xs
xsm
sm
md
lg

เรือค้นหาไม่พบสัญญาณกล่องดำเพิ่ม เชื่องบตามหา MH370 พุ่งหลัก $ร้อยล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - หัวหน้าทีมประสานงานการค้นหาระบุในวันอังคาร (8 เม.ย.) ว่ายังไม่สามารถตรวจจับสัญญาณใต้น้ำใหม่ๆ ซึ่งคาดหวังกันว่าน่าจะมาจากกล่องดำของเที่ยวบิน MH370 เพิ่มเติมขึ้นอีก และดังนั้นจะต้องใช้เวลาอีกหลายวันเพื่อค้นหาตำแหน่งที่เครื่องบินตก ขณะเดียวกัน มีการประเมินว่า ปฏิบัติการครั้งนี้มีค่าใช้จ่ายแล้วอย่างน้อย 44 ล้านดอลลาร์ และตัวเลขสุดท้ายอาจบานปลายเป็นหลายร้อยล้านดอลลาร์ ถือเป็นสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์การบินโลก

สัญญาณที่อุปกรณ์ค้นหาไฮเทคของกองทัพเรืออเมริกัน ซึ่งลากจูงโดยเรือโอเชียน ชิลด์ของกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย สามารถตรวจพบ 2 ครั้งเมื่อวันเสาร์และอาทิตย์ที่ผ่านมา (5-6 เม.ย.) โดยปรากฏว่าอยู่ในย่านความถี่สอดคล้องกับสัญญาณจากกล่องดำของเครื่องบินนั้น ได้ช่วยฟื้นความหวังขึ้นมาอีกครั้งว่า ใกล้จะพบซากเครื่องบินที่คาดว่าจะจมอยู่ใต้มหาสมุทรอินเดียนี้แล้ว โดยที่จะมีการส่ง “บลูฟิน-21” ซึ่งเป็นยานดำน้ำขนาดเล็กที่ทำงานโดยไม่ต้องใช้คนขับ ลงไปสำรวจต่อไป

ทว่า พล.อ.อ.แองกัส ฮุสตัน อดีตผู้บัญชาการกองทัพออสเตรเลีย ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมประสานงานการค้นหา แถลงว่า แม้สัญญาณ ping ที่ตรวจพบในวันเสาร์และวันอาทิตย์ ถือเป็นพัฒนาการที่น่าตื่นเต้น แต่ยังจำเป็นต้องให้เรือและเครื่องบินออกค้นหาต่ออีกหลายวัน เพราะหากสามารถจับสัญญาณเพิ่มเติมได้อีก ก็จะช่วยให้ลดขอบเขตการค้นหาให้แคบลง อันจะทำให้การปฏิบัติการของบลูฟิน-21 มีประสิทธิภาพเต็มที่ ทั้งนี้การออกค้นหาดังกล่าว จะกระทำไปจนถึงจุดที่แน่ใจว่าแบตเตอรี่ของกล่องดำหมดพลังงานแล้ว โดยที่เมื่อถึงจุดนั้นก็ยังไม่ได้อะไรเพิ่มเติม ก็จำเป็นจะมีการส่งบลูฟิน-21 ลงไปค้นหาต่อไป

เขาบอกด้วยว่า ล่าสุดยังไม่พบสัญญาณเพิ่มเติมที่จะช่วยระบุตำแหน่งตกลงทะเลของเครื่องบินโดยสารในเที่ยวบิน MH370 นี้
ปฏิบัติการค้นหาเที่ยวบินMH370 ทั้งทางอากาศ ทางเรือและใต้น้ำ กำลังถูกจารึกในประวัติศาสตร์ของโลก
เครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 777 ในเที่ยวบินดังกล่าวของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ส ได้สูญหายไปหลังออกจากสนามบินกัวลาลัมเปอร์เพื่อมุ่งหน้าสู่ปักกิ่งเมื่อวันที่ 8 เดือนที่แล้ว และการค้นหาขณะนี้อยู่ในอาณาบริเวณเสี้ยววงกลม 600 กิโลเมตร ของส่วนด้านใต้สุดของมหาสมุทรอินเดีย

ฮุสตัน เสริมว่า หากปล่อยบลูฟิน-21 ลงปฏิบัติภารกิจใต้ทะเลตั้งแต่ตอนนี้ จะใช้เวลาหลายวันมาก เนื่องจากการค้นหาใต้ทะเลเป็นภารกิจที่ช้ามาก

หลังจากปล่อยลงทะเลแล้ว หากอุปกรณ์โซนาร์ของบลูฟิน-21 ตรวจพบสิ่งผิดปกติ ยานดำน้ำขนาดเล็กนี้จะขึ้นสู่ผิวน้ำและกลับลงไปอีกครั้งพร้อมกล้องวิดีโอเพื่อบันทึกภาพ

สำหรับบริเวณที่เรือโอเชียน ชิลด์ค้นหาในขณะนี้ อยู่ทางตอนเหนือสุดของอาณาบริเวณค้นหาที่กำหนดไว้ น่านน้ำบริเวณนี้มีความลึกเฉลี่ย 4,500 เมตร พอดีกับขีดจำกัดการทำงานของบลูฟิน-21 ที่ออกแบบมาสำหรับการสำรวจใต้ทะลึก

สำหรับด้านใต้สุดของพื้นที่ค้นหา ซึ่งเรือไห่ซุ่น-01 ของจีนตรวจพบสัญญาณใต้น้ำเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วนั้น เป็นความรับผิดชอบของเรือเอชเอ็มเอส เอ็กโคของอังกฤษ

ฮุสตันยังระบุว่า สัญญาณที่โอเชียน ชิลด์ตรวจพบมีความเป็นไปได้มากที่สุด และเสริมว่า ผู้ผลิตกล่องดำได้ให้ข้อมูลว่า ความถี่ของสัญญาณจากกล่องดำอาจเปลี่ยนไปตามแรงดันใต้ทะเลและพลังงานของแบตเตอรี่

ทางด้าน วิลเลียม มาร์กส์ ผู้บัญชาการกองเรือที่ 7 ของสหรัฐฯ ขานรับว่า สัญญาณที่จับได้ซึ่งมีความแรงในครั้งแรกและอ่อนลงในครั้งที่ 2 บ่งชี้ว่า ทีมค้นหาเข้าใกล้จุดที่เครื่องบินตกแล้ว

ในส่วนของการปฏิบัติการค้นหาในวันอังคาร (8) มีเครื่องบินทหาร 11 ลำและเครื่องบินพลเรือน 3 ลำ ร่วมออกทำงานในพื้นที่ค้นหาซึ่งอยู่ห่างจากเมืองเพิร์ธ, รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 2,300 กิโลเมตร

ขณะเดียวกัน ญาติๆ ของพวกผู้โดยสารในเที่ยวบิน MH370 ที่ราว 2 ใน 3 เป็นชาวจีน ได้ร่วมกันจุดเทียนรำลึกในวาระครบรอบ 1 เดือนที่เครื่องบินลำนี้สูญหาย และพยายามปลอบโยนกันและกันระหว่างที่รอการค้นหาเครื่องบินอย่างทุกข์ทรมาน

ในอีกด้านหนึ่ง สำนักข่าวรอยเตอร์ได้ประเมินค่าใช้จ่ายในปฏิบัติการค้นหา MH370 โดยอิงกับข้อมูลสถิติของกองทัพเกี่ยวกับต้นทุนทรัพย์สินต่อชั่วโมงที่ประเมินโดยนักวิเคราะห์ด้านกลาโหม และต้นทุนที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ รายงาน

รอยเตอร์ระบุว่า ภายใน 1 เดือนที่ผ่านมา เครื่องบินและเรือจากออสเตรเลีย จีน อเมริกา และเวียดนาม ซึ่งเข้าร่วมปฏิบัติการนี้ใช้เงินไปแล้วอย่างน้อย 44 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นปฏิบัติการค้นหาที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์การบิน ท่ามกลางความร่วมมือจาก 26 ประเทศที่ส่งเครื่องบิน เรือ เรือดำน้ำ ดาวเทียมร่วมสนับสนุน

ตัวเลขนี้เท่ากับค่าใช้จ่ายอย่างเป็นทางการในการค้นหาเที่ยวบิน AF447 ของแอร์ ฟรานซ์ที่ตกกลางมหาสมุทรแอตแลนติกเมื่อปี 2009 และใช้เวลาค้นหานานหลายเดือน

เช่นเดียวกับที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ต้นทุนที่แท้จริงของแอร์ฟรานซ์ อาจสูงกว่าตัวเลขที่เปิดเผย ค่าใช้จ่ายในการค้นหา MH370 ทั้งหมดจนสิ้นสุดปฏิบัติการ ก็มีแนวโน้มบานปลายเป็นหลายร้อยล้านดอลลาร์

รอยเตอร์ยังระบุว่า ตัวเลขที่ประเมินที่ 44 ล้านดอลลาร์ยังไม่รวมทรัพย์สินด้านการทหารทั้งหมด และต้นทุนอื่นๆ เช่น เครื่องบินพลเรือน ที่พักสำหรับบุคลากรนับร้อยคน และค่าใช้จ่ายในการวิเคราะห์ข่าวกรองทั่วโลก

แม้ผู้นำออสเตรเลียซึ่งรับบทนำในการค้นหา และผู้นำมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่เครื่องบินจดทะเบียน ย้ำว่า ค่าใช้จ่ายไม่ใช่ปัญหา ทว่า นายกรัฐมนตรี โทนี แอ็บบอตต์ ของออสเตรเลียที่รับภาระค่าใช้จ่ายถึงครึ่งหนึ่ง เนื่องจากพื้นที่ค้นหาอยู่ภายในน่านน้ำของประเทศ เริ่มส่งสัญญาณว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งอาจต้องเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากปฏิบัติการนี้ แต่สำทับว่า แคนเบอร์รายินดีให้ความช่วยเหลือแก่ทุกประเทศเท่าที่สามารถทำได้

ผู้สนับสนุนสำคัญรองลงมาคือ จีน และสหรัฐฯ โดยสัปดาห์ที่แล้ว เพนตากอนเผยว่า ใช้จ่ายกับการณ์นี้ไปแล้วกว่า 3.3 ล้านดอลลาร์ และมีแผนเพิ่มงบประมาณอีกเกือบสองเท่าตัวจากเป้าหมายเดิม 4 ล้านดอลลาร์
กำลังโหลดความคิดเห็น