xs
xsm
sm
md
lg

ออสซี่เตรียมส่งยานดำน้ำไร้คนขับ “บลูฟิน-21” ดำหาซาก MH370 “โดยเร็วที่สุด” หลังไม่พบสัญญาณ Ping เพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยานสำรวจใต้น้ำ บลูฟิน-21 ซึ่งกำลังจะถูกส่งลงไปค้นหาซากเครื่องบิน MH370 ใต้มหาสมุทรอินเดีย
เอเอฟพี – ออสเตรเลียจะส่งยานดำน้ำไร้คนขับ “บลูฟิน-21” ลงไปค้นหาซากเครื่องบินมาเลเซียแอร์ไลน์สใต้มหาสมุทรอินเดีย “โดยเร็วที่สุด” ขณะที่เรือโอเชียนชิลด์ซึ่งติดตั้งอุปกรณ์ค้นหาสัญญาณ Ping จากกล่องดำ (towed pinger locator) เตรียมยุติภารกิจดังกล่าวภายในวันนี้(14)

“โอเชียนชิลด์ จะยุติภารกิจค้นหาสัญญาณ Ping ภายในวันนี้ และจะส่งยานดำน้ำไร้คนขับ บลูฟิน-21 ลงไปโดยเร็วที่สุด” พล.อ.อ. แองกัส อุสตัน ซึ่งเป็นผู้นำศูนย์ประสานงานร่วม (JACC) ในการค้นหา MH370 แถลงที่เมืองเพิร์ทในวันนี้(14)

ฮุสตัน ชี้ว่า เรือโอเชียนชิลด์ตรวจจับสัญญาณใต้ทะเลซึ่งมีคลื่นความถี่ตรงกับกล่องดำของเครื่องบินโดยสารได้เป็นครั้งสุดท้าย เมื่อ 6 วันก่อน

“เราหาสัญญาณใดๆ ไม่พบตลอด 6 วันมานี้ ดังนั้นผมจึงเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องลงไปค้นหาใต้น้ำ”

ฮุสตัน ระบุด้วยว่า มีการตรวจพบคราบน้ำมันลอยอยู่บริเวณจุดค้นหา และเจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างน้ำมันประมาณ 2 ลิตรเพื่อนำไปตรวจสอบแล้ว

“เรายังต้องตรวจสอบที่มาของคราบน้ำมันเหล่านี้เสียก่อน แต่น้ำมันที่เราพบอยู่ห่างจากบริเวณที่ โอเชียนชิลด์ ตรวจพบสัญญาณ Ping ลงไปตามทิศทางลมประมาณ 5,500 เมตร”

แม้จะต้องใช้เวลาอีกหลายวันกว่าจะน้ำคราบน้ำมันขึ้นฝั่งและตรวจสอบจนได้ข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ ฮุสตัน ไม่เชื่อว่าน้ำมันเหล่านี้จะรั่วไหลออกมาจากเรือค้นหาลำใดลำหนึ่ง

เที่ยวบิน MH370 ของมาเลเซียแอร์ไลน์ส นำผู้โดยสารและลูกเรือ 239 ชีวิตออกเดินทางจากสนามบินนานาชาติกัวลาลัมเปอร์เมื่อกลางดึกของวันที่ 8 มีนาคม เพื่อจะเดินทางไปยังกรุงปักกิ่ง ทว่าเครื่องบินได้สูญหายไปจากจอเรดาร์อย่างปริศนา

ปฏิบัติการค้นหาเครื่องบินลำนี้ผ่านมานาน 38 วันโดยแทบไม่มีความคืบหน้า ขณะที่แบตเตอรีของกล่องดำจะส่งสัญญาณระบุตำแหน่งของมันเพียงราวๆ 30 วันเท่านั้น

บลูฟิน-21 เป็นยานไร้คนขับติดตั้งอุปกรณ์โซนาร์ที่ผลิตในสหรัฐฯ ความยาว 4.93 เมตร น้ำหนัก 750 กิโลกรัม และสามารถดำลงไปใต้ทะเลที่ความลึกสูงสุด 4,500 เมตร ซึ่งพอๆ กับความลึกของมหาสมุทรในจุดที่เรือโอเชียนชิลด์พบสัญญาณ Ping

บลูฟิน-21 จะถูกส่งลงไปสำรวจพื้นมหาสมุทรในพื้นที่ราว 40 ตารางกิโลเมตรรอบๆ จุดที่พบสัญญาณ Ping แต่ ฮุสตัน ก็เตือนให้ทุกฝ่ายเตรียมใจล่วงหน้าว่า การทำงานของยานดำน้ำไร้คนขับจะใช้เวลาค่อนข้างมาก โดยภารกิจแต่ละครั้งจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 24 ชั่วโมง

ยานดำน้ำชนิดนี้จะใช้เวลาราว 2 ชั่วโมงเพื่อเดินทางไปยังก้นมหาสมุทร จากนั้นจะเก็บข้อมูลแผนที่ใต้น้ำแบบ 3 มิติอีกราวๆ 16 ชั่วโมง และใช้เวลาอีก 2 ชั่วโมงเพื่อกลับสู่ผิวน้ำ

หลังจากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนของการดาวน์โหลดและวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งต้องใช้เวลาอีกประมาณ 4 ชั่วโมงจึงจะแล้วเสร็จ
พล.อ.อ. แองกัส ฮุสตัน ผู้นำศูนย์ปฏิบัติการร่วม JACC ของออสเตรเลีย


กำลังโหลดความคิดเห็น