เอเอฟพี - องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผยแพร่รายงานประณามพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศเด็กที่แพร่หลายในหมู่บาทหลวงคาทอลิก พร้อมเรียกร้องให้สำนักวาติกันมีบทลงโทษบาทหลวงที่กระทำผิดวินัยอย่างเด็ดขาด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาคมโลก
เมื่อวานนี้ (5 ก.พ.) คณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ได้ออกรายงานตำหนิสำนักวาติกันที่ยังไม่มีมาตรการกำจัดบาทหลวงที่ล่วงละเมิดทางเพศเยาวชน พร้อมเรียกร้องให้ดำเนินคดีต่อบาทหลวงที่มีหลักฐานว่ากระทำผิดจริง หรือแม้แต่ผู้ต้องสงสัยก็ตาม
แม้คำแนะนำนี้จะไม่มีผลบังคับในทางกฎหมาย แต่ก็สะท้อนถึงความล้มเหลวของสำนักวาติกันในการฟื้นฟูภาพลักษณ์ของคริสตจักร
เปาโล ฟลอเรส ดาร์เชส์ นักหนังสือพิมพ์ผู้คร่ำหวอดในแวดวงวาติกัน ชี้ว่า “สำนักวาติกันก็ได้พยายามแก้ไขอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นในเชิงสัญลักษณ์และคำพูดขึงขัง มากกว่าการกระทำ”
คำประณามของยูเอ็นถือเป็นมรสุมที่พัดกระหน่ำวาติกันในช่วงที่กระแสความนิยมพระสันตะปาปาฟรานซิสกำลังสูงลิ่ว ขณะที่พระสันตะปาปาเองก็แทบไม่เคยตรัสถึงปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ และดูเหมือนจะทรงหวังอยู่ลึกๆ ว่า คริสตจักรคงจะผ่านพ้นวิกฤตมาได้แล้ว
ผู้สังเกตการณ์บางคนชี้ว่า วาติกันได้พยายามแล้วที่จะสร้างแบบอย่างจริยธรรมอันดีงามแก่บาทหลวง
แอนเดรีย ทอร์นิเอลลี ซึ่งเขียนบทความให้กับเว็บไซต์ วาติกัน อินไซเดอร์ ระบุว่า ข้อกล่าวหาทั้งหมด “เป็นเรื่องที่ผ่านไปแล้ว และอดีตพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ก็ทรงนำความเปลี่ยนแปลงมากมายมาสู่วาติกัน จากการที่ทรงคลุกคลีกับเยาวชนที่ตกเป็นเหยื่อ... ทรงสวดมนต์และหลั่งน้ำตาไปกับพวกเขา”
อย่างไรก็ดี กระบวนการจัดการปัญหาของวาติกันที่ “ขาดความโปร่งใส” และมักใช้วิธีกลบเกลื่อนความผิดให้บาทหลวง ก็ทำให้เหยื่อหลายคนรู้สึกผิดหวัง
กว่า 10 ปีมาแล้วที่คริสตจักรคาทอลิกต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงจากเรื่องอื้อฉาวทางเพศที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยมีผู้ตกเป็นเหยื่อทยอยออกมาเปิดโปงพฤติกรรมของบาทหลวงที่เคยได้ชื่อว่าเป็นผู้ดูแลพวกเขาในวัยเด็ก
สำนักวาติกันได้รับคำร้องเรียนเรื่องบาทหลวงละเมิดทางเพศปีละราวๆ 600 กรณี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดในช่วงทศวรรษ 1960, 1970 และ 1980
เมื่อปี 2010 พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 เคยตรัส “ขออภัย” ที่บาทหลวงคาทอลิกบางรูปได้กระทำสิ่งอันเป็นบาปและเป็นอาชญากรรม และได้ปลดบาทหลวงผู้กระทำผิดออกจากสมณเพศถึง 400 รูป ระหว่างปี 2011-2012
พระสันตะปาปาฟรานซิสก็ทรงเตือนให้ชาวคริสต์คาทอลิกมีความละอายต่อการล่วงละเมิดผู้อื่น และทรงเป็นประธานจัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบกรณีบาทหลวงละเมิดทางเพศ, หามาตรการป้องกัน และเยียวยาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ทว่าหน่วยงานนี้ก็ยังไม่ได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจัง
สำนักวาติกันแถลงว่าจะ “พิจารณา” คำแนะนำของยูเอ็น และพร้อมนำไปศึกษาและตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน ทว่าเครือข่ายผู้รอดชีวิตจากการตกเป็นเหยื่อล่วงละเมิดโดยนักบวช (The Survivors Network of those Abused by Priests – SNAP) มองว่าคำพูดเพียงเท่านี้ “ไม่เพียงพอ”
“ทางที่เร็วที่สุดที่จะยับยั้งความรุนแรงทางเพศของบาทหลวงก็คือ พระสันตะปาปาจะต้องปลดผู้กระทำผิดออกจากกระทรวงทันที แต่พระองค์ก็เหมือนกับสันตะปาปาองค์ก่อนๆ ที่ปฏิเสธจะกระทำตามแนวทางเช่นนี้ทุกรูปแบบ” เครือข่ายผู้รอดชีวิตแถลง