xs
xsm
sm
md
lg

เรือออสซีตรวจพบสัญญาณใต้น้ำชี้มีลุ้นสูงสุดเข้าใกล้จุดตก MH370

เผยแพร่:   โดย: MGR Online





เอเจนซีส์ - เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบของออสเตรเลียยืนยันในวันจันทร์ (7 เม.ย.) เรือของกระทรวงกลาโหมแดนจิงโจ้สามารถจับสัญญาณใต้น้ำล่าสุดอีก 2 ครั้ง ซึ่งสอดคล้องกับสัญญาณ ping จากกล่องดำของเที่ยวบิน MH370 ถือเป็นความคืบหน้าที่ให้ความหวังมากที่สุด ในการปฏิบัติการค้นหาเครื่องบินของมาเลเซีย แอร์ไลนส์ที่หายปริศนา 1 เดือนเต็ม อย่างไรก็ดี การยืนยันว่าสัญญาณดังกล่าวมาจากโบอิ้ง 777 ลำนี้อย่างแน่นอน อาจต้องใช้เวลาอีกหลายวัน

พล.อ.อ.แองกัส ฮุสตัน อดีตผู้บัญชาการกองทัพออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ประสานงานการค้นหาเที่ยวบิน MH370 กล่าวเมื่อวันจันทร์ (7) ว่า สัญญาณที่เรือโอเชียน ชิลด์ ของกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย ตรวจจับได้ถือเป็นความคืบหน้าที่ให้ความหวังมากที่สุดตลอดปฏิบัติการค้นหานี้ และอาจเป็นข้อมูลที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา

“เรามีทั้งภาพบนเรดาร์ และตอนนี้เรายังมีสัญญาณเสียง สำหรับผม สัญญาณเสียงเหมือนมาจากอุปกรณ์บอกตำแหน่งฉุกเฉิน และดูเหมือนเราเข้าใกล้บริเวณที่เราจำเป็นต้องไปถึงเป็นอย่างมากแล้ว”

การปฏิบัติการค้นหานานหนึ่งเดือนที่คว้าน้ำเหลวเรื่อยมา เริ่มมีความหวังอีกครั้งเมื่อ โอเชียน ชิลด์ ที่ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับเสียงไฮเทคของกองทัพเรืออเมริกัน จับสัญญาณได้ 2 ครั้งๆ แรกในคืนวันเสาร์ (5) และอีกครั้งรุ่งเช้าวันอาทิตย์ (6) ณ บริเวณห่างจากชายฝั่งด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเพิร์ท, รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ราว 1,680 กิโลเมตร ซึ่งเป็นบริเวณที่การวิเคราะห์ข้อมูลจากดาวเทียมบ่งชี้ว่า มีแนวโน้มมากที่สุดที่ MH370 ตกหลังจากสูญหายไปตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม

สัญญาณครั้งแรกกินเวลา 2 ชั่วโมง 20 นาทีก่อนเงียบหาย และเรือโอเชียน ชิลด์ วนกลับไปค้นหาสัญญาณอีกครั้ง คราวนี้พบสัญญาณ “ping” 2 ชุดต่างกัน นาน 13 นาที ซึ่งสอดคล้องกับสัญญาณที่ปล่อยจากอุปกรณ์บันทึกการบินและอุปกรณ์บันทึกเสียงในห้องนักบิน

กล่องดำบันทึกข้อมูลในห้องนักบินอาจให้คำตอบว่า มีอะไรเกิดขึ้นกับเที่ยวบินดังกล่าว โดยที่จากข้อมูลทั้งหมดเท่าทีมีอยู่ในตอนนี้ ทำให้มีความเชื่อกันว่า เที่ยวบินนี้ได้เปลี่ยนเส้นทางโดยเจตนาจากเดิมที่มีปลายทางที่ปักกิ่ง

กระนั้น ฮุสตันตั้งข้อสังเกตว่า ยังเร็วเกินไปที่จะระบุว่า สัญญาณซึ่งเรือออสเตรเลียจับได้ดังกล่าวมาจาก MH370 จริงๆ และการค้นหาเพื่อยืนยันเรื่องนี้อาจใช้เวลานานหลายวัน

ทางด้าน นาวาเอกมาร์ก แมทธิวส์ จากกองทัพเรือสหรัฐฯ เสริมว่า กล่องดำทั้งสองแบบในเครื่องบินพาณิชย์จะปล่อยความถี่ที่ระดับ 37.5 กิโลเฮิร์ตซ์ และสัญญาณที่โอเชียน ชิลด์จับได้มีความถี่ 33.3 กิโลเฮิรตซ์ทั้งสองสัญญาณ กระนั้น จากการสอบถามไปยังผู้ผลิตกล่องดำได้รับคำตอบว่า ความถี่อาจอ่อนลงเนื่องจากแบตเตอรี่ของกล่องดำใกล้หมดพลังงาน ซึ่งปกติแล้ว แบตเตอรี่จะอยู่ได้ 30 วันหลังจากเครื่องบินตก และวันอังคาร (8 เม.ย.) ก็จะเป็นวันครบรอบ 1 เดือนพอดีที่เครื่องบินลำนี้สูญหายไร้ร่องรอยพร้อมกับผู้โดยสารและลูกเรือ 239 คน

ล่าสุด โอเชียน ชิลด์กำลังตรวจสอบพื้นที่บริเวณเล็กๆ แถบนี้อย่างละเอียดเพื่อค้นหาสัญญาณอีกครั้ง ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีกหนึ่งวัน และหากตรวจพบ จะส่ง บลูฟิน-21 ซึ่งเป็นยานดำน้ำไร้คนขับลงไปสำรวจ โดยบลูฟิน-21 มีความสามารถในการสร้างแผนที่โซนาร์ระบุพิกัดที่ซากเครื่องบินอาจจมอยู่ก้นทะเล และหากทำแผนที่สนามซากเครื่องบินเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่จึงจะส่งระบบโซนาร์พร้อมกล้องลงไปถ่ายภาพซากเหล่านั้น

อย่างไรก็ดี บลูฟินสามารถดำลงไปลึกเพียง 4,500 เมตร ซึ่งเป็นระดับความลึกเฉลี่ยของน่านน้ำบริเวณดังกล่าว หมายความว่า เรือดำน้ำลำนี้สามารถปฏิบัติภารกิจในศักยภาพค่อนข้างจำกัด

เจฟฟ์ เดลล์ ผู้นำสาขาการสอบสวนอุบัติเหตุของมหาวิทยาลัยเซนทรัล ควีนส์แลนด์ ในออสเตรเลีย แสดงความเห็นว่า หากเสียงที่ตรวจจับได้จะมาจากสิ่งอื่นใดนอกเหนือจากกล่องดำของเครื่องบิน ก็จะต้องถือเป็นความบังเอิญอย่างเหลือเกิน

กระนั้นในมุมมองของ อเล็ก ดันแคน ผู้เชี่ยวชาญเสียงใต้น้ำจากศูนย์เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยเคอร์ทิน ในเพิร์ท ตั้งข้อสังเกตว่า แม้สัญญาณเสียงที่ตรวจจับได้บ่งชี้ความหวัง แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะยืนยันว่า มาจาก MH370 เว้นแต่จะพบซากเครื่องบินเท่านั้น

ขณะเดียวกัน เรือเอชเอ็มเอส เอ็กโค ของอังกฤษ กำลังใช้อุปกรณ์ระบุตำแหน่งเสียงที่ซับซ้อนเพื่อสรุปว่า เสียงที่เรือไห่ซุ่น 01 ของจีนตรวจพบเมื่อวันศุกร์และเสาร์ที่ผ่านมา ห่างจากบริเวณที่โอเชียน ชิลด์ตรวจพบประมาณ 555 กิโลเมตรนั้น เกี่ยวข้องกับ MH370 หรือไม่

นอกจากนั้น การปฏิบัติการค้นหายังคงดำเนินต่อไปตามปกติในวันจันทร์ โดยประกอบด้วยเครื่องบิน 12 ลำ และเรือ 14 ลำ แยกกันค้นหาใน 3 พื้นที่ที่หนึ่งทับซ้อนกับบริเวณที่โอเชียน ชิลด์ทำการค้นหาใต้น้ำ อีกพื้นที่คือบริเวณที่เรือไห่ซุ่น 01 ตรวจพบสัญญาณ
กำลังโหลดความคิดเห็น