เอเอฟพี - รัฐบาลยูเครนประกาศลาออกวานนี้ (28 ม.ค.) และรัฐสภาได้ยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายห้ามชุมนุมประท้วง ซึ่งนับเป็นท่าทีประนีประนอมตามข้อเรียกร้องหลักของฝ่ายค้าน ในเวลาที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียออกมาเตือนไม่ให้นานาชาติเข้าแทรกแซงสถานการณ์การเมืองของชาติที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตแห่งนี้
หลังยอมจำนนต่อแรงกดดัน และการประท้วงของฝ่ายค้านที่แผ่ขยายลุกลามไปนอกกรุงเคียฟ นายกรัฐมนตรี มืยโคลา อซารอฟ แห่งยูเครนก็แถลงว่าเขาจะลาออกเพื่อธำรงเอกภาพของประเทศเอาไว้
ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี เซียร์เกย์ อาร์บูซอฟ สหายผู้ภักดีของประธานาธิบดีวิกตอร์ ยานูโควิช จะเข้ามาดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี ขณะที่รัฐมนตรีคนอื่นๆ จะยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีการประกาศคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าใครจะก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน อซารอฟ แม้ว่านักวิเคราะห์บางคนชี้ว่า เปโตร โปโรเชนโค นักธุรกิจใหญ่ที่สนับสนุนฝ่ายค้านอาจก้าวขึ้นมารับตำแหน่งนี้
ทางด้าน วิทาลี คลิตช์โค หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านที่มีดีกรีเป็นถึงนักมวยแชมป์โลกกล่าวว่า การที่อซารอฟและรัฐบาลประกาศลาออกจากตำแหน่งยัง “ไม่ถือเป็นชัยชนะ แต่เป็นบันไดก้าวไปสู่ชัยชนะ”
นอกจากนี้ รัฐสภายูเครนวานนี้ (28) ได้ลงมติท่วมท้นให้ยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายห้ามชุมนุมประท้วงที่หลังจากผ่านความเห็นชอบเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนก็กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหู ทั้งยังเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จุดชนวนให้วิกฤตการณ์ปะทุขึ้นรอบสอง
ทั้งนี้ การชุมนุมของชาวยูเครนเรือนแสนในช่วงกว่า 2 เดือนที่ผ่านมานั้นเกิดขึ้นจากความไม่พอใจที่ ยานูโควิช ล้มเลิกแผนเจรจาความร่วมมือด้านการค้าและการเมืองกับสหภาพยุโรป จนในที่สุดก็ยกระดับจนเป็นการชุมนุมขับไล่รัฐบาล แล้วแผ่ขยายลุกลามเข้าไปยังภาคตะวันออกของประเทศ ซึ่งเป็นฐานเสียงของประธานาธิบดียานูโควิช และประชากรส่วนใหญ่สื่อสารด้วยภาษารัสเซีย
ในการเข้าร่วมประชุมซัมมิตระหว่างสหภาพยุโรปกับรัสเซียที่กรุงบรัสเซลส์ 2 เดือนหลังจากที่ทั้งสองฝ่ายเกิดขัดแย้งกันในประเด็นยูเครน ซึ่งเป็นชนวนเหตุของวิกฤตการณ์การเมืองครั้งนี้ ปูตินได้เตือนบรรดาชาติเจ้าภาพไม่ให้เข้าก้าวก่ายปัญหาในประเทศนี้
“ยิ่งมีคนกลางมากเท่าไร ปัญหาก็มากขึ้นเท่านั้น” เขากล่าว กระทั่งในเวลาที่สหภาพยุโรปส่ง แคทเธอรีน แอชตัน ประธานฝ่ายนโยบายการต่างประเทศของอียูไปที่กรุงเคียฟ ซึ่งเป็นการร่นกำหนดการให้เธอเดินทางมาถึงเร็วขึ้นหลายวัน
นอกจากนี้ ผู้นำแดนหมีขาวยังได้เน้นย้ำว่ารัสเซีย “จะไม่” คิดทบทวนเรื่องโครงการซื้อพันธบัตรยูเครนมูลค่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 4.9 แสนล้านบาท) ไม่ว่าฝ่ายไหนจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล ถือเป็นข่าวที่สร้างความโล่งใจให้ยูเครน ประเทศที่กำลังประสบปัญหาด้านการเงินอย่างหนัก
ปูตินย้ำว่า “รัสเซียก็จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว”
ทางด้านรองประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ วานนี้ (28) ได้พูดคุยกับยานูโควิชเป็นครั้งที่สองในรอบหลายวันที่ผ่านมา และได้แสดงความยินดีที่ยูเครนสามารถสร้าง “ความก้าวหน้าในวันนี้ (28)” ด้วยการสนองตอบข้อเรียกร้องบางประการของฝ่ายค้าน
ในเวลาต่อมาวานนี้ (28) ประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐฯ ได้กล่าวเรียกร้องให้มีการรับฟังความคิดเห็นของบรรดาผู้ประท้วงที่สนับสนุนประชาธิปไตย ในการแถลงนโยบายประจำปีโดยระบุว่า “ที่ยูเครน เรายึดมั่นในหลักการที่ว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิในการแสดงออกอย่างเสรีและอย่างสันติ ตลอดจนมีส่วนในการกำหนดอนาคตของประเทศ”