xs
xsm
sm
md
lg

นานาชาติเพิ่มค้นหาเที่ยวบิน MH370 ญาติผู้โดยสารถึง KL บีบ “ขอคำตอบ” จากมาเลเซีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรือ “โอเชียน ชีลด์” ของกองทัพเรือออสเตรเลีย ขณะจอดอยู่ที่ฐานทัพเรือสเตอร์ลิง ใกล้ๆ เมืองเพิร์ท, ออสเตรเลีย เมื่อวันอาทิตย์ (30) เพื่อนำเอาอุปกรณ์ไฮเทคของสหรัฐฯมาติดตั้ง อันได้แก่  เครื่องค้นหาสัญญาณกล่องดำที่ทำงานด้วยการใช้เรือลากจูง (towed pinger locator) และยานใต้น้ำแบบไร้คนขับ (โดรนใต้น้ำ)
เอเจนซีส์ – นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียแถลงในวันอาทิตย์ (30 มี.ค.) ว่า เขาคาดหวังที่จะได้เห็นเบาะแสร่องรอยปรากฏขึ้นมาในเร็ววันนี้ ซึ่งจะช่วยให้สามารถจำกัดพื้นที่ในการค้นหาเครื่องบินสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์เที่ยวบิน MH370 ให้แคบลงมาอีก ในเวลาเดียวกับที่ทีมค้นหากล่องดำติดตั้งอุปกรณ์ไฮเทคอเมริกันเตรียมตัวออกปฏิบัติการ ขณะเดียวกัน ญาติๆ ของผู้โดยสารจีนอีกจำนวนหนึ่งก็ได้เดินทางถึงกัวลาลัมเปอร์แล้วเพื่อกดดันทางการเสือเหลืองเกี่ยวกับปฏิบัติการในการค้นหาและการสืบสวนสอบสวน

ในวันอาทิตย์ มีเรือ 8 ลำ และเครื่องบินอีก 10 ลำจาก 6 ประเทศ ออกค้นหาในอาณาบริเวณกว้างขวางของมหาสมุทรอินเดีย ณ จุดซึ่งอยู่ห่างไปทางตะวันตกของเมืองเพิร์ท ประมาณ 1,850 กิโลเมตร หลังจากผ่านพ้นไปกว่า 3 สัปดาห์แล้วที่เที่ยวบิน MH370 สูญหายอย่างเป็นปริศนา โดยที่มีการสันนิษฐานว่า เครื่องบินตกในบริเวณดังกล่าวนี้ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ห่างไกลการคมนาคมขนส่งที่สุดของโลก

ขณะที่ เรือ “โอเชียน ชิลด์” ของกองทัพเรือออสเตรเลีย ซึ่งติดตั้งอุปกรณ์ค้นหาไฮเทคของกองทัพสหรัฐฯ ทั้งเครื่องค้นหาสัญญาณกล่องดำที่ทำงานด้วยการใช้เรือลากจูง (ทีพีแอล) และทั้งยานใต้น้ำแบบไร้คนขับ (โดรนใต้น้ำ) พร้อมสรรพแล้ว มีกำหนดออกจากฐานทัพเรือสเตอร์ลิงใกล้ๆ เมืองเพิร์ท ในวันอาทิตย์ (30) และคาดว่า จะเดินทางถึงบริเวณค้นหาที่มีความกว้างขวางพอๆ กับประเทศนอร์เวย์ภายใน 3-4 วันนี้

นาวาเอก มาร์ก แมทธิวส์ แห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมเครื่องทีพีแอล แถลงก่อนเรือออกเดินทางว่า การขาดข้อมูลตำแหน่งที่เครื่องบินตกนั้นเป็นสิ่งที่บั่นทอนความสามารถในการค้นหาของ ทีพีแอล เป็นอย่างมาก ขณะนี้โดยพื้นฐานแล้วบริเวณที่ทำการค้นหาก็คือมหาสมุทรอินเดียทั้งหมด ซึ่งทำให้มีแนวโน้มว่าอาจต้องใช้เวลานานมากๆ

แมทธิวส์เปรียบเทียบกับกรณีการค้นหาเที่ยวบิน 447 ของแอร์ฟรานซ์ที่ตกในทะเลใกล้ๆ บราซิล ซึ่งยังมีข้อมูลมากกว่าเกี่ยวกับตำแหน่งเครื่องบินตก แต่ก็ต้องใช้เวลาค้นหากว่า 2 ปี
ภาพที่ถ่ายโดยเครื่องบินตรวจการณ์ P-3K2 โอไรออน ของกองทัพอากาศนิวซีแลนด์ เมื่อวันเสาร์ (29) แสดงให้เห็นวัตถุต้องสงสัยลอยน้ำอยู่ในบริเวณด้านใต้ของมหาสมุทรอินเดีย แต่ผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏว่าไม่ใช่เป็นเศษซากของเที่ยวบิน MH370 แต่อย่างใด
สำหรับการค้นหาของเรือและเครื่องบินนั้น มีการค้นพบวัตถุต้องสงสัยจำนวนหนึ่งในช่วง 2 วันที่ผ่านมา นับแต่ที่ทางการออสเตรเลียได้โยกย้ายพื้นที่ค้นหาให้ขยับใกล้เข้ามาอีกราว 1,100 กิโลเมตร หลังการวิเคราะห์ข้อมูลจากเรดาร์และดาวเทียมได้ข้อสรุปว่า โบอิ้ง 777 ในเที่ยวบิน MH 370 ลำนี้ จริงๆ แล้วตั้งแต่ที่หายลับจากจอเรดาร์ฝ่ายพลเรือนในวันที่ 8 ที่ผ่านมา ได้เดินทางมุ่งออกไปสู่มหาสมุทรอินเดียด้วยความเร็วสูงกว่าที่คะเนกันในตอนแรก และดังนั้นจึงควรที่จะน้ำมันหมดและตกลงทะเลในระยะที่ใกล้ฝั่งกว่าที่คำนวณกันไว้เดิมด้วย อย่างไรก็ดี จวบจนถึงเวลานี้ยังไม่มีวัตถุต้องสงสัยชิ้นใดได้รับการยืนยันว่า เป็นชิ้นส่วนจากMH 370

การค้นหาครั้งนี้ที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือที่ไม่เคยมีมาก่อนระหว่างประเทศต่างๆ กว่า 20 ประเทศ และนับตั้งแต่เริ่มต้นก็มีการใช้เครื่องบินและเรือกันถึง 60 ลำ อย่างไรก็ดี เห็นได้ชัดเจนว่ายังคงมีอุปสรรคสืบเนื่องจากความเป็นปฏิปักษ์ภายในภูมิภาค และความลังเลที่จะแบ่งปันข้อมูลสำคัญเพราะกังวลว่าจะกระทบกระเทือนความมั่นคงของตนเอง

สัปดาห์นี้ ออสเตรเลียที่ได้รับการร้องขอจากมาเลเซีย ให้เป็นผู้ประสานงานการค้นหาในบริเวณตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดียนี้ แถลงว่าได้ออกกฎและแนวทางสำหรับทุกประเทศที่เกี่ยวข้องในการค้นหา โดยให้มีการนำเศษซากต่างๆ ที่พบมาไว้ที่เมืองเพิร์ท และให้เป็นอำนาจของมาเลเซียในการดำเนินการสอบสวน

ในวันอาทิตย์ นายกรัฐมนตรีโทนี แอ็บบอตต์ ของแดนจิงโจ้ ประกาศจัดตั้งหน่วยประสานงานแห่งใหม่ที่ใช้ชื่อว่า ศูนย์ประสานร่วมหน่วยงานต่างๆ (เจเอซีซี) และแต่งตั้งพลอากาศเอกแองกัส ฮูสตัน อดีตผู้บัญชาการกองทัพออสเตรเลีย เป็นผู้นำของหน่วยงานนี้ โดยจะทำหน้าที่ประสานงานการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตลอดจนครอบครัวผู้โดยสาร และสามารถควบคุมความพยายามในการค้นหาและสอบสวนโดยรวม

แอ็บบอตต์ระบุว่า “ความพยายามในการค้นหาที่กำลังเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ” ของนานาชาติเช่นนี้ ควรถือเป็นเรื่องที่ดี และทำให้มีการกู้เอาวัตถุต้องสงสัยต่างๆ ขึ้นมาจากมหาสมุทรมากขึ้นๆ

เขายังให้สัญญาว่า รัฐบาลออสเตรเลียจะไม่หยุดพักจนกว่าจะทำทุกอย่างที่ทำได้แล้วเพื่อให้ญาติของผู้โดยสารและประชาคมโลกสงบสุขมากขึ้นและมีข้อมูลเชิงลึกมากขึ้นเล็กน้อยว่า เกิดอะไรขึ้นกับ 370 กันแน่

บรรดาญาติๆ ของผู้โดยสารชาวจีนในเที่ยวบิน MH370 จำนวนอีกหลายสิบคนเดินทางถึงกัวลาลัมเปอร์ในวันอาทิตย์ (30) โดยพวกเขาตั้งใจที่จะกดดันรัฐบาลมาเลเซียเพิ่มมากขึ้น เพราะยังข้องใจว่าทางการเสือเหลืองไม่เพียงปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยอย่างล่าช้า แต่น่าจะปกปิดข้อมูลความเป็นจริงต่างๆ อีกด้วย
ทั้งนี้ รัฐบาลมาเลเซียนั้นถูกวิจารณ์อย่างหนักมาตลอด โดยเฉพาะจากจีน ซึ่งมีผู้โดยสารบนเที่ยวบินที่หายไปกว่า 150 คน และญาติของคนเหล่านี้กล่าวหาว่า ทางการเสือเหลือง “ล่าช้าและปิดบังความจริง”

ในวันอาทิตย์ ญาติๆ ของผู้โดยสารบนเที่ยวบินดังกล่าวอีก 39 คน ได้เดินทางจากปักกิ่งและเข้าพบเจ้าหน้าที่สถานทูตจีนในกัวลาลัมเปอร์ เพื่อกดดันรัฐบาลมาเลเซียเกี่ยวกับปฏิบัติการค้นหาและสืบสวน หลายคนระบุว่าต้องการคำขอโทษจากทางการมาเลเซีย สำหรับข้อมูลที่สับสนตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้การค้นหาและการกู้ภัยล่าช้า โดยเฉพาะการที่นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค แถลงเมื่อวันที่ 24 โดยอ้างอิงการวิเคราะห์ข้อมูลดาวเทียมและข้อมูลอื่นๆ จากอังกฤษว่า เครื่องบินสูญหายในทะเล

คนเหล่านี้ปฏิเสธที่จะยอมรับคำแถลงดังกล่าว จนกว่าจะค้นพบซากเครื่องบิน
กำลังโหลดความคิดเห็น