xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: “โบอิ้งมาเลเซีย” สูญหายปริศนาพร้อม 239 ชีวิต-ทีมสืบสวนยัง “มืดแปดด้าน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครื่องบินโบอิ้ง777-200 ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส
กลายเป็นข่าวดังช็อกโลกมาตลอดทั้งสัปดาห์ เมื่อเครื่องบินโดยสารของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส เที่ยวบิน MH370 เกิดสูญหายไปอย่างลึกลับขณะที่พาผู้โดยสารกว่า 200 ชีวิตเดินทางจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ข้ามทะเลจีนใต้ไปยังกรุงปักกิ่ง โดยไม่ทิ้งแม้แต่เศษซากหรือร่องรอยใดๆ ไว้ และแม้จะมีความพยายามจากนานาชาติที่ส่งทั้งเครื่องบิน เรือ และนำเทคโนโลยีดาวเทียมมาช่วยในการค้นหา แต่ล่าสุดทีมสอบสวนก็ยังวนเวียนอยู่กับสมมติฐาน และไม่อาจสรุปชะตากรรมที่แน่ชัดของเที่ยวบินปริศนานี้ได้

เที่ยวบินที่ MH370 นำผู้โดยสาร 227 คน และลูกเรือ 12 คนเดินทางออกจากเมืองหลวงมาเลเซียในเวลา 0.21 น.ตามเวลาท้องถิ่นของวันเสาร์ที่ 8 มีนาคม และมีกำหนดเดินทางถึงกรุงปักกิ่งในเวลา 6.30 น.ก่อนที่เครื่องจะสูญหายไปจากจอเรดาร์เมื่อเวลาประมาณ 02.40 น.ตามเวลาท้องถิ่น หรือประมาณ 2 ชั่วโมง หลังออกเดินทางจากสนามบินนานาชาติกรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยที่นักบินไม่ได้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือใดๆ อีกทั้งสภาพอากาศก็แจ่มใสปลอดโปร่ง

เครื่องบินลำนี้มีผู้โดยสารรวมทั้งหมด 14 สัญชาติ ส่วนใหญ่เป็นพลเมืองจีนและมาเลเซีย และมีเด็กทารกอยู่ด้วย 2 คน

นักบินได้ส่งสัญญาณติดต่อกับเจ้าหน้าที่ควบคุมการบินครั้งสุดท้าย ขณะที่เครื่องอยู่ห่างจากชายฝั่งเมืองโกตาบารูของมาเลเซียไปทางตะวันออกราว 120 ไมล์ทะเล ต่อมาสำนักงานควบคุมการบินพลเรือนเวียดนามได้แจ้งว่าเที่ยวบิน MH370 ยังไม่ได้เข้าสู่เขตควบคุมการบินของเวียดนามตามเวลาที่กำหนดคือ 17.21 น.GMT โดยเครื่องบินได้ขาดการติดต่อไปขณะที่บินอยู่เหนือน่านน้ำระหว่างมาเลเซียกับนครโฮจิมินห์ซิตี

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Flightaware.com ระบุว่า โบอิ้ง 777-200ER ลำนี้มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และได้ไต่ระดับความสูงไปจนถึง 35,000 ฟุต ทว่าหลังจากนั้นเพียง 1 นาทีเครื่องบินก็หายไปจากรอเรดาร์และไม่สามารถติดตามเส้นทางได้อีก

การสูญหายไปอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยของเครื่องบินลำนี้นำมาซึ่งปฏิบัติการค้นหาครั้งใหญ่ โดยความร่วมมือระหว่างทางการมาเลเซีย, จีน, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์ และอีกหลายประเทศ ซึ่งในช่วงแรกๆนั้นมีข่าวลือจากสื่อเวียดนามที่บอกว่าเครื่องบินของมาเลเซียได้ตกที่นอกชายฝั่งตอนใต้ของเวียดนาม ทว่ารัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมมาเลเซียก็ออกมาปฏิเสธ โดยชี้ว่ายังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน

ต่อมายังมีการพบคราบน้ำมันในทะเลใกล้กับจุดที่เครื่องบินสูญหาย และยังพบวัตถุต้องสงสัยที่คาดว่าจะเป็นชิ้นส่วนของเครื่องบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส แต่จากการตรวจสอบก็พบว่าไม่มีความเกี่ยวข้อง

ญาติผู้โดยสารต่างแสดงความไม่พอใจต่อการตอบสนองที่ล่าช้าของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส โดยเฉพาะครอบครัวของผู้โดยสารชาวจีนซึ่งอยู่ในอาการสิ้นหวังท้อแท้ที่ไม่ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับชะตากรรมของญาติพี่น้องนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์
ภาพแสดงรายละเอียดของเที่ยวบิน MH370 พร้อมเส้นทางบินและจุดที่สัญญาณเครื่องบินขาดหายไป
ญาติผู้โดยสารชาวจีนราว 100 คนได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องขอทราบข้อเท็จจริง และยังได้ยื่นจดหมายต่อกระทรวงการต่างประเทศของจีนเพื่อขอให้ช่วยสอบถามความจริงจากรัฐบาลมาเลเซีย

ศาสตราจารย์ ซุน จินผิง ผู้เชี่ยวชาญเรดาร์ของมหาวิทยาลัยการบินและอวกาศแห่งปักกิ่ง ระบุว่า อาจยังพอมีความหวังอยู่บ้างที่เครื่องบินลำนี้จะบินเข้าไปในเขตที่ไม่มีสัญญาณเรดาร์ของชาติใดครอบคลุมไปถึง จึงทำให้ไม่สามารถระบุตำแหน่งของเครื่องบินได้ เนื่องจากเรดาร์ทางทหารส่วนใหญ่มีระยะตรวจจับไม่ถึง 200 กิโลเมตร

ชายหนุ่มผู้หนึ่งจากมณฑลเหอเป่ยเล่าว่า เขาพยายามโทรเข้ามือถือของน้องชายเมื่อเช้าวันอาทิตย์ (9) และได้ยินสัญญาณโทรศัพท์ด้วย แต่อีกไม่กี่วินาทีก็เงียบเสียงไป เขาตื่นเต้นมากและวิ่งไปบอกเจ้าหน้าที่ของมาเลเซียแอร์ไลน์ว่ายังอาจมีหวังอยู่ ทว่าพอโทรเข้าโทรศัพท์น้องชายเป็นครั้งที่ 3 กลับไม่มีเสียงตอบรับอีก

หลังการค้นหาในช่วง 1-2 วันแรกไม่เป็นผล ทางการมาเลเซียจึงขยายรัศมีของพื้นที่การค้นหาให้เป็น 100 ไมล์ทะเล โดย อาซารุดดิน อับดุล เราะห์มาน อธิบดีกรมการบินพลเรือนมาเลเซีย ยืนยันว่าการขยายพื้นที่ค้นหาจะช่วยให้ครอบคลุมทั้งภาคพื้นดินบนคาบสมุทรมลายู น่านน้ำนอกชายฝั่งตะวันตกของแดนเสือเหลือง และทะเลตอนเหนือของเกาะสุมาตรา และต่อมาในวันพุธ (12) รัฐบาลมาเลเซียก็ได้สั่งขยายขอบเขตค้นหาให้ครอบคลุมถึงทะเลอันดามันด้วยแล้ว

ในวันอังคาร (11) สื่อมาเลเซียได้อ้างข้อมูลจากฝ่ายทหารซึ่งระบุว่า หลังจากโบอิ้ง 777 หายไปจากจอเรดาร์ของฝ่ายควบคุมการจราจรทางอากาศ เครื่องบินลำนี้ยังคงบินต่อไปอีกเป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมงโดยเปลี่ยนเส้นทางและมุ่งสู่ทิศตะวันตก เรดาร์ของฝ่ายทหารสามารถตรวจจับเครื่องบินลำนี้ได้เป็นครั้งสุดท้ายเมื่อเวลา 2.40 น.วันเสาร์ (8) บริเวณใกล้ๆ กับเกาะปูเลาเปรัก ซึ่งอยู่ทางเหนือสุดของช่องแคบมะละกา โดยที่โบอิ้ง 777 กำลังบินอยู่ในระดับความสูงราว 9,000 เมตร (29,500 ฟุต) จากนั้นสัญญาณเครื่องบินก็สูญหายไป

อย่างไรก็ตาม พล.อ.อ.ร็อดซาลี ดาอุด ผู้บัญชาการทหารอากาศมาเลเซีย ได้ออกมาปฏิเสธข่าวเรื่องเรดาร์ทหารสามารถตรวจจับเครื่องบินได้ โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่เพียงแต่สันนิษฐานว่าเครื่องบินอาจ “เปลี่ยนเส้นทาง” ก่อนที่จะสูญหายไป

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯเผยเมื่อวันพุธ (12) ว่า ดาวเทียมสอดแนมสหรัฐฯ (DSP) ซึ่งสามารถตรวจจับรังสีอินฟราเรดไม่พบร่องรอยของการระเบิดกลางอากาศในช่วงเวลาที่เครื่องบินมาเลเซียขาดการติดต่อกับภาคพื้นดิน ขณะที่จีนก็ได้เผยภาพถ่ายดาวเทียมวัตถุต้องสงสัย 3 ชิ้นในทะเลจีนใต้ซึ่งบันทึกได้ตั้งแต่วันอาทิตย์ (8) โดยชิ้นที่ขนาดใหญ่สุดอาจมีขนาดถึง 24 คูณ 22 เมตร แต่เมื่อมีการส่งเรือเข้าไปตรวจสอบกลับไม่พบวัตถุดังกล่าว

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์เนิลได้อ้างเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการบินและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงภายในของสหรัฐฯ ซึ่งเชื่อว่า MH370 ลอยอยู่กลางอากาศไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง โดยดูจากข้อมูลที่เครื่องยนต์โรลส์รอยซ์ของโบอิ้ง 777 ดาวน์โหลดและส่งมายังภาคพื้นดินโดยอัตโนมัติ และหากข้อมูลนี้เป็นจริงก็หมายความว่า เครื่องบินลำนี้น่าจะเดินทางต่อไปอีกเป็นระยะทางหลายร้อยไมล์หลังขาดการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินไปแล้ว

การสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอยของเครื่องบินโดยสารลำนี้ ตลอดจนประเด็นที่ว่าเครื่องรับส่งสัญญาณเรดาร์ไม่ถูกเปิดใช้งาน ทำให้พนักงานสอบสวนสหรัฐฯสันนิษฐานว่า เครื่องบินอาจถูกจี้บังคับเพื่อนำไปใช้กระทำการบางอย่างในภายหลังก็เป็นได้
ครอบครัวผู้โดยสารชาวจีนอยู่ในอาการโศกเศร้าฟูมฟาย ทันทีที่ทราบว่าเที่ยวบิน MH370 สูญหายไป
อุบัติเหตุหรือก่อการร้าย?

การสูญหายของเที่ยวบิน MH370 เริ่มถูกมองเป็นประเด็น “ก่อการร้าย” เมื่อพบว่าผู้โดยสารอย่างน้อย 2 คนขึ้นเครื่องบินด้วยหนังสือเดินทางที่ขโมยมาจากบุคคลอื่น โดยเจ้าของหนังสือเดินทางที่แท้จริงซึ่งเป็นชาวอิตาลีและชาวออสเตรียยังคงปลอดภัยดี

ชาวตะวันตก 2 รายที่มีชื่อเป็นผู้โดยสารอยู่บนเที่ยวบิน MH370 โดยที่ไม่ได้เดินทางจริง คือ คริสเตียน โคเซล ชาวออสเตรีย และ ลุยจิ มารัลดี ชาวอิตาลี ซึ่งทั้งสองเคยเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และถูกขโมยหนังสือเดินทางระหว่างพำนักอยู่ในเมืองไทยทั้งคู่ ดังนั้นจึงเกิดคำถามขึ้นว่า ผู้โดยสาร 2 คนซึ่งแอบใช้พาสปอร์ตของพวกเขานั้นสามารถขึ้นเครื่องได้อย่างไรโดยไม่ถูกตรวจพบ

ซาฮิด ฮามิดี รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยมาเลเซีย แถลงว่าผู้โดยสาร 2 รายบนเที่ยวบินมาเลเซียแอร์ไลนส์ MH370 ซึ่งถือหนังสือเดินทางอิตาลีและออสเตรียที่ถูกขโมย มีลักษณะหน้าตาเป็น “คนเอเชีย” พร้อมตำหนิเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่ปล่อยผ่านโดยไม่ตรวจสอบให้แน่ชัดเสียก่อน

ต่อมาในวันอังคาร (11) คอลิด อบูบาการ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย ได้ระบุตัวผู้โดยสาร 2 คนที่ถือหนังสือเดินทางปลอมขึ้นเครื่องบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส โดยพบว่าทั้งสองคือ ปูเรีย นูร์ โมฮัมหมัด เมห์รดาด วัย 18 ปี และ เดลาวาร์ เซย์เอ็ด โมฮัมมาเดรซา วัย 29 ปีซึ่งเป็นพลเมืองอิหร่านที่ต้องการอพยพไปเยอรมนี และไม่น่าจะมีเป้าหมายก่อการร้าย

ข้อสรุปนี้สอดคล้องกับความเห็นของเลขาธิการใหญ่สำนักงานตำรวจสากล ซึ่งย้ำว่า “ยิ่งได้ข้อมูลมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งเห็นว่าเหตุการณ์นี้ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย”

อย่างไรก็ตาม กรณีการขโมยพาสปอร์ตทำให้ไทยถูกจับตามองว่าเป็นศูนย์กลางด้านเอกสารปลอมแปลงสำหรับเครือข่ายอาชญากรรม โดย รอมเมล บันลาออย นักวิเคราะห์เรื่องการก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ความเห็นว่า “ประเทศไทยถูกกลุ่มก่อการร้ายระหว่างประเทศบางกลุ่มใช้เป็นพื้นที่ปฏิบัติการอยู่แล้ว ด้วยวัตถุประสงค์ในการหาเงินทุน หรือไม่ก็ใช้เป็นสถานที่วางแผนก่อเหตุโจมตี”

แหล่งข่าวในวงการข่าวกรองของไทยคนหนึ่งได้ให้รายละเอียดในประเด็นนี้กับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า “ประเทศไทยคือจุดหมายปลายทางของแก๊งอาชญากรรมระหว่างประเทศ ซึ่งมักใช้ไทยเป็นสถานที่จัดทำเอกสารด้านการเดินทาง และเอกสารการเงินต่างๆ... มันไม่เพียงเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย แต่อาจโยงใยถึงอาชญากรรมอื่นๆ ด้วย นี่เป็นเครือข่ายที่สลับซับซ้อนและมีการเชื่อมต่อกับเครือข่ายอื่นๆ อีกมาก”
ลุยจิ มารัลดี หนุ่มชาวอิตาลี นำพาสปอร์ตเล่มใหม่ของตนมายืนยัน หลังมีรายชื่ออยู่ในเที่ยวบิน MH370 ซึ่งสูญหายไป จากกรณีนี้ทำให้ทราบว่ามีผู้โดยสารบางคนถือพาสปอร์ตซึ่งขโมยมาจากผู้อื่น
นอกจากประเด็นก่อการร้าย เจ้าหน้าที่สืบสวนมาเลเซียยังตั้งข้อสันนิษฐานว่าการสูญหายของโบอิ้งลำนี้อาจเกิดจากความบกพร่องของนักบินเอง หรือปัญหาเครื่องยนต์กลไกที่ทำให้เครื่องบินประสบอุบัติเหตุอย่างไม่คาดฝัน

แหล่งข่าวในทีมสืบสวนของทางการมาเลเซียให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า การที่ยังหาชิ้นส่วนเครื่องบินไม่พบเลยจนถึงขณะนี้บ่งชี้ว่าตัวเครื่องอาจจะ “แตกกระจายเป็นเสี่ยงๆ” ขณะบินอยู่ที่ความสูงราวๆ 35,000 ฟุต เพราะหากเครื่องบินลำนี้ตกลงสู่มหาสมุทรในสภาพสมบูรณ์ และลำตัวเครื่องแตกหักด้วยแรงกระแทกกับผืนน้ำเท่านั้น ทีมค้นหาก็น่าจะพบชิ้นส่วนขนาดใหญ่ที่สามารถระบุได้ชัดเจนไปแล้ว

หลากทฤษฎีที่น่าขบคิด

การหายไปอย่างลึกลับของเครื่องบินโดยสารมาเลเซียแอร์ไลน์สสร้างความพิศวงต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และเริ่มมีการหยิบยกทฤษฎีต่างๆ เกี่ยวกับหายนะที่อาจเกิดขึ้นกับโบอิ้งลำนี้

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นได้อ้างถึง 4 ทฤษฎีที่ผู้เชี่ยวชาญกำลังถกเถียงว่าอาจจะเป็นสาเหตุของการหายไปอย่างปริศนาของเที่ยวบิน MH370 ทฤษฎีแรกคือ “เครื่องยนต์ล้มเหลว” ซึ่งทำให้กัปตันต้องตัดสินใจนำเครื่องลงจอดกลางทะเล และสุดท้ายเครื่องบินก็จมลงสู่ก้นมหาสมุทรทั้งลำโดยไม่ทิ้งร่องรอยใดๆ แต่ก็มีข้อโต้แย้งว่า หากเป็นเช่นนั้นจริงทำไมนักบินจึงไม่ได้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือทั้งที่น่าจะมีเวลามากพอ? และเป็นที่น่าสังเกตเมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ “ปาฏิหาริย์บนแม่น้ำฮัดสัน” ซึ่งเครื่องบินยูเอสแอร์เวย์ส เที่ยวบิน 1549 ได้ลงจอดฉุกเฉินกลางแม่น้ำเมื่อปี 2009 และสามารถลำเลียงผู้โดยสารลงจากเครื่องบินได้โดยไม่มีใครเสียชีวิต

ทฤษฎีที่สองคือ “ความผิดพลาดของนักบิน” แต่ก็ยังไม่พบข้อมูลบ่งชี้ว่า ซอฮารี อะห์เหม็ดชาห์ กัปตันวัย 53 ปี ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง และเพื่อนร่วมงานของเขาหลายคนก็ยืนยันว่า กัปตันผู้นี้รู้จักเครื่องโบอิ้ง 777 ดีชนิดทุกซอกทุกมุมทีเดียว

ทฤษฎีที่สามกล่าวถึง “การลอบวางระเบิด” ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับกรณีที่ผู้โดยสารชาวอิหร่าน 2 คนถือหนังสือเดินทางที่ขโมยมาจากชาวยุโรปที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ทว่าจากการตรวจสอบประวัติชายชาวอิหร่านทั้ง 2 คนก็ยังไม่พบว่าพัวพันกลุ่มก่อการร้าย นอกจากนี้ก็ไม่พบเศษซากเครื่องบินที่บ่งชี้ถึงการระเบิดด้วย

ทฤษฎีสุดท้ายก็คือ “การจี้เครื่องบิน” ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ระบุว่า เครื่องบินลำนี้หันหัวกลับสู่กรุงกัวลาลัมเปอร์ก่อนจะหายไปจากจอเรดาร์ ก็อาจเป็นไปได้ว่ากัปตันถูกคนร้ายจี้บังคับให้เปลี่ยนเส้นทาง แต่เนื่องจากพนักงานบนเครื่องบินไม่ได้ส่งสัญญาณฉุกเฉินใดๆกลับมายังภาคพื้นดิน จึงทำให้ข้อสันนิษฐานนี้ยังไม่มีน้ำหนักพอ
ปูเรียนูร์ โมฮัมหมัด เมห์รดาด วัย 18 ปี และ เดลาวาร์เซย์เอ็ด โมฮัมมาเดรซา วัย 29 ปีสองผู้โดยสารชาวอิหร่านที่ใช้พาสปอร์ตออสเตรียและอิตาลีขึ้นเครื่องมาเลเซียแอร์ไลน์ส
ทางด้านของตำรวจมาเลเซียก็กำลังสืบสวนด้วยว่า ผู้โดยสารและลูกเรือ “มีปัญหาส่วนตัวหรือปัญหาทางจิตวิทยา” ซึ่งอาจอธิบายถึงการสูญหายของโบอิ้ง 777 ลำนี้ได้หรือไม่

“อาจจะมีใครบางคนในเที่ยวบินนี้ที่ซื้อประกันเอาไว้เป็นเงินก้อนมหึมา และต้องการให้ครอบครัวได้รับผลประโยชน์ หรืออาจจะมีคนซึ่งติดหนี้ติดสินเยอะแยะก็เป็นได้ เรากำลังตรวจสอบดูสิ่งที่อาจเป็นไปได้ทั้งหมด” คอลิด อบูบาการ์ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติของมาเลเซีย แถลงต่อสื่อมวลชน

นอกจากข้อสันนิษฐานที่อ้างอิงหลักการแล้ว ยังปรากฏ “ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด” หลายรูปแบบแพร่สะพัดในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะในประเทศที่มีผู้โดยสารบนเครื่องมากที่สุดคือจีน และมาเลเซีย

“หรือว่าเครื่องบินโดนอุกกาบาตพุ่งชน เพราะอุกกาบาตมีความรุนแรงมากกว่าขีปนาวุธ และอาจทำให้เครื่องแตกเป็นเสี่ยง และเหตุการณ์นี้ต้องเกิดขึ้นเร็วมาก” ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ซินล่างเวยป๋อคนหนึ่งตั้งข้อสังเกต ขณะที่อีกคนก็บอกว่า “เครื่องบินไม่ได้ตก เพราะอย่างน้อยเรายังไม่เห็นภาพหลักฐานและไม่พบซากเครื่องบิน ดังนั้นเครื่องบินอาจถูกยึดอยู่ในบางประเทศด้วยเหตุผลทางการเมือง”

ไม่กี่วันมานี้ โมฮัมหมัด ไนซาร์ จามาลุดดิน นักการเมืองของพรรคแพน-มาเลเซียน อิสลามิก (ปาส) ต้องออกมาขอโทษผ่านสื่อทวิตเตอร์ หลังเสนอความเห็นไปว่า MH370 อาจหายไปแถวๆ “สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา” แห่งใหม่ในน่านน้ำเวียดนาม ขณะที่สมาคมชาวอเมริกันเชื้อสายอุยกูร์ก็ได้ออกคำแถลงเรียกร้องให้หยุดแพร่ข่าวลือที่ว่า เครื่องบินของมาเลเซียถูกนักรบอุยกูร์ยิงตก

สื่อสังคมออนไลน์มาเลเซียยังโจษจันกันเรื่องรหัสเที่ยวบิน “MH” ซึ่งอาจมองว่าเป็นคำย่อของ "masih hilang" ในภาษามาเลย์ที่แปลว่า “ยังคงสูญหาย” ส่วนหนังสือพิมพ์ นิว สเตรทไทมส์ ที่สนับสนุนรัฐบาลและปกติไม่ค่อยจะเล่นข่าวหวือหวาก็อับจนข้อมูลจนถึงกับต้องไปขอสัมภาษณ์ “คนทรง” ที่บอกว่า MH370 ถูก “เอลฟ์” จี้และเสกให้ลอยค้างอยู่บนฟ้า

ชาวจีนจำนวนมากถึงกับเอือมระอาพูดไม่ออก หลังรัฐบาลกัวลาลัมเปอร์สิ้นท่าถึงขั้นต้องเชิญ “หมอผี” มาช่วยประกอบพิธีทางไสยศาสตร์เพื่อค้นหาเครื่องบิน ขณะที่หนังสือพิมพ์ฟรีมาเลเซียทูเดย์อ้างผลทำนายจากหมอผีรายนี้ว่า “เครื่องบินยังอยู่บนอากาศ หรือไม่ก็ตกลงสู่ทะเล”

อีกหนึ่งสมมติฐานซึ่งทุกฝ่ายต่างภาวนาขออย่าให้เป็นจริงก็คือ MH370 อาจประสบชะตากรรมคล้ายกับเครื่องบินแอร์ฟรานซ์ เที่ยวบิน 447 ซึ่งสูญหายขณะเดินทางจากเมืองรีโอเดจาเนโรไปยังกรุงปารีส เมื่อปี 2009 ทีมค้นหาต้องใช้เวลาถึง 6 วันจึงเริ่มพบร่างผู้เสียชีวิต ซึ่งทำให้ทราบว่าเครื่องบินได้ประสบอุบัติเหตุตกลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก
หมอผีชาวมาเลเซียถูกเชิญมาประกอบพิธีทางไสยศาสตร์ที่สนามบินนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ เพื่อตามหาเที่ยวบินที่สูญหาย
เรือของหน่วยกู้ภัยอินโดนีเซียช่วยค้นหาร่องรอยของเครื่องบินในทะเลจีนใต้
หญิงชาวมาเลเซียเขียนถ้อยคำขอพรให้เที่ยวบิน MH370 และผู้โดยสารทั้งหมดปลอดภัย
หนุ่มชาวอินเดียสร้างสรรค์ศิลปะบนผืนทรายในรัฐโอริสสา เพื่อเป็นกำลังใจแก่ญาติของผู้โดยสารเที่ยวบิน MH370
กำลังโหลดความคิดเห็น