xs
xsm
sm
md
lg

ปี 2014 จะเกิดสงครามสหรัฐฯ-จีน? ตอน 2: เขตป้องกันภัยทางอากาศของปักกิ่ง

เผยแพร่:   โดย: ปีเตอร์ ลี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Erase that war with China 'in 2014'
By Peter Lee
23/12/2013

ยุทธศาสตร์ “ปักหมุดในเอเชีย” ที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ประกาศ เมื่อปี 2011 นั้น ถูกสร้างขึ้นมาในขณะที่สหรัฐฯกำลังพยายามหาความชอบธรรมและแรงจูงใจต่างๆ สำหรับการเป็นปรปักษ์ทางการทหารกับจีน โดยที่มีความเป็นไปได้ว่าอะไรๆ จะปะทุตัวขึ้นมาในปี 2014 นี้ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากพัฒนาการต่างๆ ในช่วงหลังๆ ก็กลับพบว่า นโยบายการต่างประเทศและการดำเนินการทางการทูตของฝ่ายจีน ส่วนใหญ่แล้วยังคงขับเคลื่อนด้วยความปรารถนาที่จะหลีกเลี่ยงภาวะถูกโดดเดี่ยว ตลอดจนยังคงขับดันด้วยความพยายามที่จะบรรเทาเจือจางการแบ่งขั้วอำนาจอย่างชัดเจนของนโยบาย “ปักหมุดในเอเชีย” ดังนั้น สงครามจึงยังคงเป็นสิ่งที่สามารถชะลอออกไปได้ อย่างน้อยที่สุดก็จนกระทั่งถึงปี 2017
(ต่อจากตอน 1)
สำหรับสหรัฐฯ ความเพลี่ยงพล้ำใหญ่หลวงที่สุดในรอบปี 2013 ย่อมได้แก่กรณีของเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ซึ่งสร้างความเสียหายย่อยยับให้แก่ความพยายามของสหรัฐฯที่จะรักษาฐานะความเป็นผู้นำในการพูดจาหารือวาระเศรษฐกิจของโลกกับจีน (กรณีการเปิดโปงแฉโพยของสโนว์เดน ยังสร้างความเสียหายให้แก่ความพยายามของวอชิงตันที่จะกลบเกลื่อนปกปิดความเข้ากันไม่ได้อย่างชัดเจนในเหตุผลคำอธิบายชุดก่อนๆ ของตนเอง ในเมื่อข้อกล่าวหาเก่าๆ ของสหรัฐฯในเรื่องจีนจงใจทำให้ค่าเงินหยวนของตนเองต่ำกว่าความเป็นจริงนั้น ต้องยุติหยุดใช้กันแล้วในสภาพปัจจุบัน แต่ในเวลานี้เองอเมริกาเสียอีกกลับกำลังพยายามทำให้สกุลเงินตราของตนอ่อนค่าลงด้วยการใช้นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE) ด้วยการพร่ำพรรณนาอธิบายให้เห็นไปว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนคือแก๊งอันธพาลไซเบอร์ ผู้ลักลอบสร้างตัวเองให้มั่งคั่งร่ำรวยด้วยการแอบขโมยเล็กขโมยน้อยแอบรวบรวมความลับต่างๆ ของอเมริกัน ทั้งนี้การเปิดโปงของสโนว์เดนซึ่งทำให้เรามองเห็นภาพการแอบสอดแนมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างกว้างขวางใหญ่โตมหึมาของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ได้ทำลายความพยายามเช่นนี้ของวอชิงตันอย่างสุดๆ จริงๆ จนกระทั่งมีนักสังเกตการณ์บางคนถึงกับประกาศว่า แท้ที่จริงแล้วสโนว์เดนน่าที่จะเป็นสายลับของจีนทีเดียว

กระนั้นก็ตาม ความพยายามของสหรัฐฯที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับอิทธิพลบารมีอันชอบธรรมในระดับภูมิภาคและในระดับโลกของสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็ยังถือว่าประสบความสำเร็จไม่ใช่น้อย ด้วยการพร่ำพรรณนาให้เห็น “ภัยคุกคามจากความแข็งกร้าวไม่ยอมลดราวาศอกของจีน” แล้วถ้อยคำโวหารเช่นนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากท่าทีเย่อหยิ่งโอหังของสาธารณรัฐประชาชนจีนในทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับการประโคมจากรัฐบาลฟิลิปปินส์ผู้โกรธเกรี้ยวขึ้งเครียด จากนั้นก็ยังถูกเติมเชื้อให้รุนแรงลุกลามออกไปอีก ด้วยการโหมโจมตีอย่างเกินเลยความจริงตามสื่อต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องที่สาธารณรัฐประชาชนจีนออกมาประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) เหนือทะเลจีนตะวันออก ในเดือนพฤศจิกายน และสำทับด้วยการรุกคืบอย่างชนิดกระทำเป็นระบบระเบียบมากกว่า ของ ชินโซ อาเบะ ผู้ซึ่งกำลังแสดงความเป็นอิสระมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดจนด้วยวงจรแห่งการยั่วยุก่อกวนกันและกันที่ญี่ปุ่นและสาธารณรัฐประชาชนจีนต่างแสดงออกมาอย่างระมัดระวังรอบๆ หมู่เกาะเซงกากุที่สองชาติพิพาทแย่งชิงกันอยู่

อาเบะฉวยใช้ข้อได้เปรียบจากการอดกลั้นปล่อยปละของสหรัฐฯ ด้วยการแหย่นิ้วทิ่มเข้าในบาดแผลแห่งเซงกากุไม่ยอมเลิกรา แล้วอาศัยการตอบโต้โวยวายจากฝ่ายจีนมาปกปิดอำพรางวาระของเขาเอง ในการมุ่งสั่งสมอิทธิพลบารมีทางการทหารของญี่ปุ่นให้แผ่ออกไปทั่วโลกอีกคำรบหนึ่ง โดยอาศัยการร่วมมือทางด้านความมั่นคงกับเวียดนาม, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, อินเดีย, และกระทั่งประเทศซึ่งอยู่ไกลออกไปสักหน่อยอย่าง ตุรกี (ตัวผมเองกำลังเฝ้ารอดูด้วยความอดทนว่า เมื่อใดสื่อมวลชนของโลกตะวันตกที่เกิดความตื่นตัวมองเห็นอันตราย จึงจะค้นพบว่าญี่ปุ่นนั้นกำลังยืนอยู่ตรงธรณีประตูของการเป็นมหาอำนาจผู้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์แล้ว ทั้งนี้โดยอาศัยสต็อกโลหะพลูโตเนียมปริมาณมหึมาของประเทศนี้ ตลอดจนโดยอาศัยโครงการอวกาศซึ่งหากดูจากแง่มุมอื่นๆ แล้วจะมองไม่เห็นประโยชน์ใด ๆ ของแดนอาทิตย์อุทัยเอาเสียเลย สำหรับข้อมูลอันเป็นเท็จที่มีการเผยแพร่กัน ซึ่งระบุว่าโลหะที่ได้มาจากเชื้อเพลิงเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใช้แล้ว ไม่สามารถที่จะนำมาใช้ในการทำอาวุธนิวเคลียร์ได้นั้น ผมขอเสนอให้ผู้ที่สนใจอ่านที่เว็บเพจนี้ http://www.nci.org/NEW/NT/rgpu-mark-90.pdf)

ในเวลาเดียวกันนั้น สาธารณรัฐประชาชนจีนก็ได้กระตุ้นส่งเสริมให้เกิดการเสียดสีเสียดทานกันในกรณีเซงกากุ โดยกระทำเรื่องปรามาสสบประมาทต่างๆ ที่ตนเองขบคิดคาดคำนวณมาอย่างดีแล้ว เป็นต้นว่า การประกาศเขต ADIZ ของตนให้ครอบคลุมถึงหมู่เกาะพิพาทแห่งนี้ด้วย ทั้งนี้นอกเหนือจากเป็นขั้นตอนตามกระบวนวิธีค่อยๆ เพิ่มทวีการยืนกรานถือสิทธิ์อ้างฐานะทางน่านน้ำของตนแล้ว สาธารณรัฐประชาชนจีนยังดูเหมือนกำลังดำเนินยุทธศาสตร์ในลักษณะค่อนข้างคล้ายๆ กับโปรแกรมการผลักดันให้สถานการณ์เลวร้ายลงอย่างผ่านการขบคิดคาดคำนวณเอาไว้ก่อนของเกาหลีเหนือ โดยที่สาธารณรัฐประชาชนจีนกำลังใช้ความพยายามที่จะทำให้สถานการณ์การพิพาทกรณีเซงกากุดูรุนแรง เพื่อหลอกล่อสหรัฐฯ ให้ต้องยอมปรับเปลี่ยนหันมาใช้จุดยืนที่สร้างสรรค์มากขึ้นในการรับมือจัดการกับความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับจีน จะได้สามารถแก้ไขคลี่คลายประเด็นปัญหาที่ทำท่าจะรุนแรงบานปลายนี้

อย่างไรก็ตาม จนถึงเวลานี้สหรัฐฯยังไม่ได้ติดเบ็ดในเรื่องนี้ และยังคงย้ำยืนยันอย่างชัดเจนว่าสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น (US-Japan Defense Treaty ชื่อเต็มๆ ของสนธิสัญญาฉบับนี้คือ Treaty of Mutual Cooperation and Security between the United States and Japan) นั้นคุ้มครองครอบคลุมถึงหมู่เกาะเซงกากุด้วย (ผมไม่เคยเหน็ดเหนื่อยเลยที่จะชี้ให้เห็น [2] ว่า อันที่จริงคณะรัฐบาลโอบามาเคยทำท่าจะละทิ้งจุดยืนอันยืนกรานเช่นนี้อยู่แล้วเมื่อปี 2010 ในช่วงใกล้ๆ จะเกิดเหตุการณ์อันน่าตื่นใจที่ญี่ปุ่นจับกุมคุมขัง จัน ฉีสง Zhan Qixiong กัปตันเรือประมงจีนซึ่งถูกระบุว่านำเรือของตนไล่ชนเรือตรวจการณ์ของทางการแดนอาทิตย์อุทัย เหตุการณ์นี้เป็นชนวนให้ฝ่ายจีนทำการตอบโต้ และกลายเป็นการบังคับให้สหรัฐฯต้องประกาศย้ำจุดยืนอยู่ข้างญี่ปุ่นเช่นนี้อีก) ทั้งนี้จุดยืนเช่นนี้ของสหรัฐฯ ยังถูกชินโซ อาเบะ นำเอาไปขยายความ จนทำให้ถ้อยคำโวหารเกี่ยวกับ “ภัยคุกคามจากจีน” กลายเป็นเสาหลักสำคัญในความพยายามต่างๆ นานาของอาเบะ ทั้งในเรื่องการหาทางนิยามจำกัดความเกี่ยวกับอิทธิพลบารมีของญี่ปุ่นในเอเชียเสียใหม่, การชุบชีวิตให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับมาคึกคักสดใส, ตลอดจนการสร้างเครือข่ายพันธมิตรระดับภูมิภาคซึ่งที่สำคัญแล้วจะประกอบด้วย อินเดีย, เวียดนาม, และฟิลิปปินส์ ด้วยความประสงค์ที่จะให้เครือข่ายพันธมิตรภูมิภาคนี้ เป็นตัวช่วยหนุนเสริมตนอีกแรงหนึ่ง นอกเหนือจากการสนับสนุนหนุนหลังของสหรัฐฯแล้ว

เรื่องที่แสดงให้เห็นเล่ห์กลอันหลักแหลมลึกซึ้งของอาเบะยิ่งกว่านี้อีก ได้แก่การที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นผู้นี้ฉวยใช้ประโยชน์จากการที่เครื่องบินทหารสหรัฐฯทำการท้าทายการประกาศเขต ADIZ ของฝ่ายจีน (การที่สหรัฐฯทำเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิพิเศษซึ่งชาติที่มีฐานะยิ่งใหญ่เหนือกว่าประเทศอื่นๆ ในเวลานั้น มักหยิบยกขึ้นมาใช้กันอยู่เสมอ แต่แน่นอนทีเดียวว่าสิทธิพิเศษเช่นนี้ไม่สามารถที่จะขยายไปให้แก่มหาอำนาจต่างประเทศใดๆ ก็ตามทีซึ่งเข้ามาใกล้ชิดสนิทสนมกับสหรัฐฯได้) มาทำการกล่าวอ้างอภิสิทธิ์อย่างเดียวกันให้แก่เครื่องบินของญี่ปุ่นด้วย ซึ่งเท่ากับการันตีให้เกิดสถานการณ์ที่ว่า ถ้าหากในอนาคตใกล้ๆ นี้ เกิดมีประเทศใดประกาศเขต ADIZ เหนืออาณาบริเวณทะเลจีนใต้ขึ้นมาแล้ว ทุกๆ ชาติก็จะประกาศอ้างสิทธิ์ท้าทายอย่างเดียวกันนี้ และส่งเครื่องบินทหารของพวกเขาบินไปที่ไหนก็ได้ตามแต่ที่พวกเขาปรารถนา

ถ้าหากเป้าหมายของประเทศทั้งหลาย ควรอยู่ที่การสกัดกั้นการประกาศใช้เขต ADIZ (ไม่ว่าจะเป็นการประกาศของชาติใดก็ตาม) ในทะเลจีนใต้ ตลอดจนอยู่ที่การมุ่งขัดขวางการเรียกร้องอ้างสิทธิ์ในภูมิภาคของสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้วละก้อ ต้องถือว่าความสำเร็จอยู่ใกล้แค่เอื้อมแล้ว แต่ถ้าหากมันเป็นอีกอย่างหนึ่งเลย กล่าวคือ แท้ที่จริงแล้วภูมิภาคแถบนี้ควรที่จะมีกรอบระเบียบขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยไม่ว่าใครก็ตามทีควรที่จะเคารพและมองเห็นประโยชน์ของเขต ADIZ และประเทศต่างๆ ก็จะต้องไม่ส่งเครื่องบินทหารของพวกตนบินผ่านน่านฟ้าที่เป็นพื้นที่อ่อนไหวล่อแหลมของชาติอื่นๆ โดยมิได้มีการแจ้งแผนการบินและเปิดช่องทางการติดต่อพูดจากันทางวิทยุเอาไว้ บางทีการที่จะสร้างระบบท้าทายไม่ให้ความเคารพเขต ADIZ ในระดับภูมิภาคขึ้นมาเช่นนี้ ก็อาจจะไม่ใช่หนทางอันสะดวกสบายในการก้าวไปสู่ความปลอดภัยทางด้านการบิน และหลีกเลี่ยง “อุบัติเหตุและความเข้าใจผิดต่างๆ” อันน่าสะพรึงกลัว ซึ่งพวกผู้สังเกตการณ์เรื่องแรงเสียดทานและข้อขัดแย้งต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการเดินเรือในแถบทะเลจีนใต้ในอนาคตอันไม่ไกลนักนี้ ต่างกำลังวิตกกังวลกันอยู่

วัตถุประสงค์ของการปักหลุด ตามที่มีการเสนออกมาในตอนแรกเริ่มนั้น ไม่ได้อยู่ที่การนำเอายุทธศาสตร์นี้มาใช้กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยความมุ่งหมายเพียงเพื่อให้เกิดความรื่นเริงบันเทิงใจ (ถึงแม้มันจะเป็นความรื่นเริงบันเทิงใจซึ่งผู้รู้และนักการเมืองบางรายปรารถนาที่จะได้ลิ้มลองครั้งแล้วครั้งเล่า และพบว่ามันเป็นรสชาติซึ่งแทบจะทำให้เสพติดถึงตายได้ทีเดียว) หากแต่การข่มขู่และการเงื้อง่าดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ปักหมุด มีเจตนารมณ์อยู่ที่การผลักดันให้จีนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่ โดยเดินไปตามเส้นทางต่างๆ ซึ่งเอื้อต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯมากยิ่งขึ้น

**หมายเหตุ**

[2] ดูเรื่อง Japan spins anti-China merry-go-round, Asia Times Online, October 29, 2010.

ปีเตอร์ ลี เป็นนักเขียนที่สนใจเรื่องกิจการเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ตลอดจนจุดตัดกันระหว่างภูมิภาคเหล่านี้กับนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ

(ข้อเขียนนี้มีความยาวมาก จึงแบ่งเป็น 5 ตอน นี่คือตอน 2 โปรดติดตาม
ปี 2014 จะเกิดสงครามสหรัฐฯ-จีน? ตอน 1: ปักกิ่งเพลี่ยงพล้ำ-วอชิงตันรุกไล่
ปี 2014 จะเกิดสงครามสหรัฐฯ-จีน? ตอน 2: เขตป้องกันภัยทางอากาศของปักกิ่ง
ปี 2014 จะเกิดสงครามสหรัฐฯ-จีน? ตอน 3: ‘อาเบะ ’ยึด ‘ยุทธศาสตร์ปักหลุด’
ปี 2014 จะเกิดสงครามสหรัฐฯ-จีน? ตอน 4: ‘จีน’ แตกต่างจาก ‘สหภาพโซเวียต’
ปี 2014 จะเกิดสงครามสหรัฐฯ-จีน? ตอน 5: ‘ปักหมุด’ เวอร์ชั่น 2.0)

กำลังโหลดความคิดเห็น