xs
xsm
sm
md
lg

มะกันเร่งหาวิธี “ลงโทษ” ไทยระยะยาว - นักวิเคราะห์เตือนระวังกองทัพไทยหันพัฒนาสัมพันธ์ “จีน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ภายหลังกองทัพไทยเข้าควบคุมอำนาจการปกครอง สหรัฐฯ กำลังเร่งมองหามาตรการลงโทษซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อพันธมิตรชาติเอเชียที่เก่าแก่ที่สุดอย่างไทยได้ยาวนาน กว่าการตัดผลประโยชน์ระยะสั้นทั่วๆ ไป

เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังกองทัพไทยยึดอำนาจปกครองประเทศเมื่อวันพฤหัสบดี (20 พ.ค.) จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ออกมาประณามการรัฐประหารว่า “ไร้ความเป็นธรรม” พร้อมทั้งเรียกร้องให้ไทยกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย และคืนเสรีภาพให้แก่สื่อมวลชนโดยเร็ว

สหรัฐฯ ได้ระงับการส่งความช่วยเหลือด้านกลาโหมมูลค่า 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 113 ล้านบาท) หรือประมาณ 1 ใน 3 ของความช่วยเหลือทั้งหมดที่ไทยได้รับ ตลอดจนประกาศยกเลิกปฏิบัติการทางทหารร่วมกับราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรที่สำคัญยิ่งของสหรัฐฯ มานานหลายทศวรรษ และเคยร่วมรบในสงครามเวียดนาม

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังยกเลิกแผนส่งเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสมายังไทย ตลอดจนโครงการฝึกอบรมการใช้อาวุธปืนให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่รัฐบาลอเมริกันเป็นผู้สนับสนุน ซึ่งมีกำหนดจะเริ่มต้นขึ้นในวันพรุ่งนี้ (26)

สหรัฐฯ ได้ออกมาย้ำเตือนซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้กองทัพไทยอยู่ห่างจากการเมือง แต่ผู้สันทัดกรณีบางส่วนกล่าวว่า กองทัพพิจารณาว่ากิจการภายในประเทศเป็นสิ่งที่อยู่เหนือความคิดเห็นของนานาชาติ

เออร์นี โบเวอร์ ประธานศูนย์การศึกษาด้านยุทธศาสตร์และนานาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า “ถ้าพูดกันตรงๆ แล้ว ผมคิดว่าเราไม่สามาถทำอะไรได้มากนัก วิกฤตการเมืองในรอบศตวรรษกำลังมุ่งประเด็นไปที่ใครจะสามารถบอกได้ว่าในอีกหลายๆ ปีข้างหน้าใครจะเป็นผู้ครองอำนาจ”

“อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแล้วผมคิดว่าคนไทยจะจำได้ว่าจุดยืนของเราคืออะไร และเรายืนหยัดเพื่อสิ่งไหน แม้ว่าเราจะไม่สามารถกำหนดกะเกณฑ์อะไรได้มากนัก”

บรรดานักวิเคราะห์ได้ออกมากล่าวเตือนวอชิงตันว่า ตอนนี้มีความเสี่ยงที่กองทัพไทยจะหันไปพัฒนาความสัมพันธ์กับจีน

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ได้ให้ความสำคัญอย่างมากต่อนโยบาย “ปักหมุด” ในเอเชีย ซึ่งเป็นการสร้างพันธมิตร ขณะที่หลายชาติกำลังวิตกกังวลกับพฤติการณ์รุนแรงของจีน

ไทย ซึ่งก่อนหน้านี้พยายามผูกมิตรกับเหล่าชาติมหาอำนาจ ได้พัฒนาสายสัมพันธ์กับจีนจนล้ำหน้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน จีนไม่ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การที่กองทัพไทยเข้าควบคุมอำนาจ ทั้งยังเป็นชาติแรกที่ยอมรับการทำรัฐประหารเมื่อปี 2006 ส่งผลให้สายสัมพันธ์ด้านกลาโหมของทั้งสองชาติแน่นแฟ้นกันยิ่งขึ้น

สหรัฐฯ มีบาดแผลที่ฝังลึกมานานนับตั้งแต่ยุคสงครามเย็น เนื่องจากชาตินี้เคยสนับสนุนระบอบปกครองเผด็จการในหลายประเทศ เช่น อาร์เจนตินา ชิลี กรีซ อิหร่าน และชาติในภูมิภาคละตินอเมริกาอีกหลายชาติ

อย่างไรก็ตาม วอชิงตันไม่ได้เปลี่ยนมาอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับระบอบเผด็จการอย่างเสมอต้นเสมอปลาย

เมื่อปีที่แล้ว สหรัฐฯ ใช้วิธีเลี่ยงบาลีไม่เรียกการที่กองทัพอียิปต์ยึดอำนาจการปกครองว่า “การทำรัฐประหาร” ซึ่งเป็นคำเรียกที่ ตามกฎหมายภายในประเทศ สหรัฐฯ ต้องระงับการส่งความช่วยเหลือแก่แดนไอยคุปต์

นับตั้งแต่ปีที่แล้ว เคร์รีชี้ว่า รัฐบาลอียิปต์กำลัง “คืนระบอบประชาธิปไตย” ให้แก่ประเทศ ด้วยการขับไล่ ประธานาธิบดี โมฮาเหม็ด มอร์ซี ผู้นำอิสลามิสต์ที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และเผชิญกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขณะดำรงตำแหน่ง

สหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะเปรียบเทียบกรณีการทำรัฐประหารในไทยกับเหตุการณ์ในอียิปต์ โดยระบุเพียงว่า วอชิงตันพิจารณาว่าสถานการณ์ใน 2 ประเทศแตกต่างกัน

โจชัว คูลันท์ซิก เจ้าหน้าที่อาวุโสของสภาว่าด้วยความสัมพันธ์ต่างประเทศ (ซีเอฟอาร์) ซึ่งเป็นองค์การไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่ชำนาญการด้านนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าวว่า สำหรับกรณีของไทย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศรัฐประหารอย่างเปิดเผย จึงไม่ค่อยมีช่องว่างให้เขาหลบเลี่ยงมากนัก แต่ดูเหมือนถ้อยแถลงของเคร์รีจะค่อนข้างรุนแรงเกินไปจริงๆ

กำลังโหลดความคิดเห็น