ท่ามกลางสถานการณ์ในกรุงเคียฟที่เริ่มกลับคืนสู่สภาพปกติในวันอาทิตย์ แต่พวกผู้ประท้วงต่อต้านยานูโควิช ก็ยังคงปักหลักยึดจัตุรัสไมดาน (จัตุรัสเอกราช) เอาไว้อย่างเหนียวแน่น รัฐสภายูเครนก็มีมติให้ โอเล็กซานดร์ ตูร์ชิย์นอฟ ซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นประธานรัฐสภาคนใหม่ในวันเสาร์ สืบแทนคนเดิมที่เป็นผู้สนับสนุนยานูโควิช ให้เป็นประธานาธิบดีชั่วคราวของประเทศ โดยมีภารกิจในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมาให้สำเร็จภายในวันอังคาร (25 ก.พ.) นี้
ตูร์ซิย์นอฟ ซึ่งเป็นคนสนิทใกล้ชิดกับอดีตนายกรัฐมนตรีหญิง ยูเลีย ทิโมเชนโก ได้ให้สัญญาในทันทีว่าจะจัดตั้ง “รัฐบาลของประชาชน” ขึ้นมา พร้อมกับเรียกร้องให้บรรดาสมาชิกรัฐสภาคนสำคัญๆ จับมือกันก่อตั้งฝ่ายเสียงข้างมากในรัฐสภา เพื่อจะได้ลงมติผ่านกฎหมายการปฏิรูปต่างๆ อย่างรวดเร็ว หลังจากที่ชะงักงันมานานในยุคของยานูโควิช
รัฐสภายูเครนยังลงมติให้ปลดรัฐมนตรีต่างประเทศ ลีโอนิด โคซารา หลังจากได้ปลดผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและอัยการสูงสุดไปตั้งแต่วันเสาร์
นอกจากนั้น รัฐสภายังลงมติยึดคฤหาสน์หินอ่อนสุดหรูของยานูโควิช ซึ่งตั้งอยู่นอกกรุงเคียฟ ให้ตกเป็นของรัฐ
ขณะที่ อาร์เซน อาเวียคอฟ ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยคนใหม่ ก็ประกาศเริ่มการสอบสวนตำรวจที่เกี่ยวข้องพัวพันกับ “การประหาร” พวกผู้ประท้วงต่อต้านยานูโควิชในช่วง 1 สัปดาห์แห่งการเข่นฆ่าอย่างเหี้ยมโหด ซึ่งทำให้บริเวณใจกลางกรุงเคียฟกลายเป็นพื้นที่สงคราม
ส่วนทางด้าน พรรคภูมิภาค (รีเจียนส์ ปาร์ตี) ของยานูโควิช ได้ออกคำแถลงในวันอาทิตย์ ประณามผู้นำของพรรคตนผู้นี้ที่ออก “คำสั่งอันเป็นอาชญากรรม” จนนำไปสู่การเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมาก รวมทั้ง “ประณามความขี้ขลาดและการตัดสินใจหลบหนีของยานูโควิช”
วิกฤตการเมืองครั้งรุนแรงที่สุดนับจากยูเครนประกาศเอกราชในปี 1991 โดยเฉพาะเหตุนองเลือดในสัปดาห์ที่ผ่านมาที่มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน บีบให้ยานูโควิชต้องเซ็นข้อตกลงสันติภาพแบบประนีประนอมที่ได้รับการสนับสนุนจากตะวันตกเมื่อวันศุกร์ (21)
แต่แล้วก็มีรายงานยานูโควิช พร้อมกับคนสนิทหลบหนีออกไปจากกรุงเคียฟ และในวันเสาร์ฝ่ายค้านก็สามารถเข้าควบคุมรัฐสภา หลังจากที่สมาชิกรัฐสภาจำนวนมากของพรรครีเจียนส์ได้แปรพักตร์ รัฐสภาซึ่งเปิดประชุมฉุกเฉินได้ลงมติผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ ซึ่งรวมถึงการลงมติปลดยานูโควิชออกจากตำแหน่ง, จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ และปล่อยตัวอดีตนายกรัฐมนตรีหญิง ทิโมเชนโก ผู้นำฝ่ายค้านวัย 53 ปีออกจากเรือนจำ
ไม่นานหลังการลงมติของรัฐสภา ทิโมเชนโก วีรสตรีแห่งการปฏิวัติสีส้มเมื่อปี 2004 ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 7 ปีข้อหาใช้อำนาจโดยมิชอบ แต่คนทั่วไปเชื่อว่า เป็นการแก้แค้นทางการเมืองของยานูโควิชหลังจากได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี 2010 ก็ได้ออกจากโรงพยาบาลที่เธอเข้ารับการรักษาตัวจากอาการปวดหลังเรื้อรังภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ และมุ่งหน้าไปพบกับผู้สนับสนุนราว 50,000 คนในจัตุรัสไมดาน
ทิโมเชนโกประกาศชัยชนะและการสิ้นสุดของยุคเผด็จการ และกล่าวยกย่องผู้ชุมนุมว่า เป็นวีรบุรษของยูเครน
การปรากฏตัวในไมดานของทิโมเชนโกเป็นเรื่องที่ก่อนหน้านี้ไม่กี่วันไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ เช่นเดียวกับชะตากรรมของยานูโควิชที่ถูกทั้งตำรวจ พันธมิตรในสภาและสมาชิกพรรครีเจียนส์ของตัวเอง รวมทั้งกองทัพ ตัดหางปล่อยวัด มิหนำซ้ำผู้ว่าการและนายกเทศบาลเมืองคาร์คีฟทางตะวันออกของประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สนับสนุนยานูโควิชและรัสเซีย ยังหนีไปรัสเซียแล้ว
ในวันเสาร์ (22) กองทัพออกคำแถลงระบุว่า จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง ขณะที่ตำรวจรีบออกมาประกาศสนับสนุนประชาชนและการเปลี่ยนแปลง
กองกำลังความมั่นคงถอนออกจากอาคารของรัฐบาลและทำเนียบประธานาธิบดี ปล่อยให้ประชาชนเข้าไปเยี่ยมชมภายในอย่างเสรี เช่นเดียวกับคฤหาสน์โอ่อ่าของยานูโควิชนอกกรุงเคียฟ ที่ประชาชนได้แต่ปากอ้าตาค้างและโกรธแค้นกับความหรูหราของสถานที่ดังกล่าว ที่มีทั้งสวนสัตว์ส่วนตัว เรือใบจำลองขนาดใหญ่ในสระมโหฬารที่สร้างขึ้น
กระนั้น ยานูโควิชยังไม่ยอมแพ้ โดยแถลงทางทีวีจากคาร์คีฟ ประณามว่า ฝ่ายตรงข้ามทำการรัฐประหารปล้นอำนาจ และยืนกรานไม่ลงจากตำแหน่ง รวมทั้งไม่ยอมรับมติของรัฐสภาซึ่งเขาถือว่า เป็นสภาเถื่อน
“ผมจะไม่เดินทางออกนอกประเทศ และไม่คิดลาออก เพราะผมเป็นประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งตามกฎหมาย
“ผมจะทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องประเทศไม่ให้แตกแยก และยุติการนองเลือด”
ทว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นวันเสาร์สะท้อนชัดว่า ดุลอำนาจพลิกผันไปอยู่กับฝ่ายค้านเป็นที่เรียบร้อย
“นี่คือการแพ้น็อคทางการเมืองสำหรับยานูโควิช เขาไม่ใช่ประธานาธิบดีอีกต่อไป” วิทาลี คลิตช์โก อดีตแชมป์มวยโลกที่ปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้นำสำคัญของฝ่ายค้าน ประกาศ
นอกจากนี้ ล่าสุดยังไม่มีใครทราบว่ายานูโควิชไปกบดานอยู่ที่ใด
โอเลห์ สโลโบดาน จากหน่วยงานรักษาความปลอดภัยชายแดน เปิดเผยว่า เมื่อวันเสาร์เครื่องบินที่ยานูโควิชนั่งมาพยายามบินขึ้นจากเมืองโดเนตสก์ ทางตะวันออกของประเทศ แต่มีเอกสารไม่ครบจึงไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ยานูโควิชต้องนั่งรถออกจากสนามบิน อย่างไรก็ดี ไม่มีรายงานว่า ผู้นำยูเครนเดินทางออกนอกประเทศทางรถยนต์แต่อย่างใด
ฝ่ายตะวันตกแสดงความยินดีอย่างระมัดระวังต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่เกิดขึ้นในยูเครน ซึ่งเผชิญวิกฤตการเมืองมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน เมื่อยานูโควิชเลิกล้มการลงนามข้อตกลงการค้าสำคัญกับสหภาพยุโรป (อียู) ในนาทีสุดท้าย และหันไปกระชับสัมพันธ์กับรัสเซียแทน
แคทเธอลีน แอชตัน ประธานด้านนโยบายการต่างประเทศของอียูกล่าวว่า ยูเครนจำเป็นต้องหาทางออกจากวิกฤตการเมืองที่ยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ การตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีตัวแทนจากทุกฝ่าย และการกำหนดเงื่อนไขสำหรับการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย
จาค็อบ ลูว์ รัฐมนตรีคลังอเมริกา ประกาศในที่ประชุมกลุ่ม จี20 ที่ซิดนีย์ว่า วอชิงตันกำลังหารือกับประเทศอื่นๆ รวมถึงรัสเซียและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อช่วยเหลือยูเครนในการปฏิรูปเพื่อฟื้นเสถียรภาพเศรษฐกิจ และกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตย
ทว่า รัสเซียกลับคัดค้านข้อตกลงสันติภาพ และโจมตีว่า ฝ่ายค้านยูเครนไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงด้วยการวางอาวุธและยุติการชุมนุม พร้อมกับระบุว่าจะชะลอการส่งความช่วยเหลือตามที่ได้เคยตกลงกับยานูโควิชเอาไว้ก่อน เพื่อรอดูสถานการณ์