xs
xsm
sm
md
lg

‘ญี่ปุ่น’ยังเดินหน้า‘โรงแยกพลูโตเนียม’ที่ใช้ทำ‘ระเบิดนิวเคลียร์’ได้ (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: มาซาโกะ โทกิ และ ไมลส์ พอมเพอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Japan holds to dangerous plutonium separation plan
By Masako Toki and Miles Pomper
07/02/2014

ญี่ปุ่นยังไม่อาจตัดสินใจให้แน่นอนชัดเจนลงไป ในเรื่องนโยบายใหม่ทางด้านพลังงานนิวเคลียร์ หลังจากเกิดความหายนะร้ายแรงที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ และมีการปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 50 แห่งในแดนอาทิตย์อุทัย อย่างไรก็ตาม สำหรับการดำเนินการโรงงานขนาดมหึมาที่ โรกกาโช ซึ่งจะทำหน้าที่แยกสารพลูโตเนียมออกจากแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว ดูเหมือนจะยังคงเดินหน้าต่อไปโดยที่ทางเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบแทบจะไม่มีการพิจารณาทบทวนโครงการนี้กันใหม่เลย

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก*

เวลาผ่านไปเกือบ 3 ปีแล้วนับตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุที่ฟูกูชิมะ แต่ชะตากรรมของการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่นก็ยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน โดยพวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลยังคงไม่สามารถตกลงให้ชัดเจนกันลงไป ในเรื่องที่ว่านโยบายใหม่ด้านพลังงานนิวเคลียร์นั้นควรจะเป็นอย่างไร กระนั้นก็ตามที ปรากฏว่าส่วนประกอบซึ่งน่าจะถือได้ว่ามีความเสี่ยงสูงที่สุดของของการดำเนินการด้านนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น กลับดูเหมือนว่ากำลังเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ โดยที่ทางการแทบจะยังไม่ได้ขบคิดพิจารณาอะไร ส่วนประกอบดังกล่าวนี้ก็คือ โรงงานขนาดใหญ่โตมหึมาที่หมู่บ้านโรกกาโช (Rokkasho) ซึ่งจะทำหน้าที่แยกสารพลูโตเนียมออกมาจากแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว

พวกเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นจำเป็นที่จะต้องระงับแผนการในการเปิดโรงงานแปรรูปเชื้อเพลิงนิวเคลียร์แห่งนี้ไปก่อน อย่างน้อยที่สุดก็จนกระทั่งพวกเขาสามารถแสดงให้เห็นได้ว่า สารพลูโตเนียมที่โรงงานแห่งนี้ผลิตออกมาได้ ซึ่งมีศักยภาพที่จะนำไปใช้ทำอาวุธนิวเคลียร์นั้น จะถูกนำไปใช้อย่างรวดเร็วในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แห่งต่างๆ ที่ปัจจุบันถูกปิดลงของประเทศนี้ แทนที่จะเก็บสะสมไว้ในสต็อกเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ และกลายเป็นเป้าหมายอันเย้ายวนใจสำหรับพวกผู้ก่อการร้าย ตลอดจนกลายเป็นเครื่องมือที่จะถูกใช้เพื่อการบ่อนทำลายวัตถุประสงค์แห่งการห้ามแพร่กระจายทางนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

ในการประชุมสุดยอดความมั่นคงทางนิวเคลียร์ (Nuclear Security Summit) ครั้งต่อไป ที่มีกำหนดจัดขึ้นในประเทศเนเธอร์แลนด์เดือนหน้า โตเกียวควรที่จะไปให้คำมั่นสัญญาว่าจะชะลอการเปิดโรงงานโรกกาโชไปก่อน อย่างน้อยที่สุดก็จนกระทั่งถึงการประชุมสุดยอดความมั่นคงทางนิวเคลียร์ครั้งต่อไปในอีก 2 ปีข้างหน้า

ตั้งแต่ตอนที่ก่อตั้งโครงการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อประโยชน์ทางพลเรือนของตนขึ้นมาแล้ว ญี่ปุ่นก็มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะพัฒนาวัฏจักรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์แบบปิด (closed nuclear fuel cycle) ซึ่งจะสามารถพึ่งตนเองได้ขึ้นมา โดยในวัฏจักรแบบนี้ แท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วจากเตาปฏิกรณ์แบบน้ำมวลเบา (light-water reactor) จะถูกนำมาแปรรูปเพื่อให้ได้เป็นสารพลูโตเนียม ซึ่งจะสามารถนำไปใช้ในการทำแท่งเชื้อเพลิงใหม่ๆ ต่อไป ในฐานะที่เป็นประเทศที่พัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วแต่ขาดแคลนทรัพยากรอย่างแรง ญี่ปุ่นจึงมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะหลีกเลี่ยงไม่ปรารถนาจะเผชิญกับปัญหายูเรเนียมขาดแคลนในอนาคต ในเมื่อตนตัดสินใจหันมาอาศัยพลังงานนิวเคลียร์เพิ่มขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลนำเข้าอย่างมากมายแล้วเช่นนี้

นี่จึงนำไปสู่การก่อสร้างกลุ่มอาคารโรงงานรีไซเคิลแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วที่โรกกาโช ขึ้นมา โรงงานแห่งนี้ถือเป็นโรงงานดำเนินวัฏจักรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ระดับใช้เพื่อการพาณิชย์แห่งแรกในญี่ปุ่น และก็เป็นโรงแยกพลูโตเนียมแห่งแรก ในประเทศที่สาบานว่าตนจะไม่ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ และจะยึดมั่นปฏิบัติตามสนธิสัญญาห้ามแพร่กระจายทางนิวเคลียร์อย่างเคร่งครัดแห่งนี้

**ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น**

ความหายนะซึ่งเกิดขึ้นที่ฟูกูชิมะกลายเป็นการพลิกคว่ำสมมุติฐานต่างๆ ซึ่งใช้เป็นพื้นฐานแห่งวัฎจักรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เกือบทั้ง 50 แห่งของญี่ปุ่นก็ถูกปิดตัวลง – โดยที่ในเวลานี้ไม่มีเตาปฏิกรณ์แห่งใดเลยที่กำลังเดินเครื่องอยู่ เมื่อปีที่แล้วรัฐบาลญี่ปุ่นได้ตีพิมพ์เผยแพร่ระเบียบด้านความปลอดภัยชุดใหม่ ด้วยความมุ่งหมายที่จะเก็บรับบทเรียนจากฟูกูชิมะ และจากนั้นก็มีเตาปฏิกรณ์รวม 16 แห่งที่ยื่นเรื่องขอใบอนุญาตเปิดการดำเนินงานขึ้นมาอีกครั้ง เช่นเดียวกับโรงงานแปรรูปที่โรกกาโช ซึ่งจะทำหน้าที่แยกสารพลูโตเนียมและนำมันมาใช้งานใหม่ในเตาปฏิกรณ์ของโรงงานยักษ์แห่งนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าโรงงานแปรรูป ตลอดจนเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่โรกกาโชนี้ จะได้รับอนุญาตให้ดำเนินการได้เมื่อใด หรือกระทั่งว่าจะได้รับอนุมัติให้ดำเนินงานหรือไม่ ทั้งนี้ตามระเบียบที่วางเอาไว้ สิ่งสาธารณูปโภคลักษณะนี้จำเป็นต้องผ่านการประเมินผลตามมาตรฐานความปลอดภัยชุดใหม่ขององค์การกำกับกิจการนิวเคลียร์ (Nuclear Regulation Authority ใช้อักษรย่อว่า NRA) จากนั้นยังจะต้องได้รับความเห็นชอบจากทางพวกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นซึ่งกิจการด้านนิวเคลียร์เหล่านี้ตั้งอยู่ แล้วจึงส่งต่อให้รัฐบาลในระดับชาติตัดสินว่าจะออกใบอนุญาตให้หรือไม่ในขั้นสุดท้าย

เวลานี้สาธารณชนชาวญี่ปุ่นยังคงคัดค้านการหวนกลับไปผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนเมื่อเร็วๆ นี้ที่ดำเนินการโดย เกียวโด สึชิน (Kyodo Tsushin) ปรากฏว่าผู้ตอบคำถามถึงกว่า 60% คัดค้านการเปิดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์อีกครั้ง ขณะที่มีเพียง 31% ที่สนับสนุน ความรู้สึกคัดค้านดังกล่าวนี้ยังสะท้อนให้เห็นจากการที่ทั้งสาธารณชนและรัฐบาล แสดงการต้อนรับอย่างเฉยชาต่อร่างแผนพลังงานที่ได้รับการรับรองในเดือนธันวาคม 2013 จากคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน (Advisory Committee for Natural Resources and Energy) ซึ่งสังกัดอยู่กับกระทรวงเศรษฐกิจ, การค้า, และอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade, and Industry หรือ METI)

ร่างแผนพลังงานพื้นฐาน (Basic Energy Plan) ฉบับนี้ ถ้าหากได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ก็จะเป็นนโยบายทางด้านพลังงานฉบับแรกที่ออกโดยคณะรัฐบาลระดับชาติของแดนอาทิตย์อุทัยภายหลังอุบัติเหตุที่ฟูกูชิมะในเดือนมีนาคม 2011 ตามกำหนดเดิมนั้น คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาอนุมัติภายในสิ้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่รัฐบาลตัดสินใจให้เลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน จนกว่าการเลือกตั้งผู้ว่าการมหานครโตเกียวในเดือนกุมภาพันธ์นี้จะผ่านพ้นไป ทั้งนี้ด้วยความหวั่นเกรงกระแสคัดค้านของสาธารณชน อีกทั้งยังสืบเนื่องจากภายในพรรคลิเบอรัล เดโมเครติก ปาร์ตี้ (Liberal Democratic Party ใช้อักษรย่อว่า LDP) ซึ่งเป็นแกนนำคณะรัฐบาลผสมชุดปัจจุบันของญี่ปุ่น และเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่เห็นดีเห็นงามกับการใช้พลังงานนิวเคลียร์มากที่สุด ก็ทำท่าว่าพวกผู้นำพรรคยังคงไมอาจหาฉันทามติ เกี่ยวกับนโยบายทางด้านนิวเคลียร์

ยิ่งกว่านั้น พรรคนิว โคเมอิ ปาร์ตี้ (New Komei Party) ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับ LDP ได้ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนในคำแถลงหลักนโยบายทางการเมืองของตนว่า สนับสนุนให้ยุติการใช้ไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้, รวมทั้งให้ปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบ fast-breeder ที่มีโรงไฟฟ้ามอนจู (Monju) เป็นต้นแบบ, ตลอดจนให้ทบทวนนโยบายวัฏจักรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น โดยจะปรับเปลี่ยนไม่ให้นำเอาแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วมาแปรรูป หากแต่ให้นำไปทิ้งเป็นขยะนิวเคลียร์เลย

ในร่างแผนพลังงานพื้นฐานฉบับนี้ มีการเน้นว่าพลังงานนิวเคลียร์เป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าแบบเดินเครื่องตลอด 24 ชั่วโมงที่สำคัญมาก และสามารถใช้เป็นรากฐานเพื่อสร้างเสถียรภาพในการจ่ายพลังงานของญี่ปุ่น นอกจากนั้นร่างแผนการฉบับนี้ยังเน้นด้วยว่า รัฐบาลญี่ปุ่นควรที่จะ “ส่งเสริมสนับสนุนอย่างมั่นคงในเรื่องวัฏจักรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ซึ่งประกอบด้วยการแปรรูปแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้ว, การใช้แท่งเชื้อเพลิงผสมพลูโตเนียมในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์”

หลังจากที่องค์การกำกับกิจการนิวเคลียร์ (NRA) ประกาศใช้มาตรฐานความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ชุดใหม่ในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว รวมทั้งกำหนดให้โรงงานด้านวัฏจักรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นทุก ๆ แห่งจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานเหล่านี้ การเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ญี่ปุ่นจำกัด (Japan Nuclear Fuel Limited ใช้อักษรย่อว่า JNFL) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโรงงานโรกกาโช ก็ได้ปรับเปลี่ยนวันเริ่มต้นเดินเครื่องเสียใหม่ จากเดิมที่กำหนดไว้ว่าจะเริ่มในเดือนตุลาคม 2013 ก็กลายเป็น “จะประกาศให้ทราบต่อไป”

ต่อมาในวันที่ 18 ธันวาคม 2013 NRA ได้ประกาศบังคับใช้ระเบียบใหม่ว่าด้วยโรงงานวัฏจักรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ หลังจากนั้นไม่กี่สัปดาห์ JNFL ก็ยื่นเรื่องขอให้ทำการประเมินความปลอดภัยโรงงานแปรรูปแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วของตน JNFL นั้นคาดหมายว่า NRA จะใช้เวลาในการประเมินผลจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ประมาณ 6 เดือน และดังนั้นโรงงานแปรรูปที่โรกกาโชจึงน่าที่จะได้รับอนุญาตให้เริ่มเดินเรื่องได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2014 อย่างไรก็ดี ยังไม่มีอะไรแน่นอนชัดเจนว่าการตรวจสอบประเมินผลโรงงานแห่งนี้จริงๆ แล้วจะต้องใช้เวลาเท่าใด

มาซาโกะ โทกิ เป็นผู้จัดการโครงการและผู้วิจัยสมทบของโครงการการศึกษาด้านการไม่แพร่กระจายทางนิวเคลียร์ ของ ศูนย์เจมส์ มาร์ติน เพื่อการศึกษาการไม่แพร่กระจายทางนิวเคลียร์ (James Martin Center for Nonproliferation Studies) แห่ง สถาบันการระหว่างประเทศศึกษามอนเทอเรย์ (Monterey Institute of International Studies) เมืองมอนเทอเรย์, มลรัฐแคลิฟอร์เนีย, สหรัฐอเมริกา ส่วน ไมลส์ พอมเพอร์ เป็นผู้ชำนาญการด้านความมั่นคงทางนิวเคลียร์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี และเป็นอดีตบรรณาธิการของวารสาร “อาร์มส์ คอนโทรล ทูเดย์” (Arms Control Today) อันมีชื่อเสียง
(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น