xs
xsm
sm
md
lg

ปี 2014 จะเกิดสงครามสหรัฐฯ-จีน? ตอน 4: ‘จีน’ แตกต่างจาก ‘สหภาพโซเวียต’

เผยแพร่:   โดย: ปีเตอร์ ลี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Erase that war with China 'in 2014'
By Peter Lee
23/12/2013

ยุทธศาสตร์ “ปักหมุดในเอเชีย” ที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ประกาศ เมื่อปี 2011 นั้น ถูกสร้างขึ้นมาในขณะที่สหรัฐฯกำลังพยายามหาความชอบธรรมและแรงจูงใจต่างๆ สำหรับการเป็นปรปักษ์ทางการทหารกับจีน โดยที่มีความเป็นไปได้ว่าอะไรๆ จะปะทุตัวขึ้นมาในปี 2014 นี้ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากพัฒนาการต่างๆ ในช่วงหลังๆ ก็กลับพบว่า นโยบายการต่างประเทศและการดำเนินการทางการทูตของฝ่ายจีน ส่วนใหญ่แล้วยังคงขับเคลื่อนด้วยความปรารถนาที่จะหลีกเลี่ยงภาวะถูกโดดเดี่ยว ตลอดจนยังคงขับดันด้วยความพยายามที่จะบรรเทาเจือจางการแบ่งขั้วอำนาจอย่างชัดเจนของนโยบาย “ปักหมุดในเอเชีย” ดังนั้น สงครามจึงยังคงเป็นสิ่งที่สามารถชะลอออกไปได้ อย่างน้อยที่สุดก็จนกระทั่งถึงปี 2017

(ต่อจากตอน 3)

ข้อเท็จจริงที่ว่า ขณะที่ในปี 2013 โดยทางหน้าฉากบนเวทีสาธารณะแล้ว วอชิงตันกับปักกิ่งมีการใช้ถ้อยคำโวหารอันรุนแรงสุดโต่ง เข้าสาดใส่กันและกัน แต่เบื้องลึกลงไปกลับมีข้อเท็จจริงประการต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการใช้ท่าทีบันยะบันยัง (เป็นต้นว่า รัฐบาลสหรัฐฯได้แสดงการทัดทานขัดขวางญี่ปุ่น ด้วยการกล่าวเน้นย้ำจุดยืนที่เป็นกลางของตนในประเด็นปัญหาอธิปไตยเหนือหมู่เกาะเซงกากุ อีกทั้งปฏิเสธที่จะกระทำตามอย่างญี่ปุ่น ในการออกคำสั่งให้พวกสายการบินของประเทศตนทำการท้าทายการประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ ADIZ ในทะเลจีนตะวันออกของแดนมังกร) เหล่านี้ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นที่สังเกตสนใจของสื่อมวลชนตะวันตก เรื่องนี้บางทีอาจจะสืบเนื่องจากการที่สาธารณรัฐประชาชนจีนภายใต้ สี จิ้นผิง ผู้นำสูงสุดคนใหม่ ตัดสินใจที่จะทอดทิ้งการใช้สไตล์ “อำนาจละมุน” (soft power) ของ หู จิ่นเทา ผู้ทรงอำนาจสูงสุดในแดนมังกรคนก่อนหน้าเขา (โดยที่ หู เองก็ดูจะประสบความล้มเหลวไม่สามารถสร้างผลลัพธ์อันน่าประทับใจอะไรขึ้นมา จากการเดินหน้าในสไตล์ดังกล่าว) แล้วหันมาใช้วิธีเล่นงานปราบปรามสื่อที่ทำท่าแข็งข้อ

ประธานาธิบดีสี ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ดูเหมือนจะตัดสินใจแล้วว่า แผนการเพื่อการรักษาอำนาจและการผลักดันเดินหน้าวาระที่เขาปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิรูปต่างๆ หรือเรื่องอื่นๆ ก็ตามที จะต้องรวมเอาเรื่องของการเข้าควบคุมพวกที่ไม่เห็นด้วยกับทางการ ตลอดจนสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นสื่อต่างประเทศหรือสื่อภายในประเทศ เอาไว้อย่างเข้มงวดเหนียวแน่น ดังนั้น ในรายการ “สิ่งที่ต้องทำ” ของ สี จึงไม่ได้มีหัวข้อว่าด้วยความพยายามหาทางทำให้สื่อมวลชนในโลกตะวันตกที่อยู่ใต้การควบคุมของบริษัทยักษ์ทั้งหลาย บังเกิดความชื่นชอบในตัวเขาเอาไว้ด้วย (และกระทั่งว่า ถ้า สี ต้องการทำเรื่องนี้จริงๆ ก็ใช่ว่าจะกระทำได้สำเร็จ) ขณะที่เห็นได้อย่างแจ่มกระจ่างว่า รายการ “สิ่งที่ต้องทำ” ของ สี กลับมีหัวข้อว่าด้วยการใช้ความพยายามในการลดทอนพื้นที่ ซึ่งจะเปิดช่องทำให้องค์กรสื่อทางด้านข่าวทั้งหลาย สามารถขุดคุ้ยเจาะไชและป่าวร้องโฆษณาข้อมูลข่าวสารที่จะสร้างความอับอายขายหน้าให้แก่ระบอบปกครองของเขา และเป็นผลร้ายต่อเกียรติภูมิและอำนาจของระบอบปกครองนี้

พวกนักหนังสือพิมพ์ชาติตะวันตกในปักกิ่ง ตลอดจนเหล่าลูกจ้างคนจีนของพวกเขา ต่างตกเป็นเหยื่อของการก่อกวนรังควาญ โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือการที่รัฐบาลแดนมังกรปฏิเสธไม่ยอมต่ออายุวีซาให้แก่ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) และนักหนังสือพิมพ์ของนิวยอร์กไทมส์ อย่างเหมาะสมสมควรตามกำหนดเวลา โดยที่เห็นได้ชัดว่ามุ่งที่จะตอบโต้แก้เผ็ดการที่สื่อดังสองสำนักนี้ “อวดดี” กล้าเสนอรายงานข่าว เกี่ยวกับแหล่งทำมาหากินอันนำมาซึ่งความมั่งคั่งร่ำรวยอย่างเหลือล้นและน่าที่จะไม่สุจริตใสสะอาด ของพวกครอบครัวตลอดจนสมาชิกของคณะผู้นำสูงสุดแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

ดูเหมือนว่า สถานการณ์ความเป็นจริงอันชวนให้โกรธเกรี้ยวมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ กำลังเป็นต้นเหตุทำให้นักหนังสือพิมพ์ฝ่ายตะวันตกบางราย นำเอาความยากลำบากในการทำงานขององค์การสื่อตะวันตกในประเทศจีน มาผสมปนเปกับระเบียบวาระโดยองค์รวมในการเผชิญหน้ากับฝ่ายตะวันตกของทางการจีน

มีเสียงดังกระหึ่มทีเดียวจากพวกนักเฝ้าจับตามองจีนในอินเทอร์เน็ต ว่าเรากำลังย่างก้าวเข้าสู่ “ยุคแห่งการปิดล้อมจำกัดเขต” (era of containment) ครั้งใหม่ ซึ่งเป็นการอ้างอิงถึงหลักลัทธิการปิดล้อมต่อต้านสหภาพโซเวียต ( doctrine of containment against the Soviet Union) ของ จอร์จ เคนนัน (George Kennan) ที่เสนอไว้ในความเรียงอันทรงอิทธิพลยิ่ง เรื่อง “The Sources of Soviet Power” (แหล่งที่มาแห่งอำนาจของโซเวียต) ซึ่งนำออกตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 1947 ของเขา

ทฤษฎีการปิดล้อมของเคนนัน เน้นหนักให้เห็นถึงพลังความเข้มแข็งของสหรัฐฯ (ตลอดจนเสนอว่า อเมริกานั้นมีความเหนือชั้นกว่าในทางด้านศีลธรรม เมื่อเปรียบเทียบกับสหภาพโซเวียต อันเป็นความรู้สึกซึ่งสร้างความพึงพอใจให้แก่สหรัฐฯเองเป็นอย่างยิ่ง) จากแนวความคิดที่ว่า สหภาพโซเวียตนั้นเป็นระบบที่ล้มเหลว ซึ่งไม่สามารถรับมือกับความจริงได้ แล้วด้วยความที่ไม่สามารถเผชิญกับความล้มเหลวทั้งทางการเมือง, สังคม, และศีลธรรมของตนเอง สหภาพโซเวียตจึงหันมาให้คำนิยามจำกัดความโลกตะวันตกอย่างบิดเบือนไม่ซื่อตรงว่า โลกตะวันตกกระตือรื้อร้นที่จะตั้งตนเป็นศัตรูคู่ปรปักษ์ของตน, นอกจากนั้นสหภาพโซเวียตยังก่อตั้งกำแพงล้อมรอบตนเองให้อยู่แต่ภายในม่านเหล็กแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์อันน่าสะอิดสะเอียน, และในท้ายที่สุดแล้ว สหภาพโซเวียตจะต้องล้มคว่ำพังทลายจากการที่แบกน้ำหนักของปัจจัยขัดแย้งต่างๆ ของตนเองต่อไปไม่ไหว

พิจารณาจากระดับของประชาชนทั่วไป การยกอุปมาอุปไมยเรื่องการปิดล้อมสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็น มาเปรียบเทียบกับการเผชิญหน้ากับจีนในปัจจุบัน ควรที่จะมีส่วนสำคัญในการทำให้ประชาชนในโลกตะวันตกบังเกิดความกล้าหาญที่จะลืมเลือนไม่ใส่ใจกับข้อเท็จจริงที่ว่า ฐานะความเป็นเจ้าเหนือใครของสหรัฐฯนั้น กำลังถูกกัดกร่อนบั่นทอนลงเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา แล้วหันเหความคิดของพวกเขาไปหมกมุ่นอยู่ในเรื่องซึ่งจะสามารถสร้างความปลาบปลื้มรื่นเริงใจได้ยิ่งกว่านักหนา นั่นก็คือการคอยลุ้นว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนจะต้องล้มคว่ำหงายท้องไม่เป็นท่า ด้วยเหตุผลอย่างเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับสหภาพโซเวียตมาแล้ว

อย่างไรก็ดี ในกรณีของสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น ได้ดำเนินนโยบายที่เป็นผลดีต่อตนเองตลอดระยะเวลา 25 ปีหลังมานี้ (อีกทั้งกำลังบูรณาการตนเองเข้ากับเศรษฐกิจทุนนิยมที่นำโดยฝ่ายตะวันตกเพิ่มมากขึ้นทุกที) ดังนั้น ถ้าหากจะมีการเดินหน้าในเรื่องนี้จริงๆ กรอบเหตุผลในการปิดล้อมแดนมังกร ก็จะดูผิดพลาดคลาดเคลื่อน ทั้งในแง่ของการอธิบายพฤติกรรมของจีน และในแง่ของการสร้างความชอบธรรมให้แก่นโยบายของฝ่ายตะวันตก สาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นได้ตัดขาดทอดทิ้งการทำสงครามกับโลกตะวันตก และการทำศึกกับทุนนิยม ตั้งแต่ที่ เหมา เจ๋อตง ถอนการสนับสนุนที่เคยให้แก่การต่อสู้ของพวกคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายหลังเกิดสงครามเวียดนาม และเชื้อเชิญประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ไปเยือนแดนมังกรแล้ว ในเวลาต่อมา เติ้ง เสี่ยวผิง ยังได้จัดการใช้เกาหลีเหนือเป็นเครื่องสังเวย ด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ขั้นปกติกับเกาหลีใต้อีกด้วย

สิ่งที่สาธารณรัฐประชาชนจีนนำมาใช้ตอบโต้ ต่อการที่พม่าหันเหเอนเอียงไปทางค่ายตะวันตก ก็คือการยกระดับปฏิสัมพันธ์ทั้งทางการทูตและทางเศรษฐกิจกับแดนหม่อง ไม่ใช่การกระทำซ้ำรอยกลุ่มกติกาสัญญาวอร์ซอร์ (Warsaw Pact) ซึ่งนำโดยสหภาพโซเวียต ที่ยกกองทหารรุกรานเข้าไปในฮังการี และ เชโกสโลวะเกีย และสงครามครั้งท้ายสุดที่จีนเข้าเปิดศึกสู้รบ ก็คือ สงครามบุกเข้าไปสั่งสอนเวียดนามในปี 1979 (แดนมังกรทำสงครามเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในตลอดช่วงเวลา 35 ปีที่ผ่านมาหรือ? นี่เป็นมหาอำนาจยิ่งใหญ่ชนิดไหนกันนะ?) ซึ่งเป็นโครงการร่วมของสหรัฐฯกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการหยุดยั้งขัดขวางการรุกคืบหน้าเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสหภาพโซเวียต

ในปี 2013 ใครก็ตามที่กำลังพยายามโฆษณาป่าวร้องถึง “ภัยคุกคาม” จากระบบประหลาดเพี้ยนๆ ราวกับเป็นระบบจากต่างดาว ตลอดจนเป็น “ภัยคุกคาม” จากศัตรูผู้ร้ายกาจสุดๆ จนไม่สามารถที่จะโอนอ่อนปรานีได้ (ด้วยความหวังที่จะพลิกฟื้นชุบชีวิตหลักลัทธิว่าด้วยชาติและความมั่นคงทั้งหลายที่กำลังถูกท้าทายโต้แย้งอย่างหนักหน่วงจากทิศทางแนวโน้มทั้งระดับชาติและระดับโลกอันน่าปวดใจ) ในหนทางเดียวกันกับที่ เคนนัน เคยวาดวิสัยทัศน์เอาไว้แล้ว ระบบและศัตรูที่เป็น “ภัยคุกคาม” ดังกล่าวก็ไม่ใช่สาธารณรัฐประชาชนจีนหรอก พวกผู้สังเกตการณ์ซึ่งสนใจในแนวทางนี้ควรจะได้รับคำแนะนำให้ไปมองหาประเทศอื่นๆ (อย่างเช่น *อะแฮ้ม*(เสียงกระแอม) ญี่ปุ่น *อะแฮ้ม* สหรัฐฯ *อะแฮ้ม*)

สาธารณรัฐประชาชนจีนของ สี จิ้นผิง นั้น ไม่ได้ต้องการเผชิญหน้ากับโลกตะวันตกเลย หากแต่ต้องการทำธุรกิจกับโลกตะวันตก และต้องการลดการถูกขัดจังหวะให้เหลือน้อยที่สุด ในขณะที่คณะผู้นำจีนต้องปลุกปล้ำเอาชนะปัญหาทางเศรษฐกิจและทางสังคมภายในประเทศอันใหญ่โตและแก้ไขได้ยากของพวกเขา ในด้านกิจการต่างประเทศนั้น ถ้าหากจะมีอะไรที่สาธารณรัฐประชาชนเรียกร้องต้องการจากสหรัฐฯแล้ว ก็คือต้องการให้สหรัฐฯเป็นพันธมิตรรายหนึ่งของตน หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นผู้เข้าร่วมที่แสดงความเห็นอกเห็นใจ ในความพยายามของแดนมังกรที่จะก่อตั้งระบบความมั่นคงสามขาระบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งถึงอย่างไรก็จะต้องประกอบด้วยสาธารณรัฐประชาชนจีน, สหรัฐฯ, และญี่ปุ่น ผู้เป็นคู่แข่งขันผู้น่าชังเพิ่มมากขึ้นทุกทีของจีน โดยให้ระบบความมั่นคงสามขานี้ เข้าไปอยู่ในกรอบโครงทางความมั่นคงและทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคอันมุ่งก่อให้เกิดผลดีมุ่งสร้างคุณประโยชน์

เป็นเรื่องน่าสนใจมากที่จะติดตามเฝ้าดูว่า ในปี 2014 สี จะตัดสินใจเดินหน้าหรือไม่ ในการทำตามเสียงร่ำร้องที่ยังคลุมเครือกำกวมในสื่อมวลชนบางส่วนของจีน แล้วบอกอำลายกเลิก “แผนที่เส้นประ 9 เส้น” อันเร่อร่าล้าสมัย ซึ่งถูกใช้มาเป็นตัวอธิบายการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ของแดนมังกร ทั้งนี้เพื่อจัดระเบียบสถานการณ์ในอาณาบริเวณดังกล่าว และทำให้ความสัมพันธ์ทางทะเลที่มีอยู่กับสมาคมอาเซียน วางอยู่บนพื้นฐานสมัยใหม่อย่างแท้จริงขึ้นมา

มีเหตุผลอันหนักแน่นซึ่งสามารถหยิบยกขึ้นมาโต้แย้งแจกแจงได้ว่า ลักษณะอันโดดเด่นสำคัญที่สุดของโลกในปี 2013 นั้น ไม่ใช่การแยกออกเป็น 2 ค่าย ระหว่างค่ายจีน กับค่ายต่อต้านจีน นโยบายการต่างประเทศและการทูตของฝ่ายจีนส่วนใหญ่แล้วยังคงขับดันด้วยความปรารถนาของแดนมังกรที่จะหลีกเลี่ยงการถูกฝ่ายตะวันตกโดดเดี่ยว และที่จะลดทอนพลังอำนาจแห่งการแบ่งขั้วของยุทธศาสตร์ “ปักหมุดในเอเชีย”

โมเดลที่น่าจะนำมาใช้อธิบายเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับจีน และกระทั่งความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ต่างๆ ในเอเชีย หาใช่โมเดลการปิดล้อมในแบบการปิดล้อมสหภาพโซเวียตไม่ หากแต่เป็นโมเดล “ดุลแห่งอำนาจ” (Balance of Power) อันเป็นการตกลงและการดำเนินการซึ่งสามารถประคับประคองพวกชาติที่เป็นปรปักษ์กันในยุโรปให้ดำรงคงอยู่ในสันติภาพได้เป็นเวลาหลายสิบปี จวบจนกระทั่งดุลดังกล่าวโดยองค์รวมได้พังครืนลงมาในสงครามโลกครั้งที่ 1

เมื่อพิจารณาจากการที่สาธารณรัฐประชาชนจีนให้ความสนใจอยู่ที่การแก้ไขคลี่คลายปัญหาภายในประเทศซึ่งเต็มไปด้วยความยุ่งยากซับซ้อนยิ่ง (และตัวผมเองยังคิดว่า สาธารณรัฐประชาชนมีความตระหนักเป็นอย่างดีว่า ลัทธิชาตินิยมแบบมุ่งให้เกลียดกลัวต่างชาติโดยที่พุ่งเป้าไปยังญี่ปุ่นนั้น ถึงแม้อาจช่วยให้มีท่าทางสำหรับการผ่อนพักหายใจทางการเมืองขึ้นมาบ้าง แต่การเกิดสงครามในเอเชียตะวันออกขึ้นมาจริงๆ ย่อมมีแต่จะเพิ่มพูนความลำบากยุ่งยากให้แก่จีนขึ้นอีกอย่างมหาศาล) ในระยะเวลาไม่กี่ปีจากนั้นไป จึงน่าที่จะได้เห็นประเทศนี้พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสถานการณ์การเผชิญหน้าระหว่าง “ฝ่ายดี” กับ “ฝ่ายชั่ว” อันเลวร้าย อย่างที่พวกเฝ้าโจมตีจีนมุ่งหวังรอคอยอยู่

ปีเตอร์ ลี เป็นนักเขียนที่สนใจเรื่องกิจการเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ตลอดจนจุดตัดกันระหว่างภูมิภาคเหล่านี้กับนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ

(ข้อเขียนนี้มีความยาวมาก จึงแบ่งเป็น 5 ตอน นี่คือตอน 4 โปรดติดตาม
ปี 2014 จะเกิดสงครามสหรัฐฯ-จีน? ตอน 1: ปักกิ่งเพลี่ยงพล้ำ-วอชิงตันรุกไล่
ปี 2014 จะเกิดสงครามสหรัฐฯ-จีน? ตอน 2: เขตป้องกันภัยทางอากาศของปักกิ่ง
ปี 2014 จะเกิดสงครามสหรัฐฯ-จีน? ตอน 3: ‘อาเบะ ’ยึด ‘ยุทธศาสตร์ปักหลุด’
ปี 2014 จะเกิดสงครามสหรัฐฯ-จีน? ตอน 4: ‘จีน’ แตกต่างจาก ‘สหภาพโซเวียต’
ปี 2014 จะเกิดสงครามสหรัฐฯ-จีน? ตอน 5: ‘ปักหมุด’ เวอร์ชั่น 2.0)

กำลังโหลดความคิดเห็น