xs
xsm
sm
md
lg

ปี 2014 จะเกิดสงครามสหรัฐฯ-จีน? ตอน 3: ‘อาเบะ ’ยึด ‘ยุทธศาสตร์ปักหลุด’

เผยแพร่:   โดย: ปีเตอร์ ลี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Erase that war with China 'in 2014'
By Peter Lee
23/12/2013

ยุทธศาสตร์ “ปักหมุดในเอเชีย” ที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ประกาศ เมื่อปี 2011 นั้น ถูกสร้างขึ้นมาในขณะที่สหรัฐฯกำลังพยายามหาความชอบธรรมและแรงจูงใจต่างๆ สำหรับการเป็นปรปักษ์ทางการทหารกับจีน โดยที่มีความเป็นไปได้ว่าอะไรๆ จะปะทุตัวขึ้นมาในปี 2014 นี้ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากพัฒนาการต่างๆ ในช่วงหลังๆ ก็กลับพบว่า นโยบายการต่างประเทศและการดำเนินการทางการทูตของฝ่ายจีน ส่วนใหญ่แล้วยังคงขับเคลื่อนด้วยความปรารถนาที่จะหลีกเลี่ยงภาวะถูกโดดเดี่ยว ตลอดจนยังคงขับดันด้วยความพยายามที่จะบรรเทาเจือจางการแบ่งขั้วอำนาจอย่างชัดเจนของนโยบาย “ปักหมุดในเอเชีย” ดังนั้น สงครามจึงยังคงเป็นสิ่งที่สามารถชะลอออกไปได้ อย่างน้อยที่สุดก็จนกระทั่งถึงปี 2017

(ต่อจากตอน 2)

วัตถุประสงของ “การปักหมุดในเอเชีย” ของสหรัฐฯ ตามที่มีการเสนอออกมาในตอนแรกเริ่มเมื่อปี 2011 นั้น ไม่ได้อยู่ที่การนำเอายุทธศาสตร์นี้มาใช้กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยความมุ่งหมายเพียงเพื่อให้เกิดความรื่นเริงบันเทิงใจ หากแต่การข่มขู่และการเงื้อง่าดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ปักหมุด มีเจตนารมณ์อยู่ที่การผลักดันให้จีนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่ โดยเดินไปตามเส้นทางต่างๆ ซึ่งเอื้อต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯมากยิ่งขึ้น

**สิ่งที่เกิดขึ้นใน ‘ตะวันออกกลาง’ กำลังเกิดขึ้นอีกใน ‘ตะวันออกไกล’**

หากวัดกันด้วยหลักเกณฑ์เช่นนี้แล้ว ความสำเร็จของสหรัฐฯในปี 2013 ก็จะมีลักษณะกำกวมคลุมเครือมากขึ้นกว่าที่มองเห็นกันโดยผิวเผิน แผนยุทธศาสตร์ปักหมุดได้ส่งผลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสาธารณรัฐประชาชนก็จริงอยู่ ทว่าเป็นการส่งผลในทางอ้อม ในแง่มุมของการที่แดนมังกรต้องรับมือกับพลังต่างๆ ในระดับภูมิภาคซึ่งได้รับการปล่อยออกเป็นอิสระจากยุทธศาสตร์ปักหมุด และในวิถีทางซึ่งไม่ใช่ว่าจะย้อนกลับมาส่งผลให้ประโยชน์แก่สหรัฐฯโดยอัตโนมัติ แท้ที่จริงแล้ว การปักหมุดในเอเชียกำลังทำท่าว่าจะก่อให้เกิดสภาวการณ์เดียวกันกับการผจญภัยของสหรัฐฯในตะวันออกกลาง โดยที่ในภูมิภาคดังกล่าว นโยบายที่ดำเนินอยู่ทำให้สหรัฐฯตกอยู่ในฐานะซึ่งเหมือนเอามากๆ กับการเป็นข้าทาสผู้รับใช้พวกพันธมิตรท้องถิ่น อันได้แก่ อิสราเอล, ซาอุดีอาระเบีย ขณะที่ชาติพันธมิตรเหล่านี้มีอิทธิพลอย่างมากมายต่อนโยบายในภูมิภาคของสหรัฐฯ และบางทีก็ถึงขั้นผลักดันนโยบายดังกล่าวให้เข้าไปยังตำแหน่งแห่งที่ซึ่งจริงๆ แล้วสหรัฐฯไม่ได้มีความปรารถนาที่จะไปอยู่ตรงนั้นเลย

สำหรับในเอเชีย-แปซิฟิก (ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เคยถูกโลกตะวันตกเรียกขานว่า “ตะวันออกไกล” เพราะถ้าหากมองในแผนที่โลก ก็จะอยู่ทางด้านตะวันออกของยุโรปและสหรัฐฯ ไกลเลยถัดออกมาจาก “ตะวันออกกลาง” อีก –ผู้แปล) ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับญี่ปุ่นนั่นแหละที่กำลังคุกคามทำท่าว่าจะลอกเลียนก่อให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้ซ้ำรอยขึ้นมา นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ นั้น ได้รับความนิยมชมชื่นอย่างปลาบปลื้มโดดเด่นจากสื่อมวลชนในสหรัฐฯ ซึ่งบางทีอาจจะมีเหตุผลความเป็นมา ทั้งจากการที่รัฐบาลของเขาให้ความสำคัญเติมพลังอัดฉีดแก่การประชาสัมพันธ์อย่างเต็มที่ และทั้งจากความมึนชาย่อหย่อนอย่างมหาศาลของวงการสื่ออเมริกันเอง สืบเนื่องจากการที่ญี่ปุ่นได้รับการประทับตราไปแล้วว่าเป็นชาติประชาธิปไตยในเอเชียและเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เราควรที่จะย้อนกลับไปคิดทบทวนให้เกิดความตระหนักว่า อาเบะนั้น เป็น :

ก. นักชาตินิยมที่มีแนวความคิดแบบจักรวรรดินิยมสำนักเก่า

ข. นักลัทธิแก้ประวัติศาสตร์ (historical revisionist) ผู้มีความโกรธขึ้งอย่างล้ำลึกต่อการมองกรอบโครงของสงครามแปซิฟิก (Pacific War หมายถึงสมรภูมิทางเอเชีย-แปซิฟิก ของสงครามโลกครั้งที่ 2 -ผู้แปล) ว่า เป็นการต่อสู้กันระหว่างสหรัฐฯผู้ทรงคุณธรรม กับญี่ปุ่นผู้เป็นปีศาจร้าย (และภายในกรอบโครงนี้ จีนก็เป็นผู้บริสุทธิ์ที่ตกเป็นเหยื่อของปีศาจร้ายญี่ปุ่น) และ

ค. เป็นผู้ที่มีประสบการณ์อันขมขื่นโดยตรง ในเรื่องที่ว่าการสนับสนุนของรัฐบาลสหรัฐฯนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเชื่อถือไว้วางใจได้อย่างเต็มที่ โดยที่ในยุคคณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช นั้น ได้เอาเขาเป็นเครื่องเซ่นสังเวย ด้วยการทอดทิ้งไม่แยแสประเด็นปัญหาชาวญี่ปุ่นถูกลักพาตัวไปอยู่ในเกาหลีเหนือ ในเวลาที่วอชิงตันต้องการเร่งรัดทำข้อตกลงกับเกาเหลือเหนือให้ได้ ในระหว่างที่อาเบะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรกในปี 2007

การที่อาเบะตั้งความปรารถนาที่จะให้ญี่ปุ่นได้เป็นเจ้านายผู้กุมชะตาชีวิตของตนเอง (ทั้งในด้านกลาโหม, ความมั่นคง, และนโยบายการต่างประเทศ) ซึ่งทำให้เขาหมกมุ่นอยู่กับเรื่องที่เขามองว่าเป็นภัยคุกคามจากจีน ไม่ใช่เป็นเพียงเพราะความเป็นนักชาตินิยมของเขา หากแต่มันยังเป็นการสะท้อนความปรารถนาของเขาที่จะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ที่ญี่ปุ่นมีอยู่กับสหรัฐฯ จากการที่โตเกียวเป็นเพียงพันธมิตรชั้นผู้น้อยผู้ว่าได้ใช้ฟัง มาเป็นเพื่อนฝูงที่เท่าเทียมกับวอชิงตันและมีความเป็นอิสระเสรีเป็นตัวของตัวเอง (รวมทั้งมีศักยภาพที่จะกลายเป็นผู้ควบคุมบงการพันธมิตรผู้ใหญ่โตกว่าตนเองรายนี้ด้วย)

รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้พยายามตีกระหน่ำอย่างต่อเนื่อง ในประเด็นที่ว่าวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเอเชียของคณะรัฐบาลอาเบะและของสหรัฐฯนั้น มีความแตกต่างไม่ลงรอยกัน ก่อนที่เขาจะพ้นตำแหน่งไป เวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนคนก่อน ได้กระทำสิ่งที่ผิดปกติด้วยการเดินทางไปเยือนเยอรมนี เพื่อไปกล่าวยกย่องสรรเสริญปฏิญญาพอตสดัม (Potsdam Declaration) ว่าเป็นรากฐานอันยั่งยืนของระเบียบแห่งความมั่นคงในเอเชีย (ปฏิญญาพอตสดัม ซึ่งประกาศออกมาในตอนท้ายสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเนื้อหาเรียกร้องให้ญี่ปุ่นยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อสหรัฐฯและพันธมิตรของสหรัฐฯ ซึ่งก็รวมถึง เจียง ไคเช็ก ของจีนด้วย)

อย่างไรก็ตาม การอ้างอิงถึงปฏิญญาพอตสดัม การที่สาธารณรัฐประชาชนจีนออกมากล่าวย้ำยืนยันว่า สหรัฐฯมีบทบาทอันสำคัญยิ่งยวดทางด้านความมั่นคงในเอเชียตะวันออกเช่นนี้ ปรากฏว่ายังคงไม่สามารถระงับลดคลายเสียงวิพากษ์วิจารณ์แดนมังกร ในแวดวงสาธารณะของโลกตะวันตกลงไปได้ ทั้งนี้บางทีอาจจะเนื่องมาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ใช้วิธีนำเอาการประกาศรับรองหลักการใหญ่เกี่ยวกับเรื่องนี้ มาผสมรวมกับการที่ปักกิ่งแสดงการระรานท้าตีท้าต่อยอย่างขุ่นขึ้งต่อฟิลิปปินส์และเวียดนาม หรือในกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ก็คือ นำเอามาผสมรวมกับการที่จีนแสดงความรู้สึกโกรธเกรี้ยว จากการที่กองทัพเรือสหรัฐฯเที่ยวติดตามสอดแนมเรือบรรทุกเครื่องบิน “เหลียวหนิง” ของกองทัพเรือจีนในเขตน่านน้ำสากล

กระนั้นก็ดี ดูเหมือนว่าในที่สุดแล้ว ความรับรู้ความเข้าใจในเรื่องที่ว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนมีจุดยืนอย่างไร (โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรับรู้ความเข้าใจที่ว่า จริงๆ แล้ว จีนแสดงการยอมรับเพิ่มเติมต่อบทบาททางการทูตของสหรัฐฯ) ก็ได้ค้นพบหนทางอย่างเงียบๆ ไม่กระโตกกระตากของตน ที่จะเข้าไปจนถึงผู้กำหนดนโยบายว่าด้วยจีนของสหรัฐฯเข้าจนได้

เราสามารถที่จะพูดได้ว่า ในปี 2013 สหรัฐฯได้เดินเขย่งเท้าสำรวจอย่างระมัดระวังไปจนถึงปากขอบของหุบเหวล้ำลึก, ได้ลองมองลงไปข้างในหุบเหวนี้, ได้เกิดความตระหนักขึ้นมาว่ามันบรรจุเอาไว้ด้วยบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ดี (เป็นต้นว่า การที่ ชินโซ อาเบะ ไม่ใช่ประธานาธิบดีโอบามาเลย เป็นผู้ที่กำหนดบงการการเดินหมากในเอเชีย) นอกเหนือไปจากภาพลวงตาอันชวนหลงใหลเกี่ยวกับชัยชนะของประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมแล้ว, รวมทั้งวอชิงตันยังกำลังเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่กับสถานะเดิม (status quo) แบบใหม่ ซึ่งประกอบไปด้วยความเป็นศัตรูกันอย่างมีการจัดการ (managed hostility) และความคิดฉวยโอกาสอย่างระแวดระวัง (cautious opportunism)

เป็นสิ่งที่ออกจะเหนือความคาดคิด เมื่อกระเป๋าเอกสารใบย่อมบรรจุเรื่องความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน ได้พบหนทางของมันที่จะเข้าไปอยู่ในอุ้งมือของบุคคลผู้ที่สามารถก่อให้เกิดความมั่นอกมั่นใจขึ้นมาใหม่อย่าง จอห์น เคร์รี โดยที่ในขณะเดียวกันนั้น ซูซาน ไรซ์ (Susan Rice) ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาวคนใหม่ ก็ได้รับการจัดสรรให้มีเวลาว่างอย่างเยอะแยะมากมาย สำหรับการขบคิดคำนึงถึงผลลัพธ์อันน่าสังเวชใจในลิเบียและซีเรีย ซึ่งการรณรงค์แบบมุ่งประจันหน้าของเธอ (ตลอดจนการมุ่งจับผิดกล่าวร้ายต่อต้านจีนและต่อต้านรัสเซีย) ในเวทีสหประชาชาติ ได้ก่อให้เกิดขึ้น

ทั้งนี้รัฐบาลสหรัฐฯได้แสดงการทัดทานขัดขวางญี่ปุ่น ด้วยการกล่าวเน้นย้ำจุดยืนที่เป็นกลางของตนในประเด็นปัญหาอธิปไตยเหนือหมู่เกาะเซงกากุ (อันเป็นจุดยืนที่พวกสายเหยี่ยวมุ่งเผชิญหน้าจีนกำลังพยายามกดดันให้วอชิงตันละทิ้งไป) อีกทั้งปฏิเสธที่จะกระทำตามอย่างญี่ปุ่น ในการออกคำสั่งให้พวกสายการบินของประเทศตนทำการท้าทายการประกาศเขต ADIZ ในทะเลจีนตะวันออกของแดนมังกร (มีพัฒนาการประการหนึ่งในเรื่องนี้ซึ่งแทบจะไม่ค่อยมีใครตั้งข้อสังเกตพาดพิงถึง ได้แก่การที่เกาหลีใต้ก็ได้ตัดสินใจที่จะให้ความเคารพเขต ADIZ ของจีน ในทันทีที่โสมขาวประสบความสำเร็จในการประกาศขยายเขต ADIZ ของตนเองแล้ว จึงทำให้ในเวลานี้ญี่ปุ่นกลายเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกซึ่งสายการบินพลเรือนของพวกเขายังคงปฏิเสธไม่ยอมเคารพเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศที่จีนประกาศออกมา)

ส่วนเรื่องที่รัฐมนตรีต่างประเทศเคร์รี ส่งเสียงกระแอมแบบปรามไว้ก่อน ไม่ให้สาธารณรัฐประชาชนจีนประกาศเขต ADIZ ในทะเลจีนใต้เพิ่มขึ้นมาอีก โดยที่เขาส่งข้อความนี้ออกมาระหว่างที่ไปเยือนเวียดนาม พร้อมๆ กับที่ประกาศการเพิ่มความช่วยเหลือด้านความมั่นคงทางทหารแก่หลายชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ดูเหมือนจะเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความพยายามของสหรัฐฯที่จะก้าวเดินอยู่ข้างหน้ากระแสสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ (และก้าวเดินอยู่ข้างหน้าฟิลิปปินส์ซึ่งดูมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะแสดงการเผชิญหน้ากับแดนมังกรในเรื่องนี้) แทนที่จะเป็นผู้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้ตามหลังสาธารณรัฐประชาชนจีนและญี่ปุ่น เหมือนที่ได้กระทำมาในการทะเลาะเบาะแวงเกี่ยวกับเขต ADIZ ในทะเลจีนตะวันออก

ปีเตอร์ ลี เป็นนักเขียนที่สนใจเรื่องกิจการเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ตลอดจนจุดตัดกันระหว่างภูมิภาคเหล่านี้กับนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ

(ข้อเขียนนี้มีความยาวมาก จึงแบ่งเป็น 5 ตอน นี่คือตอน 3 โปรดติดตาม
ปี 2014 จะเกิดสงครามสหรัฐฯ-จีน? ตอน 1: ปักกิ่งเพลี่ยงพล้ำ-วอชิงตันรุกไล่
ปี 2014 จะเกิดสงครามสหรัฐฯ-จีน? ตอน 2: เขตป้องกันภัยทางอากาศของปักกิ่ง
ปี 2014 จะเกิดสงครามสหรัฐฯ-จีน? ตอน 3: ‘อาเบะ ’ยึด ‘ยุทธศาสตร์ปักหลุด’
ปี 2014 จะเกิดสงครามสหรัฐฯ-จีน? ตอน 4: ‘จีน’ แตกต่างจาก ‘สหภาพโซเวียต’
ปี 2014 จะเกิดสงครามสหรัฐฯ-จีน? ตอน 5: ‘ปักหมุด’ เวอร์ชั่น 2.0)

กำลังโหลดความคิดเห็น