เอเอฟพี - ส.ส.ระดับอาวุโส 2 คนของรัสเซียเมื่อวันศุกร์ (7) แสดงความยินดีต่อแนวโน้มการขออยู่ใต้ร่มธงแดนมอสโกของไครเมีย แม้ถูกสหรัฐฯและอียูออกมาตรการคว่ำบาตรต่อวิกฤตการเผชิญหน้าครั้งรุนแรงที่สุดระหว่างตะวันออก กับตะวันตกนับตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลง ส่วนทางนายกรัฐมนตรีรักษาการของยูเครนก็ประกาศกร้าวจะไม่ยอมเสียดินแดนแม้แต่ตารางนิ้วเดียว
เหล่าประธานจากทั้งสองสภาของมอสโก บอกว่าพวกเขาเคารพการตัดสินใจของรัฐสภาไครเมีย เขตปกครองตนเองที่อยู่ในยูเครนแต่ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนพูดภาษารัสเซีย ในการตัดขาดความสัมพันธ์กับเคียฟและจัดลงประชามติในวันที่ 16 มีนาคม ในประเด็นย้ายไปอยู่ภายใต้การปกครองของเครมลิน
“เมื่อประชาชนของไครเมียตัดสินใจเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียในการลงประชามติ เราก็จะสนับสนุนทางเลือกนี้อย่างไม่มีเงื่อนไขใดๆ” วาเลนตินา มัตวิเยนโก ประธานวุฒิสภากล่าว ส่วนนายเซอร์เก นารีสช์คิน ประธานสภาผู้แทนราษฎรเสริมว่า “เราจะเคารพการตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ของประชาชนชาวไครเมีย”
ภัยคุกคามที่พอกพูนขึ้นเรื่อยๆจากความแตกแยกระหว่างฝ่ายสนับสนุนยุโรปและฝ่ายฝักใฝ่รัสเซียในประเทศอดีตสหภาพโซเวียตที่มีประชากร 46 ล้านคน เป็นผลให้ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ต้องต่อสายตรงถึงประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียในวันศุกร์ (7) และพูดคุยกันนานกว่า 1 ชั่วโมง โดยมันนับเป็นการสนทนาทางโทรศัพท์อันยาวนานและเคร่งเครียดระหว่างทั้งคู่เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 5 วัน
ทำเนียบขาวบอกว่าทางโอบามา ได้เน้นระหว่างการสนทนาว่าพฤติกรรมของรัสเซียคือการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน ซึ่งอาจนำไปสู่มาตรการตอบโต้หลายอย่างภายใต้ควมร่วมมือกับสหภาพยุโรป ส่วนทางเครมลินเผยว่า ปูติน พยายามลดความเตึงครียด โดยย้ำว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย ไม่ควรต้องมาสังเวยให้แก่ความเห็นต่างเกี่ยวกับบุคคลหรือปัญหาของนานาชาติ
ก่อนหน้านี้ทางสหภาพยุโรปเผยว่าพวกเขาได้ข้อยุติในการออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียแล้ว ขณะเดียวกันก็ประกาศเดินหน้าลงนามในข้อตกลงการค้าประวัติศาสตร์ที่มีเป้าหมายดึงยูเครนออกจากวงโคจรของมอสโก ก่อนที่ยูเครน จะจัดศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 25 มีนาคมนี้
ด้วยที่ รัสเซีย สามารถควบคุมคาบสมุทรไครเมียได้อย่างเบ็ดเสร็จในทางพฤตินัย ภัยคุกคามของการแบ่งแยกยูเครนดูเหมือนขยับเข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประธานาธิบดีปูติน ได้รับอนุมัติจากรัฐสภาให้ใช้กำลังปกป้องผลประโยชน์ของมอสโกในชาติเพื่อนบ้าน
ที่ผ่านมา พันธมิตรตะวันตกพยายามตอบโต้ความพยายามที่ดูเหมือนเป็นการรื้อฟื้นร่องรอยแห่งอาณาจักรรัสเซียของปูติน ซึ่งไม่แสดงท่าทีเสียใจใดๆต่อความไร้เสถียรภาพที่เขาก่อขึ้นหรือแม้แต่ความสัมพันธ์อันบูดบึ้งกับต่างชาติ อย่างไรก็ตาม ทางมอสโก โต้แย้งว่าแค่ต้องการปกป้องพลเมืองเชื้อสายรัสเซียในไครเมีย จากการโจมตีของพวกชาตินิยมหัวรุนแรงซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลฝ่ายฝักใฝ่อียูในกรุงเคียฟ หลังจากก่อนหน้านี้ทาง ปูติน ก็เคยตำหนิการก้าวสู่อำนาจของเหล่าผู้นำรักษาการของยูเครนว่าเป็นการก่อรัฐประหารที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ความตึงเครียดในยูเครนสาหัสยิ่งขึ้น เมื่อรัฐสภาไครเมีย ลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ขออยู่ใต้ร่มธงแดนหมีขาว โดยรัฐบาลของสาธารณรัฐปกครองตนเองแห่งนี้ที่สนับสนุนมอสโกเตรียมจัดลงประชามติเรื่องดังกล่าวในวันที่ 16 มีนาคม ขณะที่ทางสถานีโทรทัศน์อย่างน้อยๆ 1 แห่งของรัสเซีย โชว์แผนภาพแสดงให้เห็นว่าคาบสมุทรเป็นอาณาเขตส่วนหนึ่งของรัสเซีย ไม่ใช่ยูเครน
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลให้นายกรัฐมนตรี อาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค วิงวอนชาติมหาอำนาจในอียูและสหรัฐฯ ยกระดับการปกป้องประเทศของเขา และในวันศุกร์ (7) ได้ออกมาประณามเหล่าผู้นำที่ฝักใฝ่รัสเซียในไครเมียว่าเป็นพวกทรยศชาติและประกาศก้องว่าไม่มีส่วนไหนของยูเครนจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย
สหรัฐฯและสหภาพยุโรปออกมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย กรณีที่ใช้กำลังทหารแทรกแซงสถานการณ์ในเขตปกครองตนเองไครเมียของยูเครน แต่ก็ยังพยายามเจรจาให้รัสเซีย ใช้วิถีทางการทูตเพื่อยุติความขัดแย้งในยูเครน
ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้ลงนามในประกาศคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่อชาวรัสเซียและชาวยูเครนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการคุกคามอธิปไตยและบูรณภาพทางดินแดนของยูเครน เพื่อเป็นการลงโทษต่อเหตุการณ์ที่มีทหารรัสเซียราว 6,000 นาย บุกควบคุมค่ายทหารหลายแห่งในยูเครน โดยจะห้ามบุคคลเหล่านี้เดินทางเข้าสหรัฐฯและอายัดทรัพย์สินของพวกเขาด้วย แต่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯบอกว่าประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียไม่ได้อยู่ในรายชื่อดังกล่าว
ส่วนอียู เห็นพ้องหลังหารือกันอย่างเคร่งเครียดนานกว่า 6 ชั่วโมง ให้ดำเนินการระงับวีซาและการพูดคุยทางเศรษฐกิจกับรัสเซีย ซึ่งน่าจะสร้างความผิดหวังแก่มอสโกพอสมควร หลังจากพยายามให้ได้สิทธิ์เดินทางเข้าออกยุโรปอย่างเสรีมานานนับปี นอกจากนี้ทางอียู ยังอายัดทรัพย์สินของประธานาธิบดี วิคเตอร์ ยานูโควิช ของยูเครนที่ถูกโค่นอำนาจ อดีตนายกรัฐมนตรี มีย์โคลา อาซารอฟ และเจ้าหน้าที่ยูเครนอีก 16 คนที่สงสัยว่ากระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนและใช้เงินของรัฐโดยมิชอบ
ขณะที่รัสเซียเตรียมตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯและอียูแล้ว โดยรัฐสภากำลังร่างกฎหมาย เพื่ออนุญาตให้รัฐบาลอายัดทรัพย์สินของธุรกิจสหรัฐฯและยุโรปที่อยู่ในรัสเซีย แต่นักวิเคราะห์มองว่าเป็นแค่เพียงคำขู่ โดยผู้เชี่ยวชาญบอกว่า การอายัดทรัพย์สินอาจเสี่ยงละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ