เอเอฟพี/รอยเตอร์ - สหรัฐฯเตือนเมื่อวันพฤหัสบดี (22) กำลังพิจารณาทบทวนความร่วมมือกับพันธมิตรอย่างไทย ตามหลังรัฐประหารที่ทางรัฐมนตรีต่างประเทศ ประณามว่าไม่สามารถหาเหตุผลใดมาอ้างได้ แต่ขณะเดียวกันก็ถูกสื่อชื่อดังตั้งข้อสังเกตถึงสองมาตรฐาน ชี้ทำไมถึงมีท่าทีแตกต่างจากกรณีอียิปต์ ส่วนสหภาพยุโรป และบันคีมูน เลขาธิการยูเอ็น เรียกร้องไทยกลับคืนสู่กระบวนการประชาธิปไตยโดยเร็ว
นายจอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศเรียกร้องให้ไทยคืนสู่การปกครองโดยรัฐบาลพลเรือน รวมถึงเคารพต่อสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน และขอให้มีการเลือกตั้งที่สะท้อนถึงเจตจำนงของประชาชน “ผมรู้สึกผิดหวังที่กองทัพไทยตัดสินใจระงับใช้รัฐธรรมนูญและเข้าควบคุมรัฐบาล หลังจากความยุ่งเหยิงทางการเมืองที่ยาวนาน ไม่มีเหตุผลใดที่สามารถอ้างความชอบธรรมการก่อรัฐประหารครั้งนี้ได้”
เขากล่าวต่อว่า “ขณะที่เราให้ความสำคัญยิ่งในมิตรภาพที่ยาวนานของเรากับประชาชนคนไทย การกระทำนี้จะก่อความหมายในทางลบแก่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและไทย โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับกองทัพไทย”
นอกจากนี้ นายเคร์รี ยังเรียกร้องกองทัพไทยปล่อยตัวแกนนำทางการเมืองทุกฝ่ายและแสดงความกังวลต่อการปิดกั้นสื่อ “ผมขอเรียกร้องให้คืนสู่รัฐบาลพลเรือนในทันที คืนสู่ประชาธิปไตย เคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะเสรีภาพของสื่อมวลชน และเส้นทางแห่งการก้าวเดินไปข้างหน้าของไทยควรรวมไปถึงการเลือกตั้งโดยเร็ว ที่สะเทือนถึงเจตจำนงของประชาชน”
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯไม่ได้เจาะจงถึงมาตรการที่จะนำมาใช้กับไทย แต่ทางกระทรวงกลาโหมอเมริกา หรือเพนตากอน ระบุในถ้อยแถลงที่เผยแพร่ออกมาก่อนหน้าไม่กี่ชั่วโมง บอกว่าพวกเขากำลังพิจารณาระงับความร่วมมือกับไทยในด้านการซ้อมรบ
การฝึกผสมระหว่างกองทัพเรือไทย กับกองกำลังสหรัฐฯ ภายใต้รหัส CARAT (Co-operation Afloat Readiness And Training) ซึ่งมีนาวิกโยธินและทหารเรือสหรัฐฯเข้าร่วมราว 700 นาย เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันจันทร์ (19) และมีกำหนดเสร็จสิ้นในวันอังคารหน้า “เรากำลังทบทวนความช่วยเหลือระหว่างกองทัพกับกองทัพ ในนั้นรวมถึงการซ้อมรบ CARAT” พันเอก สตีเฟน วาร์เรน บอกกับผู้สื่อข่าว
กองทัพไทยขับไล่รัฐบาลพลเรือนและระงับใช้รัฐธรรมนูญ ในรัฐประหารที่พวกเขาอ้างว่ามีเป้าหมายยุติความยุ่งเหยิงนองเลือดทางการเมืองที่ยืดเยื้อมานานหลายเดือน
ไทยถือเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯในเอเชีย และเป็นผู้สนับสนุนสำคัญของอเมริกาในเหตุความขัดแย้งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสงครามเกาหลีและเวียดนาม ขณะที่สหรัฐฯให้ความช่วยเหลือแก่ไทย 11.4 ล้านดอลลาร์ราว (370 ล้านบาท) ต่อปี ในนั้นเป็นความช่วยเหลือทางทหาร 3.7 ล้านดอลลาร์ (ราว 120 ล้านบาท)
ภายใต้กฎหมายภายใน สหรัฐฯมีพันธะต้องระงับความช่วยเหลือแก่กองทัพต่างชาติ หากพบว่าทหารของประเทศนั้นๆก่อรัฐประหาร โดยหนล่าสุดที่วอชิงตันเคยระงับเงินช่วยเหลือแก่ไทย เกิดขึ้นหลังจากเหตุรัฐประหารโค่นอำนาจอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2006
สำนักข่าวเอเอฟพีตั้งข้อสังเกตว่า ในอียิปต์ กองทัพได้ปฏิบัติการโค่นอำนาจประธานาธิบดี โมฮาเหม็ด มอร์ซี เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมปีก่อน แต่่รัฐบาลของโอบามา ใช้เวลาถกเถียงกันอยู่หลายสัปดาห์และท้ายที่สุดก็หลีกเลี่ยงจะตัดสินว่ามันเป็นรัฐประหารหรือไม่ โดยอ้างว่าไม่มีแผนชี้ขาดคำถามนี้ แต่ในกรณีของไทย รัฐบาลอเมริกา กลับแสดงท่าทีตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว และส่งสัญญาณบ่งชี้ถึงแนวทางของพวกเขา ผ่านความเห็นของนายเคร์รี ที่เรียกเหตุการณ์ในไทยว่า “รัฐประหาร”
ท่าทีของสหรัฐฯ ได้รับการตอบสนองจากพันธมิตรอย่างฉับพลัน โดยสหภาพยุโรปในวันพฤหัสบดี (22) ออกถ้อยแถลงเรียกร้องไทยคืนสู่กระบวนการประชาธิปไตยโดยเร็ว หลังจากทหารยึดอำนาจ “เรากำลังติดตามสถานการณ์ในไทยด้วยความกังวลอย่างยิ่ง” ฝ่ายนโยบายการต่างประเทศของสหภาพยุโรป ระบุในถ้อยแถลง “สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการคืนสู่กระบวนการประชาธิปไตยอย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยเร็ว”
ก่อนหน้านี้ สำนักงานสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ แสดงความกังวลต่อการรัฐประหารในไทยเมื่อวันพฤหัสบดี (22) และบอกว่ากฎอัยการศึกและคำสั่งต่างๆ ของกองทัพ อาจละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ล่าสุดในวันเดียวกัน นายบันคีมูน เลขาธิการยูเอ็น ออกถ้อยแถลงแสดงถึงความวิตกใหญ่หลวงต่อการเข้ายึดอำนาจของกองทัพ โดยเขาร้องขอให้ไทยคืนสู่รัฐธรรมนูญ การปกครองโดยพลเรือนตามระบอบประชาธิปไตย และหวังว่าจะมีการเจรจาทุกฝ่ายอย่างครอบคลุม เพื่อจะนำไปสู่หนทางของสันติภาพและความเจริญในระยะยาวของประเทศไทย
ส่วนสิงคโปร์ หนึ่งใน 10 ชาติสมาชิกอาเซียนเช่นเดียวกับไทย ก็แสดงถึงความกังวลอย่างยิ่ง “เราหวังว่าทุกฝ่ายจะอดทนอดกลั้นแและร่วมมือกันเพื่อผลลัพธ์ในทางบวก เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุรุนแรงและการนองเลือด” โฆษกระทรวงการต่างประเทศระบุ “ไทยเป็นประเทศที่สำคัญของภูมิภาค และเป็นสมาชิกหลักของอาเซียน ความไม่แน่นอนที่ยืดเยื้อรังแต่จะฉุดไทยและภูมิภาคโดยรวมก้าวถอยหลัง ในฐานะเพื่อนผู้ใกล้ชิดของไทย เราหวังว่าสถานการณ์จะกลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว”