xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่ายค้านยูเครนได้ใจรุกไล่ ปธน.ต่อ อดีตผู้นำชี้สถานการณ์ใกล้ ‘สงครามกลางเมือง’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - ฝ่ายค้านยูเครนรุกฆาตต่อ กดดันประธานาธิบดี วิกตอร์ ยานูโควิช ลาออกตามนายกฯ และ ครม.พร้อมนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมประท้วงโดยไม่มีเงื่อนไข ขณะที่อดีตประธานาธิบดีเตือน ประเทศกำลังอยู่บนขอบเหวสงครามกลางเมือง

ในวันพุธ (29 ม.ค.) หรือหนึ่งวันหลังจากที่รัฐสภายูเครนลงมติยกเลิกกฎหมายห้ามการประท้วงทั้งที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา บรรดาสมาชิกของสภาแห่งนี้ก็เปิดประชุมฉุกเฉินต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 โดยมุ่งพิจารณาเรื่องการนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมประท้วง

ลีโอนิด คราฟชุค ประธานาธิบดีคนแรกนับจากยูเครนได้รับเอกราชและขึ้นบริหารประเทศระหว่างปี 1991-1994 แถลงต่อรัฐสภาว่า ทั่วโลกและยูเครนเองต่างรับรู้ว่า ประเทศกำลังอยู่บนขอบเหวของสงครามกลางเมือง

“ขณะนี้ได้เกิดรัฐบาลคู่ขนานและการปฏิวัติโดยพฤตินัยขึ้น” คราฟชุคพาดพิงถึงผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ขับไล่เจ้าหน้าที่และเข้ายึดอาคารสถานที่ราชการหลายแห่งทั่วประเทศ

“นี่คือการปฏิวัติ และเป็นสถานการณ์รุนแรงที่ต้องดำเนินการด้วยความรับผิดชอบสูงสุด เราต้องลดบรรยากาศการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายต่างๆ และตกลงแผนการเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง โดยต้องดำเนินการทีละขั้นตอน” อดีตประธานาธิบดีแถลงต่อสมาชิกรัฐสภา

ตลอดช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คราฟชุคได้เข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมเพื่อคลี่คลายวิกฤต นอกจากนั้น ในการประชุมรัฐสภาฉุกเฉินคราวนี้ยังมีอดีตประธานาธิบดีอีก 2 คนเข้าร่วมด้วย ได้แก่ ลีโอนิด คุชมา (ครองอำนาจระหว่างปี 1994-2005) และวิกเตอร์ ยุชเชนโก (2005-2010) ตอกย้ำความสำคัญของการอภิปรายนัดนี้ที่มีประเด็นหลักคือ การนิรโทษกรรมผู้ประท้วง

คณะรัฐบาลของยานูโควิชนั้น เสนอนิรโทษกรรมผู้ประท้วงทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมที่ไม่รุนแรง โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ประท้วงจะต้องออกจากอาคารและถนนทุกสายที่ยึดครองอยู่ในกรุงเคียฟ

ทว่า ฝ่ายค้านยืนกรานว่า รัฐบาลต้องนิรโทษกรรมโดยไม่มีเงื่อนไข และเดินหน้าเรียกร้องให้ยานูโควิชลาออก ตามหลังนายกรัฐมนตรีมืย์โคลา อาซารอฟ และคณะรัฐมนตรี โดยที่การออกจากตำแหน่งของอาซารอฟและรัฐบาลของเขา ถือเป็นการอ่อนข้อครั้งใหญ่ที่สุดของฝ่ายยานูโควิช นับตั้งแต่ที่ประชาชนเริ่มออกมาประท้วงเมื่อสองเดือนที่แล้ว เนื่องจากไม่พอใจที่รัฐบาลยกเลิกการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (อียู) ภายใต้การกดดันจากรัสเซีย และต่อมาก็พัฒนาเป็นการต่อสู้มุ่งโค่นล้มยานูโควิช

อาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค หัวหน้าพรรคฟาเธอร์แลนด์และ 1 ในผู้นำฝ่ายค้านประกาศว่า การลาออกของอาซารอฟเมื่อวันอังคาร (28) แม้ถือเป็นก้าวย่างสำคัญ แต่ก็เกิดขึ้นสายเกินไปเสียแล้ว ดังนั้นจึงยังไม่เพียงพอ

ขณะที่ วิตาลี คลิตช์โก อดีตแชมป์มวยโลกรุ่นเฮฟวีเวตและหัวหน้าพรรคยูดาร์ขานรับว่า อาซารอฟควรลาออกไปตั้งแต่เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว และขั้นตอนที่เหมาะสมต่อจากนี้ไปคือ การลาออกของยานูโควิช

ทางด้าน ยูเลีย ทิโมเชนโก อดีตนายกรัฐมนตรีที่เวลานี้ถูกจำคุก ซึ่งฝ่ายค้านมองว่า เป็นการแก้แค้นทางการเมืองโดยยานูโควิช ได้ออกคำแถลงกล่าวว่า การยอมจำนนของรัฐบาลเป็นผลลัพธ์อันดับแรกจากการต่อสู้ของประชาชน

“แต่เท่านี้ยังไม่พอ เราต้องต่อสู้ต่อไป!” เธอระบุในคำแถลง
ศิลปินคนหนึ่งวาดภาพฉากเหตุการณ์ในเมืองหลวงของยูเครน ขณะที่ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลรวมตัวกันปิดถนน (ด้านหลังทางซ้าย) คนละฟากกับแถวของตำรวจปราบจลาจล ที่บริเวณใจกลางกรุงเคียฟเมื่อวันพุธ (29)
สื่อยูเครนยังรายงานว่า สมาชิกพรรครีเจียนส์ ปาร์ตี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล เผยว่า รัฐสภายังอาจจะอภิปรายญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อลดทอนอำนาจของประธานาธิบดี และหวนกลับไปใช้ระบบที่ให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีตามเดิม

อินนา โบกอสลอฟสกา อดีต ส.ส.พรรครีเจียนส์ที่แปรพักตร์มาอยู่กับผู้ประท้วง สำทับว่า ฝ่ายรัฐบาลนั้นไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องการประกาศภาวะฉุกเฉิน เนื่องจากถูกขัดขวางจากมหาเศรษฐีที่สนับสนุนรัฐบาลคือ ไรนาต แอ็กเมตอฟ และเซียร์เกย์ ติกิปโก

ทางด้านนานาชาติ เมื่อวันอังคาร ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ได้กล่าวสนับสนุนการประท้วงอย่างสันติในยูเครนระหว่างการแถลงนโยบายประจำปีของเขา ส่วนรองประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้โทรศัพท์คุยกับยานูโควิช แสดงความยินดีต่อความคืบหน้าที่เกิดขึ้น พร้อมสนับสนุนให้ผู้นำยูเครนร่วมกับฝ่ายค้านเพื่อหาทางแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติต่อไป

วันเดียวกันนั้น บรรยากาศการประชุมสุดยอดอียู-รัสเซีย ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงบรัสเซลส์ ถูกครอบงำด้วยสถานการณ์ในยูเครน โดยประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน เตือนเจ้าภาพให้ยุติการแทรกแซงยูเครน

อย่างไรก็ดี แคทเธอลีน แอชตัน ประธานฝ่ายนโยบายการต่างประเทศอียู ที่เดินทางถึงเคียฟตั้งแต่วันอังคาร ยังคงเดินหน้าหารือกับฝ่ายต่างๆ เพื่อหาทางยุติความขัดแย้งโดยไม่ฟังเสียงวิพากษ์จากผู้นำเครมลิน

นอกจากนั้น ในวันพุธ แอนเดอร์ส ฟ็อกห์ ราสมูสเซน เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ยังวิจารณ์มอสโกที่กดดันกระทั่งเคียฟยกเลิกทำสัญญาการค้ากับอียูอันนำไปสู่การประท้วงรุนแรงจนถึงขณะนี้

ราสมูสเซนยังประณามการใช้ความรุนแรงของตำรวจยูเครนต่อผู้ประท้วง และเรียกร้องให้ผู้นำยูเครนปฏิเสธแรงกดดันและหันมากระชับสัมพันธ์กับนาโตและอียู

เช่นเดียวกัน แคนาดาประกาศเมื่อวันอังคารว่า จะไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ยูเครนที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามผู้ชุมนุมเข้าประเทศ

สถานการณ์การเมืองยูเครนยังส่งผลต่อเศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเหตุผลที่สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส อธิบายในการประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ของยูเครนลง 1 ขั้น จาก B- มาอยู่ที่ CCC+
กำลังโหลดความคิดเห็น