xs
xsm
sm
md
lg

ยุโรปผลักดันเคียฟเจรจากลุ่มกบฏ ปูตินขานรับ-ปฏิเสธผนวกโดเนตสก์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - “ยุโรป” เดินเกมการทูตต่อเนื่องหวังคลายชนวนวิกฤตยูเครน ด้วยการส่งรัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนีเดินทางไป “เคียฟ” เพื่อผลักดันการเจรจาปรองดองกับกลุ่มกบฏโปรรัสเซีย ควบคู่กับการประกาศมาตรการแซงก์ชันชุดใหม่ที่มีคนใกล้ตัว “ปูติน” ถูกเล่นงานด้วยหลายราย

ภายหลังเข้าพบนายกรัฐมนตรีอาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค ของยูเครนในวันอังคาร (13 พ.ค.) รัฐมนตรีต่างประเทศ แฟรงก์-วอลเตอร์ สไตน์ไมเออร์ ของเยอรมนี แถลงว่า สถานการณ์ในยูเครนยังล่อแหลมมาก แต่เขาหวังว่า จะมีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาอย่างสันติผ่านการเจรจาปรองดองแห่งชาติภายใต้การนำของชาวยูเครน ซึ่งจะทำให้เกิดเงื่อนไขที่นำไปสู่การคืนพื้นที่ที่ถูกยึดครอง, การปลดอาวุธทีละขั้นตอน, และการแต่งตั้งคณะบริหารท้องถิ่นชุดใหม่

สไตนไมเออร์เสริมว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดียูเครนในวันที่ 25 นี้ จะช่วยผลักดันให้ประเทศนี้ให้หลุดพ้นจากวิกฤต

ทั้งนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศเมืองเบียร์มีกำหนดหารือกับโอเลคซานเดอร์ ตูร์ชินอฟ ประธานาธิบดีรักษาการของยูเครนเป็นลำดับถัดไป ก่อนเดินทางไปยังโอเดสซา เมืองท่าทางภาคใต้ของประเทศนี้ ขณะที่ยัตเซนยุคจะบินสู่กรุงบรัสเซลส์เพื่อหารือกับคณะกรรมาธิการยุโรป อันเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (อียู) เกี่ยวกับการสนับสนุนและความพยายามขั้นต่อไปในการคลี่คลายวิกฤตยูเครน ที่กำลังทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายตะวันตกกับรัสเซียตกต่ำที่สุดนับจากยุคสงครามเย็น

ส่วนทางด้านกรุงมอสโก กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียยังคงออกมาโจมตีกดดันว่า การที่เคียฟปฏิเสธไม่ยอมเข้าร่วมเจรจากับกลุ่มกบฏ เป็นอุปสรรคอันสำคัญในการคลี่คลายวิกฤต โดยที่ กริกอรี คาราซิน รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศรัสเซีย ย้ำกับ วีกอดัส ยูซักคัส ผู้แทนอียูในมอสโก ว่าการเจรจาดังกล่าวควรมีขึ้นก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดียูเครน

กระแสความพยายามทางการทูตเหล่านี้มีขึ้น หลังจากกลุ่มกบฏในภาคตะวันออกของยูเครนเรียกร้องขอผนวกกับรัสเซียเมื่อวันจันทร์ (12) ภายหลังผลการลงประชามติเมื่อวันอาทิตย์ (11) ออกมาว่า ผู้ออกเสียงใน 2 จังหวัดของยูเครนตะวันออก คือ ลูกันสก์ กับ โดเนตสก์ ลงคะแนนเสียงท่วมท้นให้แยกตัวเป็นรัฐอิสระ โดยที่โดเนตสก์ถึงขั้นเรียกร้องขอผนวกกับรัสเซีย

ทว่า เครมลินแสดงท่าทีชัดเจนว่า ไม่คิดรวมดินแดนด้านตะวันออกของยูเครนทันที หลังจากผนวกกับแหลมไครเมียเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ต้องการผลักดันให้รัฐบาลกลางของยูเครนหารือเกี่ยวกับอนาคตของประเทศร่วมกับกลุ่มกบฏทางตะวันออก

วันเดียวกันนั้น องค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (โอเอสซีอี) แถลงว่า ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซีย สนับสนุนแผนโรดแมปสำหรับยูเครนที่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติความรุนแรงทันที, เจรจาเกี่ยวกับระบบการกระจายอำนาจ, และรักษาสถานะของภาษารัสเซีย โดยโอเอสซีอีจะตั้งทีมงานเพื่อเร่งตรวจสอบเหตุการณ์รุนแรงทั้งหมด

โอเอสซีอียังมีแผนส่งเจ้าหน้าที่ 1,000 คนสังเกตการณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดียูเครนปลายเดือนนี้

ในอีกด้านหนึ่ง บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของอียูซึ่งร่วมประชุมกันเมื่อวันจันทร์ ได้ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่รัสเซียและไครเมียอีก 13 คนและบริษัท 2 แห่งที่จะถูกอายัดทรัพย์สินซึ่งมีอยู่ในอียู รวมทั้งจะถูกงดออกวีซ่าเข้าอียู ทั้งนี้ภายใต้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรชุดใหม่ ในจำนวนผู้ที่ถูกเล่นงานรายใหม่ๆ นี้ รวมถึง วิยาเชสลาฟ โวโลดิน นาตาลยา รองประธานคณะทำงานของปูติน, โปคลอนสกายา อัยการคนสวยของไครเมียที่กลายเป็นขวัญใจผู้ใช้เน็ต และ วิยาเชสลาฟ โปโนมาร์ยอฟ นายกเทศมนตรีเมืองสโลเวียนสก์ที่ ถูกกลุ่มกบฏโปรรัสเซียยึดครองอยู่

อย่างไรก็ดี ทั้งวอชิงตันและบรัสเซลส์ยังหลีกเลี่ยงมาตรการลงโทษต่ออุตสาหกรรมที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจรัสเซียในวงกว้าง มิหนำซ้ำล่าสุด รัฐบาลฝรั่งเศสยังประกาศเดินหน้าสัญญาขายเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์มูลค่า 1,700 ล้านดอลลาร์ให้แก่รัสเซีย โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากการยกเลิกสัญญาจะกระทบต่อปารีสมากกว่ามอสโก

ทั้งนี้ ความรุนแรงในยูเครนระเบิดขึ้นในภาคตะวันออกมานานหลายสัปดาห์ จากการที่รัฐบาลชั่วคราวในกรุงเคียฟ ส่งกำลังไปปราบปรามกลุ่มกบฏติดอาวุธที่ยึดเมืองต่างๆ และทำให้เกิดสถานการณ์วุ่นวาย ภายหลังจากที่วิกตอร์ ยานูโควิช ผู้ภักดีต่อมอสโกถูกปลดจากตำแหน่งประธานาธิบดียูเครน ด้วยฝีมือของกลุ่มผู้ประท้วงนิยมตะวันตกในเดือนกุมภาพันธ์ โดยที่ทั้งมอสโกและพวกประชาชนผู้พูดภาษารัสเซียทางภาคตะวันออกของยูเครนต่างแสดงความวิตกว่า ระบอบปกครองใหม่ในเคียฟตกอยู่ใต้อิทธิพลของพวกชาตินิยมยูเครนสุดโต่งและพวกนาซีใหม่

เจ้าหน้าที่ยูเครนเผยว่า มีประชาชนเสียชีวิต 49 คนในโดเนตสก์นับจากเหตุการณ์วุ่นวาย และการปะทะในเมืองโอเดสซาเมื่อต้นเดือนนี้ ทำให้มีคนตายอย่างน้อย 42 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น