xs
xsm
sm
md
lg

อนามัยโลกยอมรับกังวลMERSมรณะ แต่ยังไม่ประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



รอยเตอร์ส - องค์การอนามัยโลก(WHO) ยอมรับในวันพุธ(14) มีความกังวลมากขึ้นต่อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ตะวันออกกลาง (MERS) แต่ยังไม่ประกาศให้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เนื่องจากยังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนว่ามันสามารถติดต่อจากคนสู่คน

ไวรัสชนิดนี้ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอ หายใจติดขัด และมีไข้สูง บางรายก็ถึงขึ้นปอดบวม มีรายงานผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 500 รายทั่วโลก โดยส่วนใหญ่อยู่ในซาอุดีอาระเบีย อย่างไรก็ตามมันเริ่มแพร่ระบาดไปยังเหล่าชาติเพื่อนบ้าน เช่นเดียวกับพบผู้ติดเชื้อจำนวนเล็กน้อยในยุโรป เอเชียและสหรัฐฯ ในขณะเดียวกันสำหรับผู้ติดเชื้อนั้น มีถึงร้อยละ 30 ที่ต้องจบชีวิตลง

คณะกรรมการฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก ซึ่งหารือกันนานกว่า 5 ชั่วโมง ในเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อวันอังคาร(13) เปิดเผยในวันพุธ(14) ว่าพวกเขาเคร่งเครียดมากขึ้นต่อสถานการณ์ของไวรัส MERS ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของสาธารณชน อย่างไรก็ตามตอนนี้ยังไม่พบหลักฐานอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการติดต่อจากคนสู่คนของไวรัสตัวนี้ "ด้วยเหตุนี้ ดังนั้นมันยังไม่เข้าเงื่อนไขของภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ" WHO ระบุ

MERS ถูกจัดอยู่ในตระกูลเดียวกับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน (SARS) ซึ่งเคยแพร่ระบาดในเอเชียเมื่อปี 2003 หลังถูกพบครั้งแรกในจีน โดยหนนั้นมีผู้ติดเชื้อไวรัสซาร์สมากถึง 8,273 คน และร้อยละ 9 เสียชีวิต

เคอิจิ ฟูกูดะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ระบุว่าเหตุผลหลักที่ไม่ประกาศให้ MERS เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข แม้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆว่า ยังไม่พบหลักฐานว่ามันติดต่อจากคนสู่คนอย่างง่ายดาย "

ด้านเบน นิวแมน ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสของมหาวิทยาลันเรดดิ้งในอังกฤษ เชื่อว่าการตัดสินใจของคณะกรรมการ WHO เป็นมาตรการและปฏิกิริยาที่สมเหตุสมผลจากสถานการณ์ของการแพร่ระบาดที่ค่อยเป็นค่อยไป "มันเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องระลึกว่า MERS ยังไม่ได้แพร่ระบาดอย่างเห็นผลระหว่างมนุษย์" เขากล่าว "มันเป็นโรคติดต่อร้ายแรงอย่างยิ่งหากคุณโชคร้ายได้รับเชื้อ แต่โอกาสติดไวรัสยังคงมีเล็กน้อยมาก แม้แต่ในซาอุดีระเบียเองก็ตาม"

องค์การสาธารณสุขโลกแห่งนี้จะกำหนดภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ(PHEIC) เฉพาะกรณีที่เกิดหตุการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อประเทศอื่นๆ จากการแพร่ระบาดระหว่างประเทศ และต้องอาศัยความร่วมมือจากนานาประเทศในการรับมือกับเหตุการณ์นั้น อย่างไรก็ตามนายฟูกูดะ บอกว่าทางคณะกรรมการฉุกเฉินจะนัดหารือกันอีกครั้งในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อประเมินสถานการณ์ของไวรัส MERS

นานาชาติเริ่มมีความกังวลต่อไวรัสใหม่นี้ หลังจากช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อมากขึ้นเรื่อยๆในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งนับตั้งแต่ตรวจพบมันครั้งแรกในปี 2012 จนถึงตอนนี้มีคนไข้มากถึง 495 คน ในนั้น 152 รายเสียชีวิตแล้ว

นอกเหนือจากซาอุดีอาระเบียแล้ว ยังตรวจพบผู้ติดเชื้อ MERS ในประเทศอื่นๆทั่วตะวันออกกลาง และมันยังแผ่ลามไปยังชาติต่างๆในทวีปอื่นๆ อาทิมาเลเซีย เลบานอนและสหรัฐฯ ขณะที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเนเธอร์แลนด์เปิดเผยในวันพุธ(14) ว่าชายคนหนึ่งซึ่งเดินทางมาจากซาอุดีอาระเบีย ได้เข้ารับรักษาตัวที่โรงพยาบาลและตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัส MERS

ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการแพร่ระบาด ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากองค์การอนามัยโลก ว่าล้มเหลวในการบังคับใช้มาตรการสุขอนามัยขั้นพื้นฐานและควบคุมโรคติดต่อตามโรงพยาบาลต่างๆ จนปล่อยให้ไวรัสแผ่ลามติดต่อในหมู่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์

ฟูกูดะ ย้ำว่าประเทศต่างๆที่พบผู้ติดเชื้อไวรัส MERS จำเป็นต้องดำเนินการปรับปรุงมาตรการป้องกันและควบคุมการติดต่ออย่างเร่งด่วน ในความพยายามจำกัดการแพร่ระบาด "การควบคุมการติดต่อคือสิ่งสำคัญที่สุด" ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกบอก พร้อมยกมาตรการต่างๆเป็นตัวอย่าง อาทิเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขต้องสวมถุงมือและหน้ากากเสมอ เช่นเดียวกับล้างมือทุกครั้งหลังจากสัมผัสผู้ป่วย

เขาบอกด้วยว่าการสืบสวนทางวิทยาศาสตร์ก็ควรเริ่มต้นอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เช่นกัน เพื่อให้ทราบถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่อยู่เบื้องหลังโรคติดต่อนี้ ในนั้นรวมถึงการศึกษาทางระบาดวิทยา วิทยาเซรุ่ม ภาวะสิ่งแวดล้อมและสัตว์ที่เป็นพาหะ
กำลังโหลดความคิดเห็น