เอเอฟพี/เอเจนซี – ปฏิบัติการค้นหาเครื่องบินโดยสารมาเลเซียแอร์ไลน์สที่คาดว่าประสบอุบัติเหตุตกลงกลางมหาสมุทรอินเดียตอนใต้เริ่มขึ้นอีกครั้งในวันนี้ (26) หลังจากสภาพอากาศเริ่มเป็นใจ ขณะที่นักธรณีวิทยาเตือนว่าจุดที่นานาชาติค้นหาเป็น “แนวภูเขาไฟใต้ทะเล” ซึ่งหาก MH370 ตกบริเวณนี้จริงก็อาจทำให้การกู้กล่องดำยากลำบากขึ้น
กระแสลมแรง พายุฝน และท้องทะเลที่ปั่นป่วนเมื่อวานนี้ (25) ทำให้เครื่องบินค้นหาไม่สามารถออกเดินทางจากเมืองเพิร์ทของออสเตรเลียไปยังจุดที่พบวัตถุต้องสงสัยได้ ทว่าวันนี้จะมีเครื่องบินนานาชาติออกไปค้นหาซาก MH370 ด้วยกันถึง 12 ลำ รวมถึงเกาหลีใต้ซึ่งส่งเครื่องบินเข้าร่วมปฏิบัติการค้นหาเป็นครั้งแรก
“ภารกิจในวันนี้จะเป็นการค้นหาใน 3 จุดที่อยู่ใกล้กัน ครอบคลุมพื้นที่ราว 80,000 ตารางกิโลเมตร” สำนักงานความปลอดภัยทางทะเลออสเตรเลีย (AMSA) ซึ่งทำหน้าที่ประสานงานในการค้นหาเครื่องบิน แถลง
เรือรบ เอชเอ็มเอช ซักเซส ของกองทัพเรือออสเตรเลียได้ย้อนกลับเข้าไปยังน่านน้ำที่พบวัตถุต้องสงสัยในสัปดาห์นี้แล้ว ส่วนเรือตัดน้ำแข็ง “เซี่ยหลง” ของจีนก็ถูกส่งไปร่วมค้นหาซากเครื่องบิน เพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่าเที่ยวบิน MH370 ตกลงสู่มหาสมุทรอินเดียจริงตามที่รัฐบาลมาเลเซียแถลงหรือไม่ และเพื่อสืบหาความจริงว่าเหตุใดเครื่องบินลำนี้จึงออกนอกเส้นทาง และสูญหายไปพร้อมผู้โดยสาร 239 ชีวิต เมื่อวันที่ 8 มีนาคม
นายกรัฐมนตรี โทนี แอบบ็อตต์ แห่งออสเตรเลีย ยืนยันว่า การค้นหาซึ่งเวลานี้เข้าสู่โหมดของการกู้เครื่องบินจะไม่ยุติลง จนกว่าจะมั่นใจว่าหมดโอกาสหาเครื่องบินพบ
“เราคงไม่สามารถค้นหาไปเรื่อยๆอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่ภารกิจนี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่เราจะล้มเลิกง่ายๆ เช่นกัน” แอบบ็อตต์ กล่าว
มาร์ค บินสกิน รองผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันออสเตรเลีย ออกมาย้ำเตือนว่า พื้นที่ค้นหาอยู่ห่างไกลจากชายฝั่งตะวันตกของออสเตรเลียและมีขนาดกว้างใหญ่มาก จึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับเครื่องบินที่จะต้องผลัดเปลี่ยนกันออกไปค้นหา
“เวลานี้เราไม่ได้งมเข็มในกองฟาง แต่ต้องหาให้เจอก่อนด้วยซ้ำว่า กองฟางอยู่ที่ไหน”
เจ้าหน้าที่นานาชาติยังเดินหน้าค้นหาวัตถุที่อาจบ่งชี้ถึงจุดตกของเครื่องบิน และหวังว่าจะสามารถกู้ “กล่องดำ” ที่บันทึกข้อมูลการบินขึ้นมาได้
อย่างไรก็ดี ต่อให้ทีมค้นหาพบชิ้นส่วนเครื่องบิน MH370 ลอยอยู่เหนือผิวน้ำ แต่นักธรณีวิทยา โรบิน บีแมน จากมหาวิทยาลัยเจมส์คุก รัฐควีนสแลนด์ ก็เตือนว่า “แนวภูเขาไฟใต้ทะเล” อาจเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้การเก็บกู้ “กล่องดำ” ทำได้ยาก
บีแมน ระบุว่า พื้นที่ค้นหาเครื่องบินอยู่ในแนวสันเขาใต้ทะเลฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของมหาสมุทรอินเดีย (Southeast Indian Ocean Ridge) ซึ่งเป็นจุดที่พื้นมหาสมุทรมีความขรุขระ และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามการไหลของแมกมา
แนวสันเขาใต้สมุทรซึ่งอยู่ลึกลงไปราว 3,000 เมตรเป็นแนวภูเขาไฟที่ “มีพลังมาก” เพราะเป็นจุดที่แผ่นเปลือกโลกแอนตาร์กติกและออสเตรเลเชียนมาชนกันพอดี
“นับเป็นความโชคร้าย หากเครื่องบินลำนี้ไปตกบริเวณรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกใต้มหาสมุทรที่ยังไม่สงบนิ่ง” โรบิน บีแมน ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาใต้ทะเลจากมหาวิทยาลัยเจมส์คุก รัฐควีนสแลนด์ ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี
“พื้นมหาสมุทรบริเวณนั้นทั้งขรุขระ คดโค้ง เต็มไปด้วยร่องขนาดเล็ก และยังไม่มีดินตะกอนทับถมมากนัก เพราะเป็นพื้นที่เกิดใหม่”
บีแมน ระบุด้วยว่า พื้นมหาสมุทรอินเดียตอนใต้เป็นบริเวณที่ไม่เคยมีการสำรวจหรือทำแผนที่โดยละเอียด ดังนั้นการกู้ซากเครื่องบินที่ตกลงไปบริเวณนั้นจะต้องอาศัยเทคโนโลยีแผนที่ 3 มิติ (3D mapping) โดยอาจจะใช้เรือที่ติดตั้งเครื่องมือสำรวจความลึก (Multibeam echo sounders)
วัตถุต้องสงสัยที่เครื่องบินค้นหาพบลอยอยู่ในทะเลหลายจุดตั้งแต่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ทุกฝ่ายมีความหวังว่าจะทราบจุดตกของเครื่องบินเร็วๆ นี้ แต่ล่าสุดก็ยังไม่พบชิ้นส่วนเครื่องบินที่ชัดเจนแม้แต่ชิ้นเดียว
กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ส่งอุปกรณ์ค้นหากล่องดำ รวมถึงโดรนใต้น้ำที่สามารถดำลงไปค้นหาซากเครื่องบินใต้มหาสมุทรลึกหลายพันเมตรได้
มาเลเซียแอร์ไลน์ส แถลงว่า แบตเตอรีในกล่องดำจะส่งสัญญาณระบุตำแหน่งของมันเป็นเวลา 30 วันหลังจากสัมผัสกับน้ำ ซึ่งหมายความว่าทีมค้นหามีเวลาเหลืออีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ที่จะค้นหาจุดตกของเครื่องบินให้เจอ
รัฐบาลมาเลเซียเชื่อว่า เครื่องบินลำนี้น่าจะถูกใครบางคน “จงใจ” บังคับให้ออกนอกเส้นทางกัวลาลัมเปอร์-ปักกิ่ง แต่เนื่องจากยังไม่พบหลักฐานที่แน่ชัดจึงก่อให้เกิดทฤษฎีมากมาย เช่น การจี้เครื่องบิน, นักบินถูกสังหาร หรือวิกฤตร้ายแรงบางอย่างที่ทำให้ลูกเรือไม่สามารถควบคุมเครื่อง และต้องปล่อยให้เครื่องบินเดินทางต่อไปเองด้วยระบบบินอัตโนมัติ (autopilot) จนกระทั่งน้ำมันหมด