xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: “โอบามา” ทัวร์ 4 ชาติเอเชียไม่เสียเที่ยว แต่เป้าหมาย “ปักหมุด” ยังอีกไกล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้นำสหรัฐฯ โบกมืออำลาเกาหลีใต้ ก่อนขึ้นเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวันออกจากฐานทัพโอซานทางตอนใต้ของกรุงโซลเพื่อเดินทางต่อไปยังมาเลเซีย
แม้การเดินทางเยือนภูมิภาคเอเชียเมื่อช่วงกลางเดือนเมษายนของประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ จะนับว่าไม่เสียเที่ยว แต่หากจะมองไปถึงความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมของยุทธศาสตร์ปรับสมดุล (rebalancing) ที่ผู้นำสหรัฐฯ ตั้งเป้าเอาไว้นั้น คงต้องบอกว่า “หนทางยังอีกยาวไกล” สำหรับอเมริกา

ภารกิจเยือน 4 ชาติเอเชียของประธานาธิบดี โอบามา ปิดฉากลงอย่างสวยงามที่ฟิลิปปินส์เป็นประเทศสุดท้าย โดยตลอด 1 สัปดาห์ก่อนหน้านั้น โอบามา ได้ย้ำคำเตือนไม่ให้จีนใช้วิธีข่มขู่คุกคามชาติอื่นเพื่อครอบครองดินแดนพิพาท ทั้งยังปลอบขวัญพันธมิตรทั้งหลายให้วางใจว่าสหรัฐฯ พร้อมที่ยื่นมือเข้าช่วยในกรณีที่มีภัยคุกคามความมั่นคง

ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวแบบไม่อ้อมค้อมว่า สนธิสัญญากลาโหมระหว่างสหรัฐฯกับญี่ปุ่นครอบคลุมถึงหมู่เกาะพิพาทในทะเลจีนตะวันออกที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า “เซ็งกากุ” หรือที่จีนเรียกว่า “เตี้ยวอี๋ว์” และสหรัฐฯ จำเป็นต้องแทรกแซงหากหมู่เกาะที่โตเกียวควบคุมอยู่นี้ถูกจีนโจมตี

ระหว่างการเยือนฟิลิปปินส์ โอบามา ประสบความสำเร็จในการผลักดันให้ประธานาธิบดี เบนิโญ อากิโน ลงนามข้อตกลงกลาโหมฉบับใหม่ที่เจรจากันมานานนับทศวรรษ โดยข้อตกลงดังกล่าวจะเปิดทางให้สหรัฐฯ ส่งทหารเข้าไปประจำการในฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้น คล้ายกับข้อตกลงที่วอชิงตันทำร่วมกับออสเตรเลียมาก่อน

โอบามา ยังเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกในรอบเกือบ 50 ปีที่ไปเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ ซึ่งเท่ากับดึงแดนเสือเหลืองให้เข้ามาอยู่ในวงโคจรของอเมริกา หลังจากผู้นำมาเลเซียหลายยุคสมัยล้วนแสดงจุดยืนต่อต้านความเป็นอเมริกันมาโดยตลอด

มาเลเซียในสมัยของนายกรัฐมนตรี มหาธีร์ โมฮัมหมัด เคยมีบทบาทสนับสนุนให้พม่าเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน ซึ่งเท่ากับเป็นการผลักดันการปฏิรูปประชาธิปไตยและดึงพม่าให้ออกห่างจากจีน

เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ เผยว่า โอบามา กล่าวเตือนนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่นเป็นการส่วนตัวให้ระวังผลเสียจากการไปเยือนศาลวีรชนสงครามยาสุกุนิ โดยเฉพาะผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ซึ่งเป็นมิตรที่สำคัญของอเมริกาเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ความพยายามดึงญี่ปุ่นเข้าเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ต้องถือว่าล้มเหลว เพราะโอบามา ไม่อาจโน้มน้าวให้ญี่ปุ่นเปิดตลาดรถยนต์และสินค้าเกษตรได้ แม้รัฐบาล 2 ฝ่ายจะออกมายืนยันว่า การเจรจามี “ความคืบหน้า” ไปบ้างก็ตาม

ทีพีพี ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯเป็นหัวหอกและจงใจกีดกันจีนอย่างเห็นได้ชัด ถือเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้นโยบายปักหมุดเอเชียของ โอบามา เป็นมากกว่าการส่งทหารเข้ามาผลัดเปลี่ยนประจำการแถบนี้ และยังช่วยให้สหรัฐฯ ได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ด้วย

แม้ยุทธศาสตร์ปรับสมดุลหรือ “รีบาลานซ์” ของ โอบามา จะช่วยให้มิตรประเทศแถบนี้ลดความกังวลเรื่องการแผ่อิทธิพลของจีนไปได้บ้าง แต่ผู้นำสหรัฐฯ ก็ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูงไม่ให้การขัดกันของผลประโยชน์ระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งลุกลามจนถึงขั้นควบคุมไม่ได้
ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ร่วมรับประทานอาหารค่ำกับนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น ที่ภัตตาคารซูชิชื่อดังในกรุงโตเกียว
แม้จะเตือนให้ปักกิ่งงดใช้ความก้าวร้าวแย่งชิงพื้นที่พิพาทกับเพื่อนบ้านในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก ซึ่งอาจจะนำไปสู่การ “ยิงปะทะ” กลางทะเลเข้าสักวันหนึ่ง แต่ โอบามา ก็เลือกใช้วาจาที่ค่อนข้างนุ่มนวล เพื่อจะไม่สร้างความขุ่นข้องหมองใจกับจีนจนเกินไป

เพื่อตอบแทนการรักษาไมตรีของผู้นำสหรัฐฯ จะได้ชัดว่า รัฐบาลจีนก็แทบไม่ได้ตอบโต้อะไร หลังจากที่วอชิงตันลงนามข้อตกลงกลาโหมฉบับใหม่กับฟิลิปปินส์

โจเซฟ เช็ง นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย ซิตี ยูนิเวอร์ซิตี ออฟ ฮ่องกง ชี้ว่า การเดินทางเยือน 4 ชาติเอเชียของประธานาธิบดีโอบามา “ถือว่าไม่ประสบผลสำเร็จเต็มที่”

“แต่ถึงกระนั้น โอบามา ก็ยังแสดงให้เห็นว่า เขาให้ความสำคัญอย่างมากกับภูมิภาคนี้ ตามยุทธศาสตร์ปรับสมดุลสู่เอเชีย”

จะว่าไปแล้ว โอบามา “จำเป็นอย่างยิ่ง” ที่จะต้องมาเยือนเอเชียให้ได้ เพราะการที่เขาขาดประชุมซัมมิตเอเปกที่เกาะบาหลีเมื่อปีที่แล้วเพื่ออยู่รับมือวิกฤต “ชัตดาวน์” หน่วยงานรัฐบาลในประเทศ ทำให้ชาติพันธมิตรเริ่มเกิดคำถามว่า สหรัฐฯ จะรักษาอิทธิพลเพื่อคานอำนาจกับจีนได้อยู่หรือไม่

แดเนียล ทไวนิง นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียจากกองทุนมาร์แชลเยอรมัน (German Marshall Fund of the United States) ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษานโยบายต่างประเทศให้กับอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ชี้ว่า ท่าทีหลายอย่างของ โอบามา ถือเป็น “การลงทุนที่ชาญฉลาด” แต่ก็เตือนว่า “มิตรประเทศในเอเชียยังไม่คลายความกังวล”

ความจริงที่ว่าสหรัฐฯ เป็นชาติแปซิฟิกที่ไม่ใช่ “ชาติเอเชีย” ย่อมจะทำให้วอชิงตันถูกมองเป็น “คนนอก” อยู่ตลอดเวลาไม่มากก็น้อย ในขณะที่จีนก็ต้องคอยระแวดระวังว่าสหรัฐฯ มีจุดมุ่งหมายใดในการมาเยือน “หลังบ้าน” ของตน ซึ่งประเด็นนี้ถูกสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนจากคำพูดของประธานาธิบดี โอบามา ที่กล่าวย้ำเสมอว่า สหรัฐฯ ไม่ได้ปรารถนาที่จะ “ตีกรอบ” หรือ “เผชิญหน้า” กับปักกิ่ง

อีกหนึ่งความล้มเหลวสำคัญก็คือ โอบามา ไม่สามารถเสนอแนวทางใหม่ๆ ที่จะจัดการภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ และแม้การทดลองนิวเคลียร์รอบที่ 4 ของโสมแดงจะไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างการเยือนเอเชียของ โอบามา ตามที่หลายฝ่ายหวั่นเกรง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ยุคสมัยของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้นี้จะถูกบันทึกลงหน้าประวัติศาสตร์ว่าเป็นช่วงเวลาที่กิจกรรมนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือคืบหน้ายิ่งกว่าสมัยใดๆ

โอบามา จะกลับมาเยือนภูมิภาคเอเชียอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อร่วมการประชุมระดับภูมิภาคในปักกิ่ง, เมียนมาร์ และออสเตรเลีย
ประธานาธิบดี บารัค โอบามา และประธานาธิบดี พัค กึน-ฮเย แห่งเกาหลีใต้ เดินทางไปเยี่ยมกองกำลังรักษาการณ์ยองซาน
ประธานาธิบดี บารัค โอบามา กล่าวสุนทรพจน์ร่วมกับนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก แห่งมาเลเซีย ระหว่างไปเยือนศูนย์นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ที่เมืองไซเบอร์จายา
ประธานาธิบดี เบนิโญ อากิโน แห่งฟิลิปปินส์ ให้การต้อนรับผู้นำสหรัฐฯ ที่ทำเนียบมาลากันยัง
กำลังโหลดความคิดเห็น