xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: มาเลเซียแถลง MH370 ดิ่งมหาสมุทรอินเดีย “ตายยกลำ” ผู้เชี่ยวชาญชี้กู้กล่องดำ “งานหิน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครื่องบินโบอิ้ง 777-200 ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส
ความหวังสุดท้ายของบรรดาญาติมิตรและคนทั่วโลกที่ติดตามข่าวการค้นหาเครื่องบินมาเลเซียแอร์ไลน์สต้องสลายไปจนหมดสิ้น เมื่อรัฐบาลมาเลเซียออกมายืนยันว่า เที่ยวบิน MH370 ที่สูญหายไปเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อนประสบอุบัติเหตุตกลงสู่มหาสมุทรอินเดีย และหมดโอกาสที่จะพบผู้รอดชีวิตอย่างแน่นอน ขณะที่ผู้สันทัดกรณีออกมาเตือนถึงความยากลำบากในการเก็บกู้ซากเครื่องบินและกล่องดำที่คาดว่าจะจมอยู่ใต้พื้นมหาสมุทรที่ห่างไกลและแทบไม่เคยผ่านการสำรวจมาก่อน

เที่ยวบิน MH370 ทะยานออกจากเมืองหลวงของมาเลเซียในเวลา 0.21 น.ตามเวลาท้องถิ่นของวันเสาร์ที่ 8 มีนาคม และมีกำหนดเดินทางถึงกรุงปักกิ่งในเวลา 6.30 น.ของวันเดียวกัน ทว่าเครื่องบินกลับหายสาบสูญไปจากจอเรดาร์พร้อมด้วยชีวิตผู้โดยสารและลูกเรือรวม 239 คน โดยที่นักบินไม่ได้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ อีกทั้งสภาพอากาศก็แจ่มใสปลอดโปร่ง

เครื่องบินลำนี้มีผู้โดยสารรวม 227 คนจากทั้งหมด 14 สัญชาติ ส่วนใหญ่เป็นพลเมืองจีนและมาเลเซีย และมีเด็กทารกอยู่ด้วย 2 คน

ปฏิบัติการค้นหาเริ่มต้นจากน่านน้ำทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นเส้นทางโดยปกติของเครื่องบินลำนี้ ก่อนที่จะมีการเผยข้อมูลเรดาร์ของกองทัพมาเลเซียซึ่งจับสัญญาณจาก MH370 ได้เป็นครั้งสุดท้ายเมื่อเวลา 2.15 น.ตามเวลาท้องถิ่น โดยพบว่าเครื่องบินอยู่ห่างจากเกาะปีนังไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 200 ไมล์ทะเล ซึ่งขณะนั้นเป็นเวลาราว 1 ชั่วโมงหลังจากที่เครื่องบินเลี้ยวซ้ายออกจากเส้นทางกัวลาลัมเปอร์-ปักกิ่ง และวกกลับเข้าสู่คาบสมุทรมลายู

จากข้อมูลดังกล่าวทำให้ผู้เชี่ยวชาญคาดเดาทิศทางของเครื่องบินไว้ 2 แนว คือบินขึ้นเหนือผ่านทะเลอันดามันไปจนถึงคาซักสถาน หรือไม่ก็มุ่งลงใต้สู่มหาสมุทรอินเดีย

หลังปฏิบัติการค้นหาเครื่องบินซึ่งได้รับความร่วมมือจากนานาชาติผ่านไปนานกว่า 2 สัปดาห์ ในที่สุดนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก แห่งแดนเสือเหลืองก็ออกมายอมรับเมื่อช่วงค่ำของวันจันทร์ที่ 24 มีนาคมว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลดาวเทียมของบริษัท อินมาร์แซท (Inmarsat) สัญชาติอังกฤษ พบว่าจุดสุดท้ายดาวเทียมจับสัญญาณ Ping จากเครื่องบินได้อยู่ในน่านน้ำห่างไกลออกไปทางตะวันตกของออสเตรเลีย ซึ่งความเป็นไปได้เพียงอย่างเดียวก็คือ เครื่องบินใช้เชื้อเพลิงจนหมด และได้ตกลงสู่มหาสมุทรอินเดียตอนใต้

“มันเป็นน่านน้ำที่อยู่ห่างไกลเกินกว่าเครื่องบินจะสามารถหาสถานที่ลงจอดได้... ดังนั้น เราจึงขอแจ้งให้ท่านทั้งหลายทราบด้วยความเสียใจอย่างที่สุดว่า จากข้อมูลใหม่ที่เราได้รับมาเชื่อว่าเที่ยวบิน MH370 ได้ประสบอุบัติเหตุตกลงสู่มหาสมุทรอินเดียตอนใต้แล้ว” นาจิบ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การแถลงข่าวของผู้นำมาเลเซียกลับยิ่งทำให้สถานการณ์น่าคลางแคลงใจยิ่งขึ้น โดยญาติพี่น้องของผู้โดยสารชาวจีนที่กรุงปักกิ่งได้แสดงท่าทีโกรธแค้น พร้อมทั้งกล่าวประณามรัฐบาลมาเลเซียว่าเป็น “ฆาตกร” ขณะที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนได้ออกมาเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในกรุงกัวลาลัมเปอร์แบ่งปันข้อมูลดาวเทียมที่ทำให้มาเลเซียปักใจเชื่อว่าเครื่องบินโดยสารลำนี้ตกลงไปในมหาสมุทรอินเดีย และไม่ใครรอดชีวิต

มาเลเซียแอร์ไลน์ส ยังถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงที่ใช้วิธีส่งข้อความ SMS แจ้งข่าวร้ายต่อญาติผู้โดยสาร ซึ่งสายการบินก็ชี้แจงว่า ครอบครัวของผู้โดยสารส่วนใหญ่ได้รับโทรศัพท์แจ้งล่วงหน้าก่อนที่นายกรัฐมนตรี นาจิบ จะออกมาแถลงข่าวเสียอีก โดยสายการบินใช้วิธีส่ง SMS เป็นช่องทางเสริมเท่านั้น พร้อมปฏิเสธเสียงติเตียนที่ว่า มาเลเซียแอร์ไลน์สไม่ห่วงใยความรู้สึกของญาติพี่น้องผู้โดยสารเท่าที่ควร

สื่อต่างประเทศได้เผยข้อมูลจากบริษัทดาวเทียมอินมาร์แซท ซึ่งได้อธิบายวิธีการคำนวณหาร่องรอย MH370 ว่า พวกเขาสร้างแบบจำลองเส้นทางของเครื่องบินขึ้นมา โดยตรวจวัดความเปลี่ยนแปลงของคลื่นความถี่ (Doppler effect) ของสัญญาณดาวเทียม ซึ่งบ่งชี้ว่าเครื่องบินลำนี้ได้บินในวิถีโค้งจากเหนือลงใต้เป็นเวลาอย่างน้อย 5 ชั่วโมง
นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก แห่งมาเลเซีย แถลงข่าวยืนยันว่าเที่ยวบิน MH370 ประสบอุบัติเหตุตกลงสู่มหาสมุทรอินเดีย
อินมาร์แซทชี้ว่า แม้ระบบสื่อสารของเครื่องบินจะถูกปิด แต่สัญญาณ ping ยังถูกส่งจากเครื่องบินให้ดาวเทียมตรวจจับได้ โดยหลักการมีอยู่ว่า สัญญาณ ping จะถูกส่งจากสถานีภาคพื้นดินขึ้นไปยังดาวเทียม และสะท้อนไปยังตัวเครื่องบิน จากนั้นเครื่องบินจะสะท้อนสัญญาณกลับมายังดาวเทียมโดยอัตโนมัติ ก่อนที่สัญญาณจะถูกส่งกลับมายังสถานีบนพื้นโลกอีกครั้ง

สัญญาณ Ping นี้ไม่ได้ระบุข้อมูลจีพีเอส, เวลา หรือระยะทาง ดังนั้น อินมาร์แซท จึงต้องใช้วิธีนับจำนวนครั้งที่สัญญาณถูกส่งกลับมา

คริส แมคลัฟลิน รองประธานอาวุโสฝ่ายกิจการภายนอกของอินมาร์แซท ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์สกายนิวส์ของอังกฤษว่า “เราไม่ทราบว่าเครื่องบินใช้ความเร็วคงที่หรือไม่... ดังนั้นเราจึงกำหนดค่าความเร็วแบบบินอัตโนมัติ (autopilot) คือประมาณ 350 น็อต จากนั้นจึงนำปริมาณเชื้อเพลิงและพิสัยการบินมาประกอบกับข้อมูลสัญญาณ ping ที่เรามีอยู่แล้ว”

นานาชาติได้ระดมบุคลากรและเทคโนโลยีอันทันสมัยเข้าช่วยเหลือรัฐบาลมาเลเซีย โดยออสเตรเลียส่งเครื่องบินค้นหาและเรือรบ HMS Success เข้าไปยังน่านน้ำที่พบวัตถุต้องสงสัยว่าอาจเป็นชิ้นส่วนจาก MH370 ขณะที่จีนก็ได้ส่งเครื่องบินรุ่น Ilyushin IL-76 และเรือตัดน้ำแข็ง “เซี่ยหลง” เข้าไปร่วมค้นหาด้วย

ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็ได้ส่งอากาศยานไปช่วยติดตามหาร่องรอยเครื่องบินโดยสารของมาเลเซีย ส่วนสหรัฐฯ ก็ส่งอุปกรณ์ค้นหากล่องดำ รวมถึงโดรนใต้น้ำที่สามารถดำลงไปค้นหาซากเครื่องบินใต้มหาสมุทรลึกหลายพันเมตรได้

อย่างไรก็ดี การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากพื้นที่ค้นหาอยู่ห่างจากเส้นทางบินของเครื่องบินพาณิชย์ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเพิร์ทราว 2,500 กิโลเมตร ซึ่งเป็นจุดที่น้ำทะเลทั้งลึกและเย็นจัด และยังมีกระแสลมตะวันตกที่รุนแรง (Roaring 40s) ที่ทำให้ท้องทะเลปั่นป่วนอยู่เสมอ

โรบิน บีแมน นักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยเจมส์คุก รัฐควีนสแลนด์ ได้ออกมาเตือนว่า การเก็บกู้ “กล่องดำ” อาจทำได้ยากกว่าที่คิด เพราะพื้นที่ค้นหาเครื่องบินอยู่ในแนวสันเขาใต้ทะเลฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของมหาสมุทรอินเดีย (Southeast Indian Ocean Ridge) ซึ่งเป็นจุดที่พื้นมหาสมุทรมีความขรุขระ และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามการไหลของแมกมา

บีแมน ชี้ว่า สันเขาใต้สมุทรซึ่งอยู่ลึกลงไปราว 3,000 เมตรนี้เป็นแนวภูเขาไฟที่ “มีพลังมาก” เพราะเป็นจุดที่แผ่นเปลือกโลกแอนตาร์กติกและออสเตรเลเชียนมาชนกันพอดี นอกจากนี้พื้นมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ก็เป็นบริเวณที่ไม่เคยมีการสำรวจหรือทำแผนที่โดยละเอียด ดังนั้นการจะกู้ซากเครื่องบินที่ตกลงไปบริเวณนั้นจะต้องอาศัยเทคโนโยลีแผนที่ 3 มิติ (3D mapping) เข้าช่วย โดยอาจจะใช้เรือที่ติดตั้งเครื่องมือสำรวจความลึก (Multibeam echo sounders) มาร่วมในการค้นหา

ทั้งนี้ หากมีการพบจุดตกที่แน่นอนของเครื่องบิน MH370 แล้ว ปฏิบัติการกู้ซากเครื่องบินและกล่องดำที่จมอยู่ใต้มหาสมุทรอันห่างไกลอาจต้องใช้งบประมาณอีกมหาศาล ซึ่งทีมค้นหาก็จะต้องทำงานแข่งกับเวลาอย่างมาก เพราะตามข้อมูลที่มาเลเซียแอร์ไลน์สระบุไว้นั้น แบตเตอรีในกล่องดำจะส่งสัญญาณระบุตำแหน่งของมันเป็นเวลา 30 วันหลังจากที่สัมผัสกับน้ำ ซึ่งหมายความว่าทีมค้นหามีเวลาเหลืออีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ที่จะค้นหาจุดตกของเครื่องบินให้เจอ
ญาติผู้โดยสารชาวจีนร่ำไห้ออกมาอย่างสุดกลั้น
จุดที่พบวัตถุต้องสงสัยนับร้อยชิ้นลอยอยู่กลางมหาสมุทรอินเดียตอนใต้
กำลังโหลดความคิดเห็น