xs
xsm
sm
md
lg

UN เตือนแอฟริกากลางวิกฤตหนัก ปชช.กว่า 1.3 ล้านคนใกล้อดตาย ชี้ 90% มีอาหารกินวันละมื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกโรงเตือนสาธารณรัฐแอฟริกากลาง กำลังเผชิญวิกฤตด้านมนุษยธรรมขั้นเลวร้าย ชี้ประชาชนกว่า 1.3 ล้านคน “ใกล้อดตาย” เพราะขาดแคลนอาหารหลังอดีตอาณานิคมของฝรั่งเศสแห่งนี้ กลายสภาพเป็นดินแดนแห่งการนองเลือดจากการเข่นฆ่ากัน ของชาวคริสต์และมุสลิมนานหลายเดือน

คำแถลงของยูเอ็นระบุว่า การเข่นฆ่ากันเป็นรายวัน โดยเฉพาะในกรุงบังกี ส่งผลให้สินค้าต่างๆ ขาดตลาดโดยเฉพาะอาหารส่งผลให้ประชาชนกว่า 1.3 ล้านคนในดินแดนที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ แต่ไม่มีทางออกสู่ทะเลแห่งนี้กำลังจะอดตาย โดยกว่าร้อยละ 90 ของชาวแอฟริกากลางขณะนี้มีอาหารรับประทานเพียงแค่วันละ 1 มื้อเท่านั้น

ท่าทีล่าสุดของยูเอ็นมีขึ้นในขณะเดียวกับที่มีรายงานข่าวระบุว่า บรรดาพ่อค้าที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมต่างอพยพออกจากกรุงบังกี เมืองหลวงของประเทศ เพราะหวาดกลัวจะตกเป็นเหยื่อการสังหารหมู่ของกลุ่มติดอาวุธของพวกชาวคริสต์ และการอพยพหนีตายของพ่อค้าชาวมุสลิมนี่เอง ที่ซ้ำเติมให้วิกฤตการขาดแคลนอาหารในสาธารณรัฐแอฟริกากลางเลวร้ายยิ่งขึ้น

ขณะที่สินค้าจำเป็นอย่างน้ำตาล แป้งทำขนมปัง น้ำมันเชื้อเพลิง และสบู่ เริ่มขาดตลาด เพราะการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบหยุดชะงัก

สาธารณรัฐแอฟริกากลางซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวคริสต์ กลายสภาพเป็นดินแดนแห่งความวุ่นวาย นับตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว หลังจากที่กลุ่มกบฏมุสลิมที่เรียกตัวเองว่า “เซเลกา” ที่นำโดยนายมิเชล โฌโตเดีย ยึดอำนาจจากรัฐบาลของประธานาธิบดีฟรองซัวส์ โบซิเซซึ่งหนีไปลี้ภัยที่แคเมอรูน

จากนั้นพวกกบฏมุสลิมเซเลกาได้เริ่มการออกปล้น ฆ่าและข่มขืนตามชุมชนของชาวคริสต์ เป็นเหตุให้พวกชาวคริสต์รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มติดอาวุธของตนเองเพื่อแก้แค้นต่อชาวมุสลิม จนการนองเลือดลุกลามไปทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ข้อมูลของสหประชาชาติระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงทางศาสนา ในสาธารณรัฐแอฟริกากลางไปแล้วมากกว่า 2,000 คน ขณะที่อีกมากกว่า 800,000 คนต้องอพยพหนีตายจากบ้านเรือนของตน ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 100,000 คนอพยพเข้ามาลี้ภัยอยู่ภายในสนามบินกรุงบังกี ซึ่งมีทหารฝรั่งเศสคอยดูแลความปลอดภัย ยังไม่รวมถึงชาวแอฟริกากลางอีกมากกว่า 245,000 คนที่ตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว ตลอดจนพลเมืองต่างชาติอีกราว 30,000 ราย





กำลังโหลดความคิดเห็น