xs
xsm
sm
md
lg

ตัวเลขการค้า “จีน” ดิ่งฮวบผิดคาด ตอกย้ำความกังวล ศก.ชะลอตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - ยอดส่งออกและนำเข้าของแดนมังกรไหลรูดลงหนักในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกแห่งนี้กำลังเผชิญแรงต้านจากการแข่งขันที่ดุเดือดภายในภูมิภาค ตลอดจน “แรงเสียดทาน” จากคู่ค้ารายสำคัญ นอกจากนั้นข้อมูลตัวเลขนี้ยังเพิ่มความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตชะลอตัวลงของจีน

กรมศุลกากรจีนแถลงเมื่อวันพฤหัสบดี (10 เม.ย.) ว่า ยอดนำเข้าประจำเดือนมีนาคมลดลง 11.3% เทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว โดยอยู่ที่ 162,400 ล้านดอลลาร์ ส่วนยอดส่งออกขยับลง 6.6% เหลือ 170,100 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้จีนมียอดเกินดุลการค้า 7,700 ล้านดอลลาร์ จากที่ขาดดุลผิดคาด 884 ล้านดอลลาร์ในเดือนมีนาคม 2013

ข้อมูลนี้สวนทางโดยสิ้นเชิงกับการคาดการณ์ของพวกนักวิเคราะห์ที่สำรวจโดยสำนักข่าวดาวโจนส์ นิวส์ไวร์ ที่เล็งว่ายอดส่งออกจะเพิ่มขึ้น 4.2% และยอดนำเข้าเพิ่มขึ้น 2.8% ขณะเดียวกัน ตัวเลขเช่นนี้ยังเป็นการตอกย้ำให้เห็นภาวะการเติบโตชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ จีนก็ขาดดุลการค้าผิดคาดสูงสุดเป็นประวัติการณ์เกือบๆ 23,000 ล้านดอลลาร์ อีกทั้งยังเป็นการขาดดุลครั้งแรกในรอบ 11 เดือนของแดนมังกร แต่เจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่าเนื่องจากเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับเทศกาลตรุษจีนที่มีวันหยุดยาว ดังนั้นจึงยังไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงของภาวะการส่งออก-นำเข้า

สำหรับในคราวนี้ เจิ้ง เย่วเซิง โฆษกกรมศุลกากรแถลงยอมรับว่า การค้ากับต่างประเทศของจีนกำลังเผชิญความยากลำบากบางประการ โดยที่ความได้เปรียบในการแข่งขันของการค้าอย่างเดิมๆ ได้ถูกบั่นทอนโดยปัจจัยลบต่างๆ ซึ่งรวมถึงการแข่งขันรุนแรงขึ้นจากประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคอื่นๆ ตลอดจนการมีความขัดแย้งทางการค้ามากขึ้นกับพวกคู่ค้ารายสำคัญ

อย่างไรก็ดี เจิ้งสำทับว่าอุปสรรคเหล่านี้เป็นเพียงอุปสรรคระยะสั้นเท่านั้น

เมือมองกันตลอดช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ของปีนี้ จีนมียอดเกินดุลการค้า 16,700 ล้านดอลลาร์ ลดฮวบจาก 43,100 ล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว เนื่องจากยอดส่งออกลดลง 3.4% อยู่ที่ 491,300 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ยอดนำเข้าขยับขึ้น 1.6% เป็น 474,600 ล้านดอลลาร์

หลิว ลี่กัง และ เจ้า หาว นักเศรษฐศาสตร์ของเอเอ็นแซด แบงก์ ตั้งข้อสังเกตว่า ยอดส่งออกเดือนมีนาคมอาจสูงกว่าตัวเลขที่ประกาศออกมา เนื่องจากถูกนำไปเปรียบเทียบกับมูลค่าเมื่อปีที่แล้วที่มีการตกแต่งให้สูงเกินจริง เพื่อเลี่ยงมาตรการควบคุมสกุลเงิน และนำรายได้เข้าประเทศเพิ่ม

ลูอิส คูจิส นักเศรษฐศาสตร์ของอาร์บีเอสขานรับว่า หากไม่มีการบิดเบือนข้อมูล ยอดส่งออกในเดือนที่ผ่านมาของจีนอาจขยายตัวถึง 5.2% เท่ากับเกาหลีใต้

แต่สำหรับการนำเข้านั้น จูเลียน อีวานส์-พริตชาร์ด นักเศรษศาสตร์ของแคปิตอล อิโคโนมิกส์ คาดว่ายังคงมีปัญหาจริงๆ กล่าวคือมีการชะลอตัวอย่างทั่วด้านทั้งการนำเข้าเพื่อแปรรูปและการนำเข้าเพื่อส่งออกต่อ รวมถึงการนำเข้าเพื่อการบริโภคภายใ แถมยังมีแนวโน้มว่า การนำเข้าจะเซื่องซึมต่อไปจากการชะลอการใช้จ่ายด้านการลงทุน ซึ่งจะส่งผลกดดันการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์และสินค้าทุน

ความต้องการนำเข้าที่ลดลงของจีนยังอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศอื่นๆ ตั้งแต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงออสเตรเลียและแอฟริกาใต้ ซึ่งป้อนสินแร่เหล็ก ชิ้นส่วน และสินค้าอื่นๆ ให้แก่อุตสาหกรรมแดนมังกร

กระนั้น นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง แสดงความเชื่อมั่นระหว่างร่วมประชุมผู้นำทางการเมืองและเศรษฐกิจทั่วโลกในงานป๋ออ่าว ฟอรัม บนเกาะไห่หนานเมื่อวันพฤหัสบดีว่า ด้วยหลักการที่ประกาศไปแล้วและตัวเลือกด้านนโยบายมากมาย ปักกิ่งสามารถจัดการกับความเสี่ยงและความท้าทายทั้งหลายทั้งปวงที่อาจบังเกิดขึ้นมา

หลี่ยืนกรานปฏิเสธความคาดหวังของผู้คนบางฝ่ายที่ว่า แดนมังกรจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ โดยเขาให้เหตุผลว่า จีนต้องการทุ่มเทกับพัฒนาการอันเข้มแข็งในระยะกลางและระยะยาว มากกว่าการใช้นโยบายกระตุ้นระยะสั้นเพียงเพราะว่าเศรษฐกิจเกิดการผันผวนชั่วคราว

อย่างไรก็ดี เมื่อสัปดาห์ที่แล้วหลี่ได้เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีการประกาศมาตรการต่างๆ รวมถึงการขยายช่วงเวลางดเว้นภาษีสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก การก่อสร้างทางรถไฟ ที่อยู่อาศัยราคาถูก และโครงการอื่นๆ ที่นักวิเคราะห์มองว่า เป็นมาตรการกระตุ้นขนาดย่อมๆ

ผู้นำจีนนั้นต้องการให้อุปสงค์ภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตหลัก เพื่อลดการพึ่งพิงโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่บ่อยครั้งมักเป็นการลงทุนสูญเปล่า แม้คาดว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงในเฉพาะหน้า แต่ก็คุ้มค่าเพื่อแลกกับการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว
กำลังโหลดความคิดเห็น