เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรี โทนี แอ็บบอตต์ แห่งออสเตรเลียวันนี้ (23 มี.ค.) แถลงว่ามี “ความหวังมากขึ้นเรื่อยๆ” ว่าจะพบเที่ยวบิน MH370 ของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ส ที่หายไป หลังเครื่องบินลำหนึ่งตรวจพบเศษชิ้นส่วนปริศนาหลายชิ้นในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงแท่นวางสินค้าที่ทำจากไม้
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่พบเศษซากเหล่านี้เมื่อวาน (22) ในเวลาที่ภาพถ่ายดาวเทียมของจีนเผยให้เห็นวัตถุขนาดใหญ่ลอยอยู่ในจุดเดียวกัน ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองเพิร์ธของออสเตรเลียไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 2,500 กิโลเมตร
แม้กระนั้น แอ็บบอตต์กล่าวกับผู้สื่อข่าวในระหว่างเดินทางเยือนปาปัวนิวกินีว่า “ยังเร็วเกินไปที่จะมั่นใจว่า” เศษซากเหล่านั้นเป็นของเครื่องบินลำที่หายไป
“อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่า ในตอนนี้เรามีเบาะแสที่เชื่อถือได้อยู่มากมาย และกำลังมีหวังมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็เป็นเพียงความหวัง แค่ความหวังว่าเราอาจคลำมาถูกทาง และเราจะได้ทราบกันว่าเกิดอะไรขึ้นกับเครื่องบินเคราะห์ร้ายลำนี้”
นับตั้งแต่ แอ็บบอตต์นำภาพถ่ายจากดาวเทียมที่เผยให้เห็นวัตถุปริศนา ซึ่งอาจเป็นชิ้นส่วนของเครื่องบินลำนี้ ออกเผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี (20) ก็กระตุ้นให้นานาชาติระดมอากาศยานและเรือจำนวนมากออกค้นหาเครื่องบินโดยสารที่หายสาบสูญไปตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคมลำนี้ ทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดียซึ่งกินอาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาล
อย่างไรก็ดี ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าชิ้นส่วนที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบวานนี้ (22) คืออะไร แต่แอ็บบอตต์อธิบายว่าเป็น “วัตถุขนาดเล็กจำนวนมากลอยอยู่ใกล้ๆ กัน ... อย่างเช่น สิ่งที่ผมเชื่อว่าเป็น แท่นวางสินค้าที่ทำจากไม้”
ทางด้านองค์การความปลอดภัยในการเดินเรือออสเตรเลีย (AMSA) ซึ่งเป็นผู้ประสานงานในพื้นที่ค้นหาก็ได้ใช้ความระมัดระวังรอบคอบในการวิเคราะห์ประเมินวัตถุที่ค้นพบ
ทั้งนี้ เหล่าผู้สังเกตการณ์บนเครื่องบินพลเรือนที่เข้าร่วมภารกิจค้นหา คือคนกลุ่มแรกที่สังเกตเห็นวัตถุชิ้นเล็กซึ่งตกเป็นที่สนใจเหล่านี้
*** เศษซากปริศนา หรือ ก้อนสาหร่าย? ***
คำแถลงระบุว่า กองทัพอากาศแดนจิงโจ้ได้ส่งเครื่องบินตรวจการณ์ พี3 โอเรียน ซึ่งติดตั้งอุปกรณ์สำรวจแบบแปลสัญญาณไฟฟ้าให้เป็นแสง (electro-optic) เข้าไปตรวจสอบในพื้นที่เดียวกัน ทว่าเมื่อกลับมาก็รายงานว่าพบแต่ “สาหร่ายจับตัวเป็นก้อน” เท่านั้น
“วันนี้เจ้าหน้าที่ก็ยังคงพยายามกันต่อ เพื่อตรวจสอบว่าวัตถุที่พบมีความเกี่ยวข้องกับเที่ยวบิน MH370 หรือไม่” คำแถลงระบุเพิ่มเติม
เครื่องบินตรวจการณ์โอเรียนได้หย่อนเครื่องตรวจหาวัตถุใต้น้ำลงไปเพื่อติดตามการเคลื่อนที่ของเศษซากปริศนา ทั้งยังส่งเรือสินค้าลำหนึ่งไปค้นหาในพื้นที่ซึ่งกินอาณาเขต 36,000 ตารางกิโลเมตร เพื่อตามหาวัตถุดังกล่าวด้วย
ในการค้นหาแถบมหาสมุทรอินเดีย นอกชายฝั่งเมืองเพิร์ธวันนี้ (23) มีเครื่องบินเข้าร่วมภารกิจทั้งหมด 8 ลำ ซึ่งในจำนวนนี้มี 3 ลำเป็นเครื่องบินตรวจการณ์ พี 3 โอเรียน และลำหนึ่งเป็นเครื่องบินตรวจการณ์ พี 8 โพไซดอน ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ขณะที่จีนจะส่งเครื่องบินรบ อิลยูชิน ไอแอล-76 มาสมทบอีก 2 ลำในวันพรุ่งนี้ (24)
บรรดาพนักงานสืบสวนกล่าวว่า หากเครื่องบินโดยสารลำนี้เกิดตกลงไปในมหาสมุทรจริง พวกเขาก็หวังว่าจะสามารถระบุตำแหน่งที่เกิดเหตุได้ก่อนที่กล่องดำจะหยุดส่งสัญญาณติดตาม ซึ่งโดยปกติแล้วจะหยุดส่งสัญญาณภายหลัง 30 วัน
อุปกรณ์บันทึกข้อมูลการเที่ยวบินชิ้นนี้จะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยไขปริศนาว่าเหตุใดโบอิ้ง 777-200ER พร้อมลูกเรือและผู้โดยสาร 239 ชีวิตลำนี้ ต้องบินออกนอกเส้นทางขณะบินอยู่เหนือทะเลจีนใต้เพื่อมุ่งหน้าไปยังกรุงปักกิ่ง
ข้อมูลจากเรดาร์ดาวเทียม และเรดาร์ทหารชี้ว่า อากาศยานลำนี้หันหัวกลับไปทางคาบสมุทรมลายู และอาจบินต่อไปอีกหลายชั่วโมงในเส้นทางทางเหนือ จากเอเชียใต้ไปยังเอเชียกลาง หรือเส้นทางทางใต้คือมุ่งหน้าไปยังมหาสมุทรอินเดีย
สิ่งที่เกิดขึ้นบนเครื่องบินลำนี้กลายเป็นข้อสันนิษฐานที่ยังไม่ได้รับความกระจ่างชัด โดยบรรดาพนักงานสืบสวนของมาเลเซียยังคงยืนกรานในข้อสันนิษฐานที่ว่า มีใครบางคนบนเครื่องบินจงใจเปลี่ยนเส้นทางการบินโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
นอกจากนี้ คนจำนวนมากกำลังมุ่งความสนใจไปที่สมมติฐาน 3 แนวทางด้วยกัน อันได้แก่ เครื่องบินอาจถูกจี้ นักบินก่อวินาศกรรม และเกิดวิกฤตกลางอากาศที่ลูกเรือไม่สามารถควบคุมจัดการได้จนต้องปล่อยให้เครื่องบินลำนี้ทำการบินอัตโนมัติอยู่นานหลายชั่วโมง ก่อนที่เชื้อเพลิงจะหมดและตกลงมาในที่สุด