รอยเตอร์/เอพี/เอเอฟพี/เอเจนซีส์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ประธานาธิบดีฟรองซัวส์ โอลลองด์ แห่งฝรั่งเศส ประกาศเพิ่มจำนวนทหารจากแดนน้ำหอมในอดีตอาณานิคมอย่างสาธารณรัฐแอฟริกากลาง เป็นอย่างน้อย 1,600 นาย ในวันเสาร์ (7) เพื่อรับมือกับความรุนแรงและความวุ่นวายทางการเมืองในดินแดนดังกล่าว ที่ได้ชื่อว่าอุดมไปด้วยแร่ธาตุ แต่กลับติดอันดับ 1 ในประเทศที่ยากจนข้นแค้นที่สุดในโลก
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันพฤหัสบดี (5) ที่ผ่านมา จำนวนกำลังพลจากกองทัพฝรั่งเศสในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง เพิ่งมีอยู่เพียง 600 นาย และหลังจากนั้นได้มีการสั่งเพิ่มจำนวนเป็น 1,200 นาย แต่การตัดสินใจของประธานาธิบดีโอลลองด์ ในการเพิ่มจำนวนทหารฝรั่งเศสเป็นอย่างน้อย 1,600 นาย ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้อย่างดีถึงปัญหาความไร้เสถียรภาพในอดีตอาณานิคมแห่งนี้ ที่ส่อเค้าเลวร้ายลงทุกขณะ
“ทหารของเราจะคงอยู่ในแอฟริกากลางต่อไป ตราบเท่าที่มีความจำเป็น” โอลลองด์ กล่าวต่อผู้สื่อข่าวหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดฝรั่งเศส-แอฟริกา (France-Africa summit) ในวันเสาร์ (7)
รายงานข่าวระบุว่า ทหารฝรั่งเศสส่วนใหญ่ที่ถูกส่งเข้าไปในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง มีภารกิจสำคัญคือ การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในกรุงบังกี เมืองหลวงของประเทศ โดยประชาชนส่วนใหญ่ของแอฟริกากลางต่างให้การต้อนรับทหารของฝรั่งเศสอย่างอบอุ่น โดยมีความคาดหวังว่า ทหารจากอดีตประเทศเมืองแม่เหล่านี้จะช่วยปกป้องพวกเขาจากความไร้เสถียรภาพ และความรุนแรงภายในประเทศ
นับตั้งแต่วันพฤหัสบดี (5) ที่ผ่านมา มีผู้ถูกสังหารในสาธารณรัฐแอฟริกากลางไปแล้วไม่น้อยกว่า 394 ราย หลังจากกลุ่มติดอาวุธต่างๆ เพิกเฉยต่อคำสั่งของประธานาธิบดีมิเชล โฌโตเดีย ที่ให้ฝ่ายต่างๆ กลับสู่ที่มั่นของตนเอง ยกเว้นแต่เพียงทหารของฝรั่งเศส และกองกำลังรักษาสันติภาพจากองค์การสหประชาชาติ
ด้านเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานกาชาดออกมาเปิดเผยว่า ยังคงมีศพจำนวนมากที่ถูกสังหารกระจัดกระจายอยู่ตามท้องถนนสายต่างๆ ในกรุงบังกี รวมถึงบริเวณด้านนอกอาคารที่ทำการรัฐสภา
ความรุนแรง และความไร้เสถียรภาพทางการเมืองระลอกล่าสุดของสาธารณรัฐแอฟริกากลางเริ่มขึ้นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากที่กลุ่มกบฏมุสลิม “เซเลกา” ประสบความสำเร็จในการโค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดีฟรองซัวส์ โบซิเซ เป็นเหตุให้โบซิเซ ในวัย 67 ปี ที่ครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 2003 ต้องลี้ภัยไปยังประเทศแคเมอรูน
โดยหลังจากการโค่นล้มรัฐบาลของโบซิเซ มิเชล โฌโตเดีย ที่เป็นผู้นำกลุ่มกบฏเซเลกาได้สถาปนาตัวเองเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศ และประกาศยุบกลุ่มกบฏของตัวเอง ส่งผลให้เขากลายเป็นผู้นำที่เป็นมุสลิมคนแรกของสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ดินแดนที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวคริสต์
อย่างไรก็ดี บรรดาแกนนำอื่นๆ ของกลุ่มกบฏเซเลกา กลับไม่ยอมยุบกองกำลังของตน และประกาศแยกตัวออกเป็นกลุ่มติดอาวุธขนาดย่อยๆ จำนวนมาก
โดยกลุ่มติดอาวุธที่แยกตัวเองออกมาจากกบฏเซเลกานี้เอง ที่เป็นต้นเหตุของการสังหารหมู่ การปล้น การข่มขืน และความรุนแรงต่างๆ ในหลายพื้นที่ของแอฟริกากลาง ซึ่งผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงส่วนใหญ่จะเป็นชาวคริสต์
ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เห็นชอบให้ฝรั่งเศสส่งทหารของตนเข้าไปรักษาความสงบเรียบร้อยในแอฟริกากลางได้ เพื่อเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของกองกำลังรักษาสันติภาพของยูเอ็นที่อยู่ในประเทศนี้แล้วกว่า 2,500 นาย ขณะที่บัน คี-มุน เลขาธิการยูเอ็นเตือนว่า อาจต้องใช้กำลังทหารมากถึง 9,000 นายเป็นอย่างน้อย จึงจะสามารถนำความสงบกลับคืนสู่ดินแดนที่เป็นบ้านของประชากรกว่า 4.6 ล้านคนแห่งนี้