xs
xsm
sm
md
lg

“ยูเครนตะวันออก” จัดลงประชามติ “เป็นเอกราช” แม้ US-EU-เคียฟ “กริ้ว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - หลายพื้นที่ในภาคตะวันออกของยูเครนซึ่งควบคุมโดยกลุ่มผู้ประท้วงนิยมรัสเซีย จัดการลงประชามติในวันอาทิตย์ (11 พ.ค.) ว่าต้องการแยกตัวเป็นเอกราชหรือไม่ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ฝ่ายตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ ออกมาประณามว่า “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ขณะเดียวกัน ก่อให้เกิดความหวั่นเกรงว่าอาจจะทำให้ความรุนแรงบานปลายขยายตัวจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองเต็มขั้น ตลอดจนนำไปสู่การแตกสลายของอดีตสาธารณรัฐสังกัดสหภาพโซเวียตรายนี้

สถานการณ์ในหลายๆ บริเวณยังคงตึงเครียดมาก ที่เมืองสโลเวียนสก์ ซึ่งกลายเป็นจุดสำคัญที่สุดที่ทั้งกลุ่มกบฏนิยมรัสเซีย และกองทหารของรัฐบาลกรุงเคียฟที่ฝักใฝ่ตะวันตก กำลังพยายามช่วงชิง การสู้รบได้ปะทุขึ้นอีกครั้งในช่วงเช้า หลังฝ่ายกบฎพยายามบุกเข้ายึดอาคารสูงของสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น ที่ตั้งอยู่บริเวณชานเมือง กลับคืนมาจากฝ่ายรัฐบาล

ทว่าในบริเวณย่านใจกลางเมืองสโลเวียนสก์ตลอดจนเมืองเล็กๆ ที่อยู่รอบๆ ผู้มีสิทธิออกเสียงพากันเข้าแถวอย่างสงบเพื่อหย่อนบัตรลงคะแนน โดยที่พวกเขาจะถูกขอให้ตอบ “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” สำหรับคำถามที่ว่า “ท่านเห็นชอบกับการเป็นเอกราชของสาธารณรัฐประชาชนแห่งโดเนตสก์หรือไม่?” ทั้งนี้ นอกจากจังหวัดโดเนตสก์แล้ว ประชาชนในจังหวัดลูกานสก์ ซึ่งอยู่ติดกัน ก็จะถูกขอให้ตอบคำถามในทำนองเดียวกันนี้

ที่เมืองมาริอูโปล ซึ่งเพิ่งเกิดการสู้รบกันอย่างดุเดือดในวันศุกร์ (9) โดยมีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 7 คน พวกเจ้าหน้าที่แจ้งว่าสามารถจัดหน่วยเลือกตั้งขึ้นมาได้เพียง 8 แห่งสำหรับรองรับผู้มีสิทธิราวๆ ครึ่งล้านคน โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีคนเข้าแถวยาวหลายร้อยเมตรเพื่อรอใช้สิทธิ

การลงประชามติซึ่งมีขึ้นใน 2 จังหวัดทางภาคตะวันออก ที่กลุ่มใฝ่รัสเซียเข้ายึดครองเมืองต่างๆ กว่า 10 แห่งครั้งนี้ เป็นการสะท้อนให้เห็นรอยร้าวอันฝังลึกอย่างร้ายแรงของวิกฤตการเมืองในยูเครน

แม้ว่าอาจมีรัสเซียเพียงชาติเดียวที่ยอมรับการโหวต “เห็นด้วย” แต่การลงประชามตินี้ก็ส่งผลไม่น้อยในการบ่อนทำลายการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดียูเครน ที่รัฐบาลชั่วคราวในกรุงเคียฟกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 25 เดือนนี้ โดยที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) มองว่าการเลือกตั้งดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งในการฟื้นคืนเสถียรภาพให้แก่ประเทศ

เจน ซากี โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในคำแถลงวันเสาร์ (10) ว่า การลงประชามติเป็นการกระทำที่ “ขัดต่อกฎหมายยูเครน และเป็นความพยายามที่จะสร้างความแตกแยกและความชุลมุนวุ่นวายมากมายยิ่งขึ้น”

เธอเน้นย้ำว่า “หากยังมีการเดินหน้าลงประชามติเหล่านี้ ก็จะเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และทำลายความเป็นปึกแผ่นของยูเครน ขณะที่สหรัฐฯ จะไม่ยอมรับผลการลงประชามติที่ผิดกฎหมายพวกนี้”

ก่อนหน้านี้ ในวันเดียวกัน ฝรั่งเศสและเยอรมนีได้ออกมากล่าวเตือนรัสเซียถึง “ผลพวงที่ตามมา” หากการเลือกตั้งประธานาธิบดียูเครนถูกขัดขวาง ซึ่งเป็นการย้ำเตือนคำขู่ของประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ที่ระบุว่าจะประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมเป็นระลอก 3 ซึ่งคราวนี้จะส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนในเศรษฐกิจอันอ่อนแอของมอสโก

แม้ว่ากลุ่มผู้ประท้วงนิยมรัสเซียกล่าวอ้างว่า ร้อยละ 90 ของประชากรจำนวน 7 ล้านคนใน 2จังหวัดนี้ จะโหวตเห็นด้วยในการลงประชามติครั้งนี้ แต่จำนวนดังกล่าวก็ยังห่างไกลจากจำนวนประชากร 46 ล้านคนของทั่วทั้งยูเครนอยู่ดี

ทั้งนี้ ประชาชนในโดเนสก์และลูกันสก์ได้ตัดสินใจจะเดินหน้าจัดการลงประชามติต่อไป แม้ว่าเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (7) ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียจะออกมาเรียกร้องให้พวกเขาเลื่อนแผนการนี้ออกไปก่อนก็ตาม

ทางด้านกรุงเคียฟได้แสดงท่าทีไม่ยอมรับการลงประชามติครั้งนี้ โดยชี้ว่าเป็นการกระทำที่ “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” และขัดต่อรัฐธรรมนูญของยูเครน ขณะที่รักษาการประธานาธิบดี โอเลคซานเดอร์ ตูร์ชินอฟ ซึ่งได้ขึ้นครองอำนาจภายหลังกลุ่มนิยมตะวันตกของเขาทำการโค่นล้มยึดอำนาจจาก วิกตอร์ ยานูโควิช ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ก็กล่าวเตือนว่า การออกเสียงเลือกที่จะเป็นเอกราช จะเป็น “ก้าวเดินขยับเข้าใกล้ขุมนรก” สำหรับจังหวัดเหล่านี้ และจะทำให้เศรษฐกิจของที่นั่นตกอยู่ในภาวะ “แหลกสลายอย่างสิ้นเชิง”

อย่างไรก็ตาม กรุงเคียฟไม่มีอำนาจพอที่จะยับยั้งการจัดลงประชามติคราวนี้ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในไครเมีย ดินแดนซึ่งรัสเซียผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ หลังมีการจัดการลงประชามติแบ่งแยกดินแดนในลักษณะเดียวกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น