xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพเรือสหรัฐฯ ส่งอุปกรณ์ไฮเทคช่วยค้นหา “กล่องดำ” ของเครื่องบิน MH370

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีนเผยภาพวัตถุต้องสงสัยในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ที่ดาวเทียม Gaofen-1 ของจีนตรวจจับได้
รอยเตอร์ - กองทัพเรือสหรัฐฯ ส่งอุปกรณ์ค้นหา “กล่องดำ” ไปยังมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ ซึ่งมีรายงานว่าพบวัตถุต้องสงสัยลอยน้ำที่อาจเป็นชิ้นส่วนของเครื่องบินมาเลเซียแอร์ไลน์สที่หายสาบสูญไปเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ทำให้ความหวังว่าจะพบซากเครื่องบินในเร็วๆ นี้ยิ่งมีความเป็นไปได้สูงขึ้น

เที่ยวบิน MH370 ของมาเลเซียแอร์ไลน์สหายไปจากจอเรดาร์พลเรือนเมื่อกลางดึกของวันที่ 8 มีนาคม หลังพาผู้โดยสารและลูกเรือรวม 239 ชีวิตออกเดินทางจากสนามบินนานาชาติกรุงกัวลาลัมเปอร์เพื่อไปยังกรุงปักกิ่งได้เพียงราวๆ 1 ชั่วโมง

อุปกรณ์ที่เรียกว่า Towed Pinger Locator จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการค้นหากล่องดำของเครื่องบินในกรณีที่สามารถระบุจุดตกที่แน่นอนได้แล้ว โดยเวลานี้ทีมค้นหาของออสเตรเลียและนานาชาติมุ่งความสนใจไปยังน่านน้ำมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองเพิร์ทไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราวๆ 2,500 กิโลเมตร

“หากมีการพบชิ้นส่วนเครื่องบิน เราจะพยายามตอบสนองโดยเร็วที่สุด เนื่องจากแบตเตอรีของอุปกรณ์ค้นหากล่องดำค่อนข้างจำกัด” ผู้บัญชาการ คริส บัดด์ จากกองเรือที่ 7 ของสหรัฐฯ ระบุในถ้อยแถลงผ่านอีเมล์

ในช่วงไม่กี่วันมานี้ ปฏิบัติการค้นหาเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 ของมาเลเซียแอร์ไลน์สเคลื่อนย้ายจากตอนเหนือของเส้นศูนย์สูตรลงมายังมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ โดยจีนและญี่ปุ่นได้ส่งเครื่องบินทหารเข้าไปช่วยค้นหาซากเครื่องบินเป็นครั้งแรกในวันนี้ (24)

เรือตัดน้ำแข็ง “เซียหลง” หรือ “มังกรหิมะ” ของจีน ก็อยู่ระหว่างเดินทางไปยังมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ เพื่อช่วยค้นหาเที่ยวบิน MH370 ซึ่งมีผู้โดยสารชาวจีนอยู่ด้วยถึง 154 คน

บัดด์ย้ำว่า อุปกรณ์ค้นหากล่องดำซึ่งต้องใช้เรือลากไปเหนือผิวน้ำด้วยความเร็วต่ำ จะสามารถจับสัญญาณ “ping” จากกล่องดำที่อยู่ลึกลงไปใต้ทะเลไม่เกิน 20,000 ฟุต (ราว 6 กิโลเมตร)

วอร์เรน ทรัสส์ รองนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ได้ออกมายอมรับถึงความยากลำบากในการค้นหาซากเครื่องบิน

“เราต้องตระเวนไปทั่วน่านน้ำขนาดใหญ่เพื่อค้นหาวัตถุซึ่งอาจมีขนาดเล็กมาก... วันนี้สภาพอากาศอาจเลวร้ายกว่าเก่า และคาดว่าวันต่อๆ ไปก็จะยังไม่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นการค้นหาจึงเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่เราก็จะไม่ท้อถอย” ทรัสส์ ให้สัมภาษณ์ต่อสถานีวิทยุ ออสเตรเลียน บรอดคาสติง คอร์ป

เครื่องบินรุ่น Ilyushin IL-76 ของกองทัพอากาศจีน 2 ลำ, เครื่องบิน P3 Orion ของออสเตรเลีย 2 ลำ และเครื่องบินพลเรือนพิสัยไกลอีก 2 ลำ ถูกส่งออกไปค้นหาวัตถุต้องสงสัยในทะเลตั้งแต่เช้าวันนี้(24) ขณะที่เครื่องบิน P8 Poseidon ของกองทัพเรือสหรัฐฯ และเครื่องบิน P3 Orion ของญี่ปุ่นอีก 2 ลำ จะติดตามออกไปช่วยค้นหาซากเครื่องบินเช่นกัน

ออสเตรเลียได้กำหนดพื้นที่ค้นหาโดยอาศัยข้อมูลจากดาวเทียมสหรัฐฯ ที่ตรวจพบวัตถุต้องสงสัย 2 ชิ้นในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ และล่าสุดก็กำลังวิเคราะห์ภาพถ่ายเรดาร์ของฝรั่งเศส ซึ่งพบวัตถุลอยน้ำต้องสงสัยอยู่ห่างจากจุดค้นหาในปัจจุบันออกไปทางเหนือราว 850 กิโลเมตร

“เราเพิ่งได้ทราบข้อมูลใหม่จากฝรั่งเศส และอยู่ระหว่างการตรวจสอบ... แต่ขณะนี้ปฏิบัติการค้นหายังอยู่ในจุดเดิม” โฆษกหญิงของสำนักงานความมั่นคงทางทะเลออสเตรเลีย (AMSA) แถลง ซึ่งนับว่าขัดแย้งกับคำพูดของรองนายกฯแดนจิงโจ้ที่ระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้ขยายขอบเขตการค้นหาออกไปทางทิศเหนือเพื่อให้ครอบคลุมจุดที่เรดาร์ฝรั่งเศสพบร่องรอยใหม่แล้ว

ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ในทีมค้นหาของออสเตรเลียเปิดเผยว่า อากาศยานลำหนึ่งที่ร่วมภารกิจค้นหาเครื่องบินโดยสารของมาเลเซียพบชิ้นส่วน “แท่นลำเลียงสินค้าที่ทำด้วยไม้” พร้อมกับเข็มขัดหรือสายรัด ลอยอยู่ในมหาสมุทรอินเดียอันห่างไกล ขณะที่รัฐบาลจีนก็อ้างว่าดาวเทียมของตนสามารถจับภาพวัตถุต้องสงสัยซึ่งมีขนาดราวๆ 22 คูณ 13 เมตรลอยอยู่ในทะเล แต่จากภาพที่ค่อนข้างเบลอจึงยังไม่สามารถยืนยันว่า เป็นวัตถุกลุ่มเดียวกับที่ออสเตรเลียพบหรือไม่

ปีกของเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 ER มีความยาวประมาณ 27 เมตร และกว้าง 14 เมตรในส่วนฐาน ส่วนลำตัวเครื่องบินยาวประมาณ 63.7 เมตร และกว้าง 6.2 เมตร




กำลังโหลดความคิดเห็น