เอเอฟพี - ทางการซาอุดีอาระเบียในวันจันทร์ (12) ออกคำเตือนรอบใหม่ถึงแนวทางจัดการกับอูฐ หลังเชื่อว่ามันอาจเป็นต้นตอของไวรัสโคโรนาโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS) ที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศ โดยแนะนำประชาชนหลีกเลี่ยงสัมผัสโดยตรง ท่ามกลางความกังวลต่อเชื้อมรณะนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่นานก่อนที่ชาวมุสลิมทั่วโลกจะเริ่มเดินทางมาแสวงบุญที่นครเมกกะ ดินแดนศักดิ์สิทธิ์
เวลานี้เชื้อไวรัสโคโรนาโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง ได้คร่าชีวิตผู้คนในซาอุดีอาระเบียไปแล้ว 142 ราย จากจำนวนผู้ติดเชื้อ 483 คน นับตั้งแต่ตรวจพบมันครั้งแรกในปี 2012 ขณะที่มีรายงานผู้ติดเชื้อทั่วโลกราว 496 ราย
ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ยังคงพยายามศึกษาเชื้อไวรัสเมอร์สอย่างละเอียด และจนถึงตอนนี้ยังไม่มีวัคซีน หรือแอนตีไวรัส สำหรับต่อสู้กับการแพร่ระบาดของมัน ทางการซาอุดีอาระเบียจึงออกคำแนะนำใหม่ในความพยายามลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้น้อยลง จากเดิมที่มีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแทบทุกวัน
สื่อมวลชนท้องถิ่นรายงานว่า กระทรวงเกษตรซาอุดีอาระเบีย ระบุว่า แนะนำประชาชนที่ดูแลอูฐ ให้สวมหน้ากากและถุงมือเพื่อหลีกเลี่ยงสัมผัสกับอูฐที่อาจเป็นพาหะของเชื้อไวรัสเมอร์ส โดยคำเตือนนี้มีขึ้นหลังจากผลการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุขบ่งชี้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับระหว่างอูฐกับไวรัสตัวนี้
MERS ถูกจัดอยู่ในตระกูลเดียวกับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน (SARS) ซึ่งเคยแพร่ระบาดในเอเชียเมื่อปี 2003 โดยครั้งนั้นมีผู้ติดเชื้อไวรัสซาร์สมากถึง 8,273 คน และร้อยละ 9 เสียชีวิต
ก่อนหน้านี้ ผลการวิจัยพบว่าไวรัส MERS “แพร่ระบาดเป็นพิเศษ” ในอูฐมาแล้วอย่างน้อย 20 ปี และบางทีแพร่โดยตรงจากอูฐสู่มนุษย์ ดังนั้น ทาง นายอับเดล ฟาคีช รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขซาอุดีอาระเบีย จึงมีคำเตือนหลังพบปะกับผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่าควรปรุงเนื้ออูฐให้สุกก่อนรับประทาน เช่นเดียวกับอุ่นนมอูฐก่อนบริโภค
ท่ามกลางความกังวลที่มากขึ้นต่อการแพร่ระบาดของไวรัส MERS ทางองค์การอนามัยโลกกำลังเตรียมการประชุมฉุกเฉินอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นหนที่ 5 แล้วที่คณะกรรมการฉุกเฉินขององค์การสาธารณสุขของสหประชาชาติแห่งนี้ นัดหารือกันเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาลึกลับดังกล่าว
จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส MERS เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่เดือนก่อนจะถึงพิธีฮัจญ์ ซึ่งจะมีชาวมุสลิมนับล้านๆ คนเดินทางมาแสวงบุญยังนครเมกกะ และมะดีนะห์ โดยพิธีฮัจญ์ปีนี้จะตรงกับช่วงเดือนกันยายน อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงพิธีฮัจญ์ของซาอุดีอาระเบีย ยังไม่ได้มีมาตรการเฉพาะเจาะจงอย่างเป็นพิเศษที่เกี่ยวข้องกับเชื้อโรคร้าย
นอกจากในซาอุดีอาระเบียแล้ว ยังมีรายงานพบผู้ติดเชื้อทั้งในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จอร์แดน อียิปต์ เลบานอน และแม้แต่สหรัฐฯ ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องกับคนที่เดินทางไปเยือนซาอุดีอาระเบียหรือไม่ก็ทำงานที่นั่น และส่วนมากก็เป็นบุคลากรทางการแพทย์