เอเอฟพี – ปฏิบัติการค้นหาเครื่องบินโดยสารมาเลเซียแอร์ไลน์ส เที่ยวบิน MH370 ที่สูญหายไปนานกว่า 1 เดือนยังไร้ความคืบหน้า ล่าสุดยานดำน้ำไร้คนขับ “บลูฟิน-21” ที่ถูกส่งลงไปสำรวจพื้นทะเลใต้มหาสมุทรอินเดียต้องกลับขึ้นสู่ผิวน้ำก่อนกำหนดเป็นครั้งที่ 2 เนื่องจากประสบ “ปัญหาทางเทคนิค” ขณะที่กองทัพเรือสหรัฐฯ ยอมรับว่า บลูฟิน-21 อาจต้องใช้เวลานานถึง 2 เดือนจึงจะสามารถสแกนพื้นทะเลในจุดค้นหาได้ครบถ้วน
ศูนย์ประสานงานร่วมออสเตรเลีย (JACC) มีถ้อยแถลงสั้นๆ เกี่ยวกับ “เหตุขัดข้องทางเทคนิค” ที่เกิดขึ้นกับยานดำน้ำติดตั้งอุปกรณ์โซนาร์ แต่ไม่ระบุชัดเจนว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับอะไร
บลูฟิน-21 ได้เริ่มภารกิจค้นหาใต้ทะเลครั้งแรกเมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา(14) แต่ก็ต้องกลับขึ้นสู่ผิวน้ำก่อนเวลา เนื่องจากพื้นทะเลมีความลึกกว่า 4,500 เมตร ซึ่งเกินขีดความสามารถของยานชนิดนี้
อย่างไรก็ตาม JACC กลับไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับความล้มเหลวครั้งที่สอง และยังไม่เปิดเผยด้วยว่า บลูฟิน-21 ใช้เวลาอยู่ใต้ทะเลนานเท่าใด
“ยานสำรวจใต้ทะเลไร้คนขับ บลูฟิน-21 จำเป็นต้องกลับขึ้นสู่ผิวน้ำเมื่อเช้าวันนี้(16) เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องทางเทคนิค... แต่เราได้ส่งยานกลับลงไปในน้ำเพื่อปฏิบัติภารกิจค้นหาต่อแล้ว” JACC ระบุ
เจ้าหน้าที่บนเรือโอเชียนชิลด์ของออสเตรเลียซึ่งเป็นผู้นำในการค้นหาร่องรอยของเที่ยวบิน MH370 ที่สูญหายไปตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม ได้ดาวน์โหลดข้อมูลทั้งหมดที่ บลูฟิน-21 บันทึกไว้ได้ ก่อนที่มันจะถูกส่งลงน้ำเป็นครั้งที่ 3
“จากข้อมูลที่ดาวน์โหลดเมื่อเช้าวันนี้ เรายังไม่พบสิ่งใดที่น่าสงสัย” JACC ระบุในถ้อยแถลง
หลังพยายามจับสัญญาณ Ping จากกล่องดำของเครื่องบิน MH370 อยู่นานกว่า 3 สัปดาห์ ในที่สุดทีมค้นหาก็ตัดสินใจส่งยานดำน้ำลงไปสำรวจใต้พื้นมหาสมุทรเพื่อตามหาซากเครื่องบินเป็นครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา(14)
กองทัพเรือสหรัฐฯ อธิบายว่า บลูฟิน-21 ยกเลิกภารกิจแรกโดยอัตโนมัติทั้งที่เพิ่งจะดำลงไปใต้ทะเลได้เพียง 6 ชั่วโมง เนื่องจากความลึกของทะเลในจุดค้นหาเกินขีดความสามารถที่มันถูกตั้งโปรแกรมเอาไว้
ขณะนี้หลายฝ่ายกำลังตั้งคำถามว่า จุดที่เรือโอเชียนชิลด์พบสัญญาณ Ping เป็นครั้งสุดท้ายมีความลึกเท่าใดแน่
แองกัส ฮุสตัน หัวหน้าศูนย์ JAAC เคยกล่าวเตือนว่า ยานดำน้ำ บลูฟิน-21 ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจค้นหาที่ความลึกเกิน 4,500 เมตรได้ และหากจะลงไปที่ความลึกมากกว่านั้นก็จะต้องใช้อุปกรณ์ชนิดอื่นที่มีศักยภาพสูงกว่า
ฮุสตัน ประกาศยุติการส่งเรือค้นหาสัญญาณ Ping จากกล่องดำของ MH370 เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา(14) หลังอุปกรณ์ค้นหาสัญญาณที่ติดตั้งบนเรือโอเชียนชิลด์ตรวจไม่พบสัญญาณเพิ่มเติมติดต่อกัน 6 วัน และเชื่อว่าแบตเตอรีกล่องดำซึ่งมีอายุราวๆ 30 วันน่าจะหมดพลังงานไปแล้ว
บลูฟิน-21 เป็นยานไร้คนขับติดตั้งอุปกรณ์โซนาร์ที่ผลิตในสหรัฐฯ ความยาว 4.93 เมตร น้ำหนัก 750 กิโลกรัม และสามารถดำลงไปใต้ทะเลที่ความลึกสูงสุด 4,500 เมตร
ตามแผนที่กำหนดไว้ ทีมค้นหาจะส่ง บลูฟิน-21 ลงไปสำรวจพื้นมหาสมุทรในพื้นที่ราว 40 ตารางกิโลเมตรรอบๆ จุดที่เรือโอเชียนชิลด์พบสัญญาณ Ping แต่ ฮุสตัน ก็เตือนให้ทุกฝ่ายเตรียมใจล่วงหน้าว่า การทำงานของยานดำน้ำไร้คนขับจะใช้เวลาค่อนข้างมาก โดยภารกิจแต่ละครั้งจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 24 ชั่วโมง
ยานดำน้ำชนิดนี้จะใช้เวลาราว 2 ชั่วโมงเพื่อเดินทางไปยังก้นมหาสมุทร จากนั้นจะเก็บข้อมูลแผนที่ใต้น้ำแบบ 3 มิติอีกราวๆ 16 ชั่วโมง และใช้เวลาอีก 2 ชั่วโมงเพื่อกลับสู่ผิวน้ำ ส่วนขั้นตอนการดาวน์โหลดและวิเคราะห์ข้อมูลก็จะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 4 ชั่วโมงจึงจะแล้วเสร็จ
กองทัพเรือสหรัฐฯ ประเมินว่า บลูฟิน-21 อาจต้องใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์ – 2 เดือน จึงจะสามารถสแกนพื้นทะเลบริเวณจุดค้นหาได้ครบถ้วน