชื้อเพลิงในประเทศ

เขายังสนับสนุนการตัดสินใจยกเลิกการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (อียู) ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว อันเป็นสาเหตุให้ประชาชนเริ่มต้นการประท้วงและบานปลายมาจนถึงขณะนี้ นอกจากนั้น อาซารอฟยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญที่ยืนกรานต่อรัฐสภาว่า ยูเครนจำเป็นต้องกระชับสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับรัสเซีย ท่ามกลางการอภิปรายคัดค้านอย่างดุเดือดจากฝ่ายค้าน

ในวันอังคารเช่นกัน รัฐสภายูเครนได้เปิดประชุมวิสามัญ และลงมติด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ยกเลิกกฎหมายต่อต้านการชุมนุมประท้วง ซึ่งพรรครัฐบาลเป็นผู้ผลักดันให้ผ่านออกมาบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 มกราคม

การเลิกกฎหมายฉบับนี้ ถือเป็นการยอมอ่อนข้ออย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนครั้งแรกของประธานาธิบดียานูโควิช ตั้งแต่ที่วิกฤตคราวนี้ปะทุขึ้นเมื่อ 2 เดือนก่อน แลละทำให้พวกผู้ชุมนุมประท้วงจำนวนหลายพันที่บริเวณ “จัตุรัสเอกราช” ใจกลางกรุงเคียฟ พากันไชโยโห่ร้องด้วยความยินดี

แต่กระนั้นพวกผู้นำฝ่ายค้านก็ระบุว่า พวกเขายังจะเดินหน้าดำเนินการต่อสู้ตามท้องถนนต่อไป เพื่อกดดันให้ยานูโควิชยินยอมอ่อนข้อมากขึ้นกว่านี้

“เราจะต้องทำการเปลี่ยนแปลง ไม่เพียงเฉพาะเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเท่านั้น แต่ต้องเปลี่ยนแปลงระเบียบกฎเกณฑ์ของเกมอีกด้วย” คลิตช์โก อดีตแชมป์โลกมวยรุ่นเฮฟวีเวตที่ผันตัวเองมาเป็นหนึ่งในผู้นำฝ่ายค้าน ประกาศ “เรามั่นใจว่าการต่อสู้จะดำเนินต่อไป”

การประชุมฉุกเฉินของรัฐสภาคราวนี้เปิดขึ้น โดยที่รัฐมนตรีหลายรายซึ่งภักดีต่อยานูโควิชพูดดักหน้าเอาไว้ว่า พวกเขาจะกดดันให้มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน ถ้าหากพวกผู้นำฝ่ายค้านไม่ยอมรั้งบังเหียนกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง และยุติการเข้ายึดครองอาคารของเทศบาลท้องถิ่นและของรัฐบาลตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ

แต่แล้วพวกผู้ภักดีต่อยานูโควิชเหล่านี้ ก็กลับพลิกผันท่าที ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าเนื่องจากแรงกดดันของประธานาธิบดีและพวกผู้ช่วยของเขา และกลับมาลงคะแนนให้ยกเลิกกฎหมายต่อต้านการชุมนุมประท้วง

ก่อนหน้านี้ รายงานข่าวที่ว่า รัฐบาลยูเครนอาจมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้เร่งเร้าให้แคทเธอลีน แอชตัน ประธานฝ่ายนโยบายการต่างประเทศของอียู ร่นกำหนดการเยือนกรุงเคียฟให้เร็วขึ้นโดยจะเดินทางถึงในวันอังคารเพื่อช่วยหาทางยุติความขัดแย้ง

ขณะเดียวกัน รองประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ เรียกร้องเมื่อวันจันทร์ให้ยานูโควิชห้ามปรามรัฐบาลไม่ให้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และร่วมกับฝ่ายค้านหาทางยุติความรุนแรงอย่างสันติ ไบเดนยังประณามการใช้ความรุนแรงของทุกฝ่าย

ตรงข้ามกับรัสเซีย เซียร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศ ที่ประณาม “ยุวชนฟาสซิสม์” หรือกลุ่มผู้ประท้วงหัวรุนแรงของยูเครน พร้อมเตือนไม่ให้ประเทศต่างๆ เข้าแทรกแซงกิจการของยูเครน
กำลังโหลดความคิดเห็น