เอ็นบีซีนิวส์/เอเจนซีส์ - รัฐมนตรีคมนาคมมาเลเซียเมื่อวันจันทร์ (7 เม.ย.) เรียกสัญญาณ ping ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับเที่ยวบิน MH370 ว่าเป็นเบาะแสที่ให้ความหวังที่สุดเท่าที่เคยมีมา และบอกไม่ตัดโอกาสความเป็นไปได้ว่าอาจมีผู้โดยสารบางส่วนยังมีชีวิตอยู่
“ปาฏิหาริย์สามารถเกิดขึ้นได้” นายฮิชามุดดิน ฮุสเซน รัฐมนตรีกลาโหมและรักษาการรัฐมนตรีคมนาคมมาเลเซีย แถลงกับผู้สื่อข่าวสั้นๆ ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ “เรายังคงหวังและภาวนาให้มีผู้รอดชีวิต เรายังมีหวังแม้โอกาสจะเลือนราง”
ความเห็นดังกล่าวของนายฮิชามุดดิน มีขึ้นหลังจากมีผู้สื่อข่าวรายหนึ่งถามว่าเป็นไปได้ไหมที่บางทีเครื่องบินของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลนส์ลำนี้ได้ลงจอดบนผืนน้ำ เปิดทางให้ลูกเรือและผู้โดยสารอพยพหนีขึ้นแพยาง อย่างไรก็ตาม เขาตั้งข้อสังเกตว่าในเบาะแสที่ได้รับจากดาวเทียมไม่ได้บ่งบอกหรือแสดงให้เห็นว่ามีผู้รอดชีวิต
นายฮิชามุดดินแถลงต่อไปด้วยว่า คณะผู้สืบสวนตั้งความหวังอย่างระมัดระวังว่าในอีกไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วันข้างหน้าจะมีข่าวเพิ่มเติมว่าสัญญาณที่สอดคล้องกับสัญญาณบอกตำแหน่งจากกล่องดำเครื่องบินโบอิ้งซึ่งตรวจพบในวันอาทิตย์ (6) จะเกี่ยวข้องกับเที่ยวบินที่สูญหาย “ผมร้องขอให้ประชาชนชาวมาเลเซียร่วมกันสวดมนต์ภาวนาและอย่าละทิ้งความหวัง” เขากล่าว “เราเคยได้รับและผ่านเบาะแสคดเคี้ยวบางอย่างกว่านี้มาแล้ว แต่เบาะแสใหม่นี้ ผมมองในแง่บวกมากกว่าเดิม”
เครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 777 บรรทุกผู้โดยสารและลูกเรือ 239 คน สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอยขณะกำลังมุ่งหน้าสู่จุดหมายปลายทางกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม
ทั้งนี้ ความเห็นของนายฮิชามุดดินมีขึ้นหลังจากพลอากาศเอกนอกราชการ แองกัส ฮุสตัน อดีตผู้บัญชาการกองทัพออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ประสานงานการค้นหาเที่ยวบิน MH370 แถลงในวันเดียวกันว่าเครื่องระบุตำแหน่งสัญญาณปิงของกล่องดำ (ทีพีแอล) ที่ยืมมาจากกองทัพเรือสหรัฐ ซึ่งลากโยงจากเรือโอเชียนชีลด์ของออสเตรเลีย สามารถตรวจจับสัญญาณเสียงที่สอดคล้องกับสัญญาณที่ปล่อยออกมาจากกล่องดำของเครื่องบิน และบอกว่าการตรวจจับได้ครั้งนี้ถือเป็นความคืบหน้าที่ให้ความหวังมากที่สุดตลอดปฏิบัติการค้นหา และอาจเป็นข้อมูลที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา
โอเชียนชิลด์ตรวจจับสัญญาณเสียงนี้ได้ 2 ครั้ง ครั้งแรกนั้นกินเวลานานถึง 2 ชั่วโมง 20 นาที ก่อนที่สัญญาณจะขาดหายไป เมื่อเรือวนกลับย้อนเส้นทางเดิมก็ตรวจจับสัญญาณได้อีก คราวนี้กินเวลา 13 นาที ฮุสตันเผยว่า สัญญาณที่รับได้ในครั้งที่ 2 นั้นเป็นสัญญาณ ping ที่ต่างกัน ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจส่งออกมาจากทั้งกล่องบันทึกข้อมูลการบินและกล่องบันทึกการสื่อสารในห้องนักบิน ซึ่งมีตัวส่งสัญญาณแยกกัน
“นี่ถือเป็นเบาะแสที่ให้ความหวังมากที่สุด และอาจจะเป็นข้อมูลที่ดีที่สุดที่เราได้มาในการค้นหาจนถึงขณะนี้” ฮุสตันกล่าว เขาชี้ด้วยว่าเสียงที่ส่งออกมาจากใต้ทะเลลึกของมหาสมุทรอินเดีย แสดงให้เห็นว่าการค้นหาโดยเรือและเครื่องบินของหลายประเทศเข้าใกล้ถึงจุดที่ควรจะเป็นมากแล้ว “ผมมีความคาดหวังในทางบวกมากขึ้นกว่าเมื่อ 1 สัปดาห์ก่อน”
พัฒนาการคืบหน้าล่าสุดนี้ เกิดขึ้นควบคู่กับเส้นตายที่แบตเตอรี่เครื่องส่งสัญญาณระบุตำแหน่งของกล่องดำทั้ง 2 กล่องจะหมดลงเมื่อครบ 30 วันในวันเดียวกัน
โอเชียนชิลด์กำลังออกปฏิบัติการอยู่ในทะเล ห่างจากเมืองเพิร์ทของออสเตรเลียไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 1,680 กิโลเมตร สัญญาณที่จับได้นั้นส่งออกมาจากความลึก 4,500 เมตร โดยฮุสตันกล่าวว่า นอกจากการพบสัญญาณ 2 รอบนั้นแล้ว ทีพีแอลยังไม่สามารถตรวจจับสัญญาณได้อีก การระบุตำแหน่งที่แน่นอนของสัญญาณนั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับขั้นตอนต่อไป คือการส่งยานค้นหาใต้น้ำ “บลูฟิน-21” ลงไปสำรวจพื้นทะเล ยานลำนี้มีพิสัยทำการจำกัดแค่ 4,500 เมตร ซึ่งเท่ากับความลึกที่ตรวจจับสัญญาณได้
กระนั้น ฮุสตันเตือนว่าขั้นตอนถัดไปนี้จะต้องใช้เวลาพอสมควร และอาจต้องใช้เวลาหลายวันก่อนที่จะมีข้อมูลมายืนยันได้ว่า สัญญาณที่ตรวจจับได้นั้นมาจากเที่ยวบิน MH370 “ในมหาสมุทรที่ลึกมากๆ อะไรก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว” เขากล่าว พร้อมกับชี้ว่า เที่ยวบิน 447 ของแอร์ฟรานซ์ที่ตกในมหาสมุทรแอตแลนติกเมื่อปี 2552 นั้นยังต้องใช้เวลาค้นหากล่องดำถึง 2 ปี ทั้งๆ ที่พบซากเครื่องบินไม่นานหลังจากเครื่องสูญหาย ขณะที่กรณีนี้ยังไม่พบซากเครื่องบินเลย