xs
xsm
sm
md
lg

‘สงครามปาก’ จีน-ญี่ปุ่น-US ในเวลานี้เป็น ‘เหตุปกติ’ ชี้สัมพันธ์ยังคงเดิมไร้แนวโน้ม ‘เปิดศึก’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - ผู้เชี่ยวชาญฟันธง สามมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก อเมริกา-จีน-ญี่ปุ่น ทำสงครามปาก ในเวทีประชุมความมั่นคงแห่งเอเชียสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้น แต่ไม่มีแนวโน้มชักนำให้เกิดสงคราม หรือทำให้สัมพันธภาพของสามประเทศตกต่ำไปกว่าที่เป็นอยู่ เนื่องจากต่างฝ่ายต่างตระหนักถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่โยงใยกันอย่างลึกซึ้ง

ตอนที่ อิสึโนริ โอโนเดระ รัฐมนตรีกลาโหมญี่ปุ่น เข้ามาทักทาย พลโท หวัง กว่างซ่ง รองเสนาธิการทหารกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ณ การประชุม “แชงกรี-ลา ไดอะล็อก” ที่สิงคโปร์ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฏว่าเขาประสบกับการดูแคลนแบบที่ไม่ใช่กริยาทางการทูตเอาเสียเลย

หวัง บอกว่า เขารู้สึกไม่พอใจมากต่อการที่นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น พูดเป็นนัยๆ ว่า จีนต้องรับผิดชอบสำหรับข้อพิพาทด้านอธิปไตยในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก แล้วหลังจากนั้น ชัค เฮเกล รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ก็ยังกล่าวหาว่า ปักกิ่งบ่อนทำลายเสถียรภาพในภูมิภาค

“สิ่งที่มิสเตอร์อาเบะเพิ่งพูดไปนั้น เป็นการวิพากษ์วิจารณ์แบบอำพรางไม่เปิดเผยซึ่งมุ่งเล่นงานจีนนั่นเอง” หวัง กล่าวกับ โอโนเดระ ทั้งนี้ ตามรายงานของสำนักข่าวไชน่า นิวส์ เซอร์วิส ที่เป็นสำนักข่าวกึ่งทางการของแดนมังกร “ข้อกล่าวหาเหล่านี้ไม่ถูกต้อง และขัดต่อมาตรฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”

การต่อปากต่อคำกันระหว่าง 3 ชาติเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ เวทีการอภิปรายหารือประจำปีระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐบาล เจ้าหน้าที่ทหาร และผู้เชี่ยวชาญด้านกลาโหม ที่สิงคโปร์คราวนี้ ถือเป็นครั้งที่ดุเดือดที่สุดซึ่งเคยเกิดขึ้นบนเวทีการชุมนุมทางการทูตในรอบหลายๆ ปีที่ผ่านมา และอาจบั่นทอนความพยายามในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ของมหาอำนาจกลุ่มนี้

เวที แชงกรี-ลา ไดอะล็อก ถือเป็นการประชุมหารือขนาดใหญ่ครั้งแรก นับตั้งแต่ที่ความตึงเครียดเพิ่มสูงพุ่งปริ๊ดในทะเลจีนใต้ หนึ่งในอาณาบริเวณพิพาทซึ่งยากแก่การแก้ไขคลี่คลายที่สุดของเอเชีย และก็เป็นจุดที่อาจปะทุกลายเป็นความขัดแย้งต่อสู้กันได้ง่ายดายที่สุดด้วย

สัญญาณประการหนึ่งซึ่งบ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่าจีนกับญี่ปุ่นนั้นมีความหมางเมินกันขนาดไหน ได้แก่ การที่ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้มีการหารือระดับทวิภาคีและพหุภาคีซึ่งจีนกับญี่ปุ่นมีผู้แทนเข้าร่วมถึงราวๆ 100 ครั้ง แต่ปรากฏว่าไม่มีเลยสักครั้งที่พวกเจ้าหน้าที่จีนและญี่ปุ่นจับเข่าคุยกัน

หวัง ปฏิเสธไม่ยอมรับข้อเสนอขอพูดคุยด้วยจากฝ่ายญี่ปุ่น โดยเขาบอกว่า “การพูดจาจะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายญี่ปุ่นยินดีหรือไม่ที่จะแก้ไขนโยบายที่ผิดพลาดต่อจีนและปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ญี่ปุ่นนั้นควรแก้ไขข้อผิดพลาดของตนโดยเร็วที่สุดที่จะเป็นไปได้เพื่อปรับปรุงสายสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่น"

ในเวลาต่อมา หวัง ยังได้กล่าวหาสหรัฐฯว่า วางตัวเป็นเจ้า, แสดงการคุกคาม และดำเนินการข่มขู่

พญามังกรนั้นอ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ที่อุดมด้วยก๊าซและน้ำมันเกือบทั้งหมด และปฏิเสธการอ้างสิทธิ์ของไต้หวัน บรูไน เวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ นอกจากนี้จีนยังแย่งชิงสิทธิ์เหนือหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออกกับญี่ปุ่น

เดือนที่แล้วเกิดจลาจลในเวียดนามหลังจีนเคลื่อนย้ายแท่นขุดเจาะน้ำมันไปยังน่านน้ำที่ฮานอยอ้างสิทธิ์ ในเวลาใกล้เคียงกัน มะนิลากล่าวหาว่า ปักกิ่งกำลังสร้างสนามบินบนเกาะที่มีกรณีพิพาทกับตน

สถานการณ์ในทะเลจีนตะวันออกระอุไม่แพ้กัน สัปดาห์ที่แล้วกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นระบุว่า เครื่องบินขับไล่จีนแบบ SU-27 ของจีนหลายลำ เข้าประชิดเครื่องบินตรวจการณ์ OP-3C ของญี่ปุ่นในระยะเพียง 50 เมตร ณ บริเวณใกล้กับหมู่เกาะที่พิพาทกัน แล้วยังเข้าใกล้ในระยะห่างไม่ถึง 30 เมตรจากเครื่องบินสอดแนมทางอิเล็กทรอนิกส์ YS-11EB ของแดนอาทิตย์อุทัย

ในวันอาทิตย์ (1 มิ.ย.) หวังได้เพิ่มระดับการปะทะคารม

“มิสเตอร์อาเบะ ในฐานะที่เป็นประมุขรัฐบาลของประเทศหนึ่ง และเป็นผู้ซึ่งทางผู้จัดเชื้อเชิญให้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์สำคัญ ดังนั้น จึงได้รับการคาดหมายว่าจะยึดมั่นอยู่กับวัตถุประสงค์ของงานนี้ ซึ่งก็คือการส่งเสริมความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก” เขากล่าว “อย่างไรก็ดี มิสเตอร์อาเบะกลับทำสิ่งซึ่งขัดกับวัตถุประสงค์ของงาน ด้วยการกระตุ้นยุแหย่ให้เกิดการพิพาทกัน”
ซัค เฮเกล รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ(ซ้าย) จับมือกับ พลโท หวัง กว่างซ่ง(ขวา) รองเสนาธิการทหารกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ณ การประชุม “แชงกรี-ลา ไดอะล็อก” ที่สิงคโปร์ ขณะที ผู้เชี่ยวชาญฟันธง สามมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก อเมริกา-จีน-ญี่ปุ่น ทำสงครามปาก ในเวทีประชุมความมั่นคงแห่งเอเชียสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้น แต่ไม่มีแนวโน้มชักนำให้เกิดสงคราม
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการปะทะฝีปากเผ็ดร้อน พวกนักวิเคราะห์ไม่เชื่อว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสามประเทศนี้ได้เลวร้ายลงจนเกินกว่าจะหันมาพูดจากันได้อีกแล้ว

คีชอร์ มาห์บูบานี คณบดีคณะนโยบายสาธารณะลีกวนยู มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ชี้ว่า ในอดีตที่ผ่านมา มีความรู้สึกกันอยู่ว่าเอเชียกำลังมุ่งหน้าไปสู่ภาวะเสถียรภาพ แต่ในปัจจุบันผู้คนบังเกิดความวิตกกังวล กระนั้นเมื่อมองกันในภาพรวม สิ่งต่างๆ กำลังเดินหน้าไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดสงครามขึ้นมา ถึงแม้มีความรู้สึกไม่สบายใจกันในระดับหนึ่ง ซึ่งความไม่สบายใจเช่นนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่

ญี่ปุ่นออกโรง

ปักกิ่งนั้นมีความรู้สึกโกรธเกรี้ยวเป็นพิเศษต่อการที่โตเกียวกำลังพยายามเกี้ยวพาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในการกล่าวสุนทรพจน์สำคัญบนเวทีแชงกรี-ลา ไดอะล็อก อาเบะได้แจกแจงแผนการของเขาที่จะให้ญี่ปุ่นแสดงบทบาททางด้านความมั่นคงระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก และยังบอกว่าโตเกียวจะเสนอ “ให้ความสนับสนุนอย่างสูงสุด” ต่อพวกประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในความพยายามของประเทศเหล่านี้ที่จะพิทักษ์ปกป้องน่านน้ำและน่านฟ้าของตนเอง แผนการเช่นนี้ก็คือส่วนหนึ่งของระเบียบวาระแบบนักชาตินิยมของอาเบะที่จะผ่อนคลายความเข้มงวดของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นฉบับปัจจุบันซึ่งมุ่งสร้างหลักประกันให้แดนอาทิตย์อุทัยต้องยึดมั่นในการใฝ่สันติภาพอย่างเหนียวแน่น ตลอดจนทำให้นโยบายการต่างประเทศของญี่ปุ่นมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น

ฟิลิป แฮมมอนด์ รัฐมนตรีกลาโหมอังกฤษ แสดงความเห็นว่า แม้ระเบียบวาระของอาเบะจะเป็นที่รับรู้กันทั่วไป แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ผู้นำญี่ปุ่นประกาศชัดเจนต่อสาธารณชน

ขณะเดียวกัน การที่ญี่ปุ่นกำลังมีความใกล้ชิดเพิ่มมากขึ้นกับสหรัฐฯ ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ปักกิ่งรู้สึกวิตกเช่นกัน

“สิ่งที่ทำให้พวกเขา (ฝ่ายจีน) รู้สึกวิตกมากๆ ก็คือ การที่ญี่ปุ่นกับสหรัฐฯกำลังแสดงตนเป็นพันธมิตรกันอย่างแข็งแกร่งยิ่ง และดูเหมือนกำลังเคลื่อนเข้าใกล้ชิดกันมากขึ้น นี่เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากเวทีประชุมในปีนี้” ทิม ฮักซ์ลีย์ ผู้อำนวยการบริหารของสถาบันยุทธศาสตร์ศึกษาระหว่างประเทศ (อินเตอร์เนชันแนล อินสติติวท์ ออฟ สเตรทเทจิก สตัดดีส์) ในเอเชีย ซึ่งเป็นผู้จัดการประชุมคราวนี้ ระบุ

“ไม่ว่าจะเป็นการเข้าใจถูกหรือการเข้าใจผิดก็ตามที แต่ฝ่ายจีนจะมองเรื่องนี้ว่าเป็นภัยคุกคามต่อพวกเขา เพราะมันหมายความว่าพวกเขากำลังจะเผชิญกับพันธมิตรที่มีความกลมเกลียวสอดคล้องกันมากยิ่งขึ้นนั่นเอง”

กระนั้นก็ตามที การทะเลาะขัดแย้งกันเช่นนี้ ยังไม่น่าที่จะก่อให้เกิดผลกระทบบานปลายใหญ่โต เนื่องจากทั้ง 3 ประเทศมีสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและทางธุรกิจอันเหนียวแน่นลึกซึ้ง โดยที่ไม่มีฝ่ายใดปรารถนาจะให้สายสัมพันธ์เช่นนี้ต้องสะดุดติดขัด

“เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ความสัมพันธ์ยังไม่ได้อยู่ในจุดที่จะเกิดการแตกหักกัน” บอนนี เกลเซอร์ แห่ง ศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (เซนเตอร์ ฟอร์ สเตรทเทจิก แอนด์ อินเตอร์เนชันแนล สตัดดีส์) ในวอชิงตัน ซึ่งเป็นแขกประจำของแชงกรี-ลา ไดอะล็อก กล่าว

“พวกผู้นำต่างตระหนักดีว่าประเทศของพวกเขามีส่วนได้ส่วนเสียอันมหึมาอยู่ในความสัมพันธ์นี้ และพวกเขาก็มีความมุ่งมั่นผูกพันที่จะพยายามมองหาอาณาบริเวณซึ่งผลประโยชน์ของพวกเขาทับซ้อนกันอยู่ เป็นอาณาบริเวณซึ่งพวกเขาสามารถที่จะทำงานร่วมกันได้”

เกลเซอร์เสริมด้วยว่า ปักกิ่งจัดแบ่งความสัมพันธ์กับโตเกียวและวอชิงตันออกเป็นหลายแง่หลายมุม นอกเหนือจากประเด็นความมั่นคง

สำหรับ วิลเลียม โคเฮน อดีตรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ มองว่า การที่อเมริกาและญี่ปุ่นใช้คำพูดที่แข็งกร้าวเช่นนี้เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อเตือนสติและถ่วงดุลจีนที่กำลังแผ่ขยายอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น