เอเอฟพี - สำนักกฎหมายชื่อดังของสหรัฐฯ เปิดเผยในวันนี้ (26 มี.ค.) ว่ากำลังเริ่มยื่นฟ้องดำเนินคดีกับสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส และบริษัทโบอิ้งของสหรัฐฯ เป็นเงิน “หลายล้านดอลลาร์” ในกรณีเที่ยวบิน MH370 ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากเหตุเครื่องบินหายสาบสูญเป็นมูลค่ามหาศาล
บริษัท “ริบเบก ลอว์ ชาร์เตอร์ อินเตอร์เนชันแนล” ซึ่งมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่ในชิคาโกระบุว่า ได้ยื่นฟ้องต่อศาลมลรัฐอิลลินอยส์ ของสหรัฐฯ วานนี้ (25) พร้อมทั้งกำลังค้นหาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ, จุดบกพร่องทางกล หรือการจัดการของสายการบินที่อาจทำให้เกิดภัยพิบัติครั้งนี้ขึ้น
“เราเชื่อว่า จำเลยทั้งสองที่เราระบุ เป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับเที่ยวบิน MH 370” สำนักกฎหมายแห่งนี้ระบุในคำแถลงที่นำออกเผยแพร่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์
คำแถลงซึ่งอ้างคำพูดของ โมนิกา เคลลี หัวหน้าทีมที่ปรึกษากฎหมายฝ่ายฟ้องร้องดำเนินคดีด้านการบินระบุว่า “การนำผู้มีส่วนรับผิดชอบทั้งหมดมารับโทษ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายที่เราเป็นตัวแทน”
ริบเบก ลอว์ ได้ยื่น “คำร้องขอไต่สวน” ต่อศาลวานนี้ (25) เพื่อสืบหาหลักฐานจากฝ่ายจำเลยในทุกคดี
สำนักกฎหมายแห่งนี้กล่าวว่าครอบครัว “ได้เริ่มกระบวนการฟ้องร้องดำเนินคดีเป็นมูลค่าหลายล้านดอลลาร์” แต่ไม่ได้ระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่า อาจเรียกร้องค่าเสียหายเป็นมูลค่าเท่าใดในอนาคต
ทั้งนี้ คดีนี้ยื่นฟ้องในนาม จานัวรี ซีเรการ์ “ทนายความที่สูญเสียลูกชายของเขาไปในเหตุการณ์เครื่องบินตกครั้งนี้ ริบเบก ลอว์ระบุ ทว่าไม่ได้ให้รายเอียดของโจทก์มากไปกว่านี้
“เราต้องสืบหาว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เครื่องบินตก และเรียกร้องให้สายการบินแก้ไขปัญหา, การออกแบบ และการผลิตอากาศยานทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมเช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต” เคลลีกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา เครื่องบินโบอิ้ง 777-200 ER ที่กำลังมุ่งหน้าไปยังกรุงปักกิ่งพร้อมกับลูกเรือและผู้โดยสารรวม 239 ชีวิตได้ขาดการติดต่อกับภาคพื้นดินขณะบินอยู่เหนืออ่าวไทย ภายหลังที่เพิ่งออกจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ได้ไม่นาน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลายประเทศจะระดมเรือและอากาศยานหลายสิบลำออกค้นหาเครื่องบินโดยสารลำนี้เป็นเวลาหลายวัน แต่ก็ยังไม่พบซากเครื่องบินแม้แต่ชิ้นเดียว ตลอดจนยังไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เครื่องบินลำนี้หันหัวกลับ
ทางด้าน ญาติผู้โดยสารเที่ยวบิน MH370 จำนวนมาก โดยเฉพาะผู้โดยสารชาวจีนซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของผู้โดยสารทั้งหมด 227 คน ต่างรู้สึกโกรธเคืองที่มาเลเซียไม่สามารถชี้แจงได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับอากาศยานลำนี้ และได้กล่าวหาสายการบินแห่งชาติมาเลเซีย และรัฐบาลกัวลาลัมเปอร์ว่าไร้ความสามารถ และปิดบังข้อมูลบางอย่าง