xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ออสซีชี้ภารกิจค้นหา MH370 เข้าสู่ “ขั้นตอนใหม่” ยอมรับโอกาสพบชิ้นส่วนเหนือผิวน้ำ “มีน้อยมาก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/รอยเตอร์ - นายกรัฐมนตรี โทนี แอบบ็อตต์ แห่งออสเตรเลีย สั่งยกระดับภารกิจสำรวจใต้พื้นมหาสมุทรอินเดียเพื่อค้นหาเที่ยวบิน MH370 ของมาเลเซียแอร์ไลน์ที่สูญหายไปนานเกือบ 2 เดือน พร้อมยอมรับว่าโอกาสที่จะพบชิ้นส่วนเครื่องบินลอยอยู่เหนือผิวน้ำ “มีน้อยมาก”

รัฐบาลออสเตรเลียรับหน้าที่ประสานงานในการค้นหาโบอิ้ง 777-200 ของมาเลเซียแอร์ไลน์สที่สูญหายไปจากจอเรดาร์เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พร้อมกับผู้โดยสารและลูกเรือ 239 ชีวิต โดยผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเครื่องบินลำนี้น่าจะตกลงสู่มหาสมุทรอินเดียตอนใต้

นานาชาติได้ส่งเครื่องบินและเรือหลายสิบลำออกตระเวนค้นหาเหนือน่านน้ำกว้างใหญ่นอกชายฝั่งตะวันตกของออสเตรเลีย ทว่าผ่านมากว่า 40 วันก็ยังไม่พบแม้แต่เศษชิ้นส่วนขนาดเล็กที่จะยืนยันได้ถึงการตกของเครื่องบินโบอิ้งลำนี้

“ผมจำเป็นต้องเรียนให้ท่านทราบว่า เมื่อมาถึงขั้นนี้คงมีโอกาสน้อยมากที่เราจะพบชิ้นส่วนเครื่องบินลอยอยู่เหนือผิวน้ำ” แอบบ็อตต์ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนที่กรุงแคนเบอร์รา วันนี้(28)

“ผ่านมานานถึง 52 วัน วัสดุส่วนใหญ่คงจะชุ่มน้ำ และจมลงสู่ก้นทะเลแล้ว”

“ด้วยระยะทางที่ห่างไกลมาก เครื่องบินค้นหาทุกลำต่างปฏิบัติภารกิจได้อย่างจำกัด และจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัย”

นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียระบุว่า ภารกิจค้นหา MH370 กำลังเข้าสู่ “ขั้นตอนใหม่” ซึ่งจะเป็นการค้นหาใต้ทะเลอย่างเข้มข้นและกินพื้นที่กว้างขวางยิ่งกว่าเดิม

“เราจะพยายามค้นหาใต้ทะเลอย่างละเอียดที่สุดเท่าที่ศักยภาพของมนุษย์จะไปถึง”

แอบบ็อตต์ชี้ว่า การขยายพื้นที่ค้นหาให้ครอบคลุมเขตผลกระทบ (impact zone) ทั้งหมด ซึ่งมีขนาดประมาณ 700 × 80 กิโลเมตร อาจจะต้องใช้เวลาสำรวจนาน 6-8 เดือน

พื้นที่ค้นหา MH370 ถูกกำหนดจากการวิเคราะห์ข้อมูลดาวเทียม ประกอบกับสัญญาณ Ping ที่เรือโอเชียนชิลด์ของออสเตรเลียเคยตรวจจับได้หลายครั้ง ก่อนที่แบตเตอรีกล่องดำของเครื่องบินจะหมดพลังงานลง

ยานดำน้ำไร้คนขับ บลูฟิน-21 ของกองทัพเรือสหรัฐฯถูกส่งลงไปสำรวจพื้นมหาสมุทรราว 400 ตารางกิโลเมตรรอบๆ จุดที่เรือโอเชียนชิลด์เคยพบสัญญาณ Ping ครั้งหนึ่ง แต่จนบัดนี้ก็ยังไร้ความคืบหน้า

แอบบ็อตต์ยืนยันว่า บลูฟิน-21 จะยังปฏิบัติภารกิจต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ขณะที่รัฐบาลออสเตรเลียซึ่งได้ปรึกษาหารือกับทางมาเลเซียแล้วก็พร้อมที่จะว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาช่วยอีกแรงหนึ่ง



กำลังโหลดความคิดเห็น