xs
xsm
sm
md
lg

รบ.ญี่ปุ่นจับมือสหรัฐฯ เดินหน้าแผนช่วย 10 ชาติอาเซียนรับมือ “อาชญากรรมไซเบอร์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ประกาศแผนให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่ 10 ชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในการรับมือกับ “อาชญากรรมไซเบอร์”

สำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่นรายงานในวันอาทิตย์ (8) โดยอ้างแหล่งข่าวในรัฐบาลแดนปลาดิบที่ระบุว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะของญี่ปุ่น รวมถึง รัฐบาลสหรัฐฯ เตรียมเดินหน้าแผนช่วยเหลือประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ชาติในการเสริมสร้างศักยภาพในการรับมือภัยคุกคามจากอาชญากรรมบนโลกไซเบอร์ โดยเฉพาะจาก “จีน”

แหล่งข่าวในรัฐบาลญี่ปุ่นออกมายอมรับกับสำนักข่าวเกียวโดว่า รัฐบาลโตเกียวและวอชิงตันตระหนักถึงภัยคุกคามด้านความมั่นคงจากจีน โดยเฉพาะภัยคุกคามทางไซเบอร์ซึ่งมีต้นกำเนิดจากแดนมังกรที่มีสถิติเพิ่มสูงขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ดังนั้น โตเกียวและวอชิงตันจึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องเร่งเดินหน้าเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนในการปกป้องตนเองจาก “ภัยคุกคามรูปแบบใหม่” จากจีน

รายงานข่าวระบุว่า ในเบื้องต้นรัฐบาลญี่ปุ่นจะมอบเงินช่วยเหลือจำนวนอย่างน้อย 150,000 ดอลลาร์ (ราว 4.87 ล้านบาท) ขณะที่รัฐบาลอเมริกันจะมอบเงินช่วยเหลือขั้นต้นอีก 250,000 ดอลลาร์ (ราว 8.1 ล้านบาท) ให้กับ 10 ชาติสมาชิกอาเซียน ผ่านทางสำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยการปราบปรามยาเสพติดและอาชญากรรม (UNODC)

โดยเงินจำนวนดังกล่าวส่วนใหญ่จะถูกนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านการรับมืออาชญากรรมไซเบอร์

อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้รัฐบาลโตเกียวและวอชิงตันยังคงไม่มีข้อสรุปว่า ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการรับมืออาชญากรรมไซเบอร์ที่จะเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือแก่กลุ่มอาเซียนนี้จะมีจำนวนมากน้อยเพียงใด มีเพียงความชัดเจนว่าแผนการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของ 10 ชาติอาเซียนจะสิ้นสุดลงในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2015

ก่อนหน้านี้ บริษัท “อกาไม เทคโนโลยีส์” ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในมลรัฐแมสซาชูเซตต์สของสหรัฐฯ เคยออกรายงานที่ระบุว่า อินโดนีเซียและจีน คือ ประเทศที่เป็นต้นตอของการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์มากที่สุดของโลก พร้อมเตือนว่า 79 เปอร์เซ็นต์ของการโจมตีจะเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก


กำลังโหลดความคิดเห็น