รอยเตอร์ - เอกอัครราชทูตอินเดียประจำกรุงวอชิงตันชี้ กรณีการจับกุมและตรวจค้นร่างกายทูตหญิง เทพยานี โคบรากาด ที่นครนิวยอร์กเมื่อเดือนที่แล้ว ถูกจัดการอย่างผิดพลาดจน “น่าตกใจ” และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข เพราะไม่ว่าอย่างไรสหรัฐฯ ก็ยังเป็น “มิตรสำคัญที่สุด” ของอินเดีย
สุพราห์มันยัม ไจชันการ์ เอกอัครราชทูตอินเดียประจำกรุงวอชิงตัน ให้สัมภาษณ์วานนี้ (21) ว่า “ผมไม่ได้มองว่าเรื่องนี้ไม่สลักสำคัญ แต่ผมก็จะไม่ทำให้มันใหญ่โตเกินเหตุ ผมคิดว่าเราทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องดูที่ความเป็นจริง”
ไจชันการ์ยอมรับว่า รัฐบาลอินเดีย “งุนงง” ที่ทางการสหรัฐฯ ตัดสินใจจับกุมและเปลื้องผ้าตรวจค้น เทพยานี โคบรากาด วัย 39 ปี ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองกงสุลใหญ่อินเดีย ณ นครนิวยอร์ก หลังจากที่เธอถูกกล่าวหาว่าแจ้งข้อมูลวีซาอันเป็นเท็จ และจ่ายค่าแรงแม่บ้านต่ำกว่าอัตราเงินเดือนที่กฎหมายสหรัฐฯ กำหนด
“เรารู้สึกโกรธแค้นพอสมควรทั้งในเรื่องที่มาที่ไปของปัญหาและวิธีการจัดการ... มันไม่เพียงถูกทำให้เป็นเรื่องสาธารณะเท่านั้น แต่ยังน่าตกใจอีกด้วย”
ไจชันการ์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตอินเดียประจำกรุงปักกิ่ง ก่อนจะย้ายมาประจำการที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อเดือนธันวาคม ยืนยันว่าสหรัฐฯและอินเดียยังติดต่อพูดคุยกันได้เป็นปกติ แม้แผนเยือนอินเดียของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ 2 รายจะต้องเลื่อนออกไปก่อนก็ตาม
“ว่ากันตามตรง ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯ ถือว่าสำคัญที่สุด... รัฐบาลอินเดียจะไม่ระงับความร่วมมือด้านการค้า ข้อตกลงกับเพนตากอน ข้อตกลงกับสภาคองเกรส หรือโครงการวิทยาศาสตร์ใดๆ เพื่อต่อรองว่าเรื่องเหล่านี้จะไม่เดินหน้าหากคุณยังแก้ปัญหาไม่ได้”
อย่างไรก็ดี เอกอัครราชทูตอินเดียย้ำว่า ประเด็นพิพาทเรื่องทูตหญิง โคบรากาด จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว รวมไปถึงการรับรองเอกสิทธิ์ทางการทูตต่อเจ้าหน้าที่กงสุลของอินเดียและประเทศอื่นๆที่ประจำการอยู่ในสหรัฐฯ เช่นเดียวกับที่สหรัฐฯปรารถนาให้เจ้าหน้าที่อเมริกันได้รับในต่างแดน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เขาเห็นด้วยหรือไม่กับข้อเรียกร้องของทนาย โคบรากาด ซึ่งต้องการให้สหรัฐฯถอนข้อกล่าวหา ไจชันการ์ ก็ให้คำตอบว่า “นี่เป็นเรื่องของทูตหญิงคนนี้โดยเฉพาะ แต่ผมคิดว่ายังมีประเด็นเรื่องเอกสิทธิ์และความคุ้มกันจากการดำเนินคดี ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่กว่า”
“ผมว่าเราต้องนั่งลงพูดคุยกัน เพื่อหาทางออกให้กับเรื่องนี้อย่างจริงจัง”
โคบรากาด เดินทางออกจากสหรัฐฯ และถูกรัฐบาลอินเดียทำเรื่องย้ายไปประจำที่องค์การสหประชาชาติแทน ซึ่งช่วยให้เธอได้รับความคุ้มกันทางการทูตอย่างเต็มที่ ทว่าทางการสหรัฐฯยังปฏิเสธที่จะถอนฟ้อง และไม่อนุญาตให้ทูตหญิงรายนี้กลับเข้าประเทศอีก หากเธอยังปฏิเสธที่จะขึ้นศาล
ไจชันการ์ระบุว่า ตราบใดที่เรื่องนี้ยังไม่มีข้อยุติ นักการทูตอเมริกันในอินเดียจะถูกลดระดับความคุ้มกันลงมาให้เท่าเทียมกับที่สหรัฐฯ ปฏิบัติต่อเจ้าหน้าที่ของอินเดีย