บีบีซีนิวส์/เอเจนซีส์ – การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกของยูเอ็น ยุติลงโดยที่บรรดาผู้แทนเจรจาของชาติต่างๆ ยอมประนีประนอมกันในเรื่องวิธีการรับมือกับปัญหาโลกร้อน
หลังจากเกิดภาวะชะงักชะงันมานานถึง 30 ชั่วโมง ในที่สุดพวกเขาก็เห็นชอบกับกรอบโครง ที่ปูทางไปสู่สนธิสัญญาภูมิอากาศโลกฉบับใหม่ ที่จะตกลงกันในขั้นสุดท้ายในการประชุมปี 2015 ที่กรุงปารีส
ทั้งนี้ ชาติต่างๆ กว่า 190 ชาติสามารถตกลงกันได้หลังจากมีการประนีประนอมกันหลายๆ เรื่อง ในนาทีสุดท้ายของการประชุม ซึ่งบ่อยครั้งต้องสะดุดติดขัดเพียงเพราะคำๆ เดียวในร่างกรอบโครง
อย่างไรก็ดี บรรดาผู้เจรจายังสามารถสร้างความก้าวหน้าในประเด็นซึ่งเป็นที่ถกเถียงอย่างหนักหน่วง คือเรื่อง “ความสูญเสียและความเสียหาย” ที่พวกชาติกำลังพัฒนาอาจจะต้องเผชิญในโลกที่กำลังร้อนขึ้นใบนี้
กระนั้นก็ตาม บรรดาองค์กรเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมชื่อดัง เป็นต้นว่า กรีนพีซ กองทุนสัตว์ป่าโลก และแอ็คชันเอด ต่างรู้สึกโกรธเคืองที่เหล่าชาติผู้เข้าร่วมประชุมไม่สามารถทำข้อผูกมัดอย่างเฉพาะเจาะจงในด้านการเงินได้
ทั้งนี้ การประชุมครั้งนี้ ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มหาพายุไต้ฝุ่น “ไห่เยี่ยน” พัดถล่มฟิลิปปินส์
ในการหารือกันในช่วงนั้น เยบ ซาโน หัวหน้าผู้เจรจาจากฟิลิปปินส์ ทำให้ผู้ที่เข้าร่วมประชุมคนอื่นๆ ถึงกับหลั่งน้ำตา เมื่อได้เขากล่าวเรียกร้องอย่างน่าสะเทือนใจให้ยุติ “ความบ้าคลั่งของภูมิอากาศ” เสียที
อย่างไรก็ตาม ความตั้งใจดีเช่นนี้ค่อยๆ ล้มครืนลงเมื่อต้องเผชิญกับความเป็นจริงทางการเมือง และเศรษฐกิจ ของกระบวนการเจรจาที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ที่กำหนดให้การจะทำข้อตกลงกัน ต้องเกิดจากฉันทามติของทุกฝ่าย
ทางด้านรัฐบาลของญี่ปุ่นไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นเลย เมื่อออกมาประกาศว่าตนจะไม่สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าที่ตั้งไว้สำหรับปี 2020 ได้
***การประชุมที่แทบจะไม่ได้อะไรเลย***
โปแลนด์ ซึ่งรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคราวนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีความใกล้ชิดกับพวกผู้ผลิตถ่านหินมากเกินไป
นอกจากนี้ ประธานในการประชุม ซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมก็ถูกปลดออก จากการที่โปแลนด์ปรับคณะรัฐมนตรีในระหว่างที่มีการเจรจาคราวนี้อีกด้วย
ตลอดเวลาที่มีการประชุม ยังมีรายงานออกมาอยู่เรื่อยๆ ว่า ผู้แทนเจรจาจำนวนมากต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า การประชุมครั้งนี้แทบจะหาสาระอะไรไม่ได้เลย
ปัญหาต่างๆ ในระหว่างการประชุมเจรจากันนั้น มีตั้งแต่ปัญหาในด้านการเงิน การชดเชยความสูญเสียและความเสียหาย และการจัดทำกรอบโครงที่จะทำให้บรรดาผู้แทนเจรจาจากชาติต่างๆ ไปถึงการประชุมที่กรุงปารีสในปี 2015 ซึ่งเป็นเส้นตายในการทำข้อตกลงฉบับใหม่ของโลก
ทั้งนี้ องค์ประกอบที่สำคัญยิ่งคือการกำหนดกรอบโครง ซึ่งพบว่าเป็นส่วนที่ยากที่สุดของการเจรจา ในเวลาที่ทุกฝ่ายถกเถียงกันถึงเรื่องนี้ตั้งแต่คืนวันศุกร์ (23 พ.ย.) จนเวลาล่วงเลยไปถึงค่ำของคืนวันเสาร์ (24)
สนธิสัญญาที่กำหนดจะทำกันที่ปารีสในปี 2015 นี้ต่างจากพิธีสารเกียวโต ตรงที่ว่าบรรดาชาติพัฒนาแล้วต้องการให้ข้อตกลงมีผลผูกพันกับทุกๆ ชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพวกประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่รายยักษ์ใหญ่อย่างอินเดียและจีน
อย่างไรก็ตาม บรรดาชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่จำนวนมาก เป็นต้นว่า เวเนซุเอลา ก็มุ่งมั่นที่จะแทรก “กำแพง” เข้าไปในข้อตกลงในอนาคต เพื่อรักษาความต่างระหว่างแนวปฏิบัติในสัญญาระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้ว กับประเทศกำลังพัฒนา ตามที่มีอยู่เดิมในข้อตกลงฉบับเก่า
***ควรมีข้อ 2b หรือไม่***
การถกเถียงกันนั้นมุ่งความสนใจไปที่คำๆ เดียวในเอกสาร ที่เป็นร่างกรอบโครงข้อสัญญาซึ่งจะช่วยถางทางไปสู่สนธิสัญญาฉบับใหม่
ในข้อย่อย 2b ของเอกสารฉบับดังกล่าว เดิมทีระบุว่าทุกฝ่ายจะต้อง “มีพันธกรณี” ร่วมกัน ทว่าในการประชุมใหญ่ บรรดาผู้แทนเจรจาจากจีนและอินเดียได้พยายามตั้งเป้าโจมตีคำๆ นี้ และกล่าวว่าพวกเขายอมรับภาษาที่ใช้ไม่ได้
“มีเพียงประเทศพัฒนาแล้วเท่านั้น ที่ต้องทำตามพันธกรณี” ส่วนประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ควรถูกคาดหวังให้ “ลงมือปฏิบัติให้เข้มแข็งขึ้น” เท่านั้น ซู เหว่ย ผู้นำการเจรจาจากจีนกล่าว
ในขณะที่เวลากำลังจะหมดลง บรรดารัฐมนตรี และที่ปรึกษาของพวกเขาซึ่งกำลังสิ้นหวังต่างรีบไปจับกลุ่มกันมุมห้องโถงเพื่อหาวิธีการที่ทุกฝ่ายจะสามารถประนีประนอมกันได้
หลังจาก 1 ชั่วโมงผ่านไป พวกเขาตกลงกันว่า จะเปลี่ยนจากคำว่า “พันธกรณี” (Commitments) เป็นคำว่า “ต้องมีส่วนร่วม” (Contributions)
คำที่มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นเช่นนี้ทำให้สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป สามารถยืนกรานให้ทุกคนตกลงที่จะร่วมมือกันได้ ขณะที่ก็ช่วยให้จีนและอินเดียยืนกรานที่จะปฏิบัติตามสัญญา ด้วยวิธีที่ต่างไปจากพวกประเทศพัฒนาแล้วได้เช่นกัน
คอนนี เฮเดการ์ด ข้าหลวงใหญ่ด้านภูมิอากาศของสหประชาชาติ รู้สึกโล่งอกที่ผู้แทนจากประเทศต่างๆ สามารถตกลงร่วมกันในองค์ประกอบที่สำคัญนี้ได้
“เป็นสิ่งที่ท้าทายมากๆ แต่เราก็สามารถจัดการปัญหาให้เข้ารูปเข้ารอยได้” เธอให้สัมภาษณ์บีบีซี
“ตามที่จริงแล้วยังมีวิธีการหาทางออก ให้ข้อตกลงกรุงปารีสที่สวยงามและรวดเร็วกว่านี้เสียอีก แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่นี่ก็คือ เราไปถึงจุดนั้นแล้ว และผลลัพธ์ก็ออกมาดีด้วย พอฉันได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นที่นี่แล้ว ฉันเชื่อว่าเป็นไปได้ (ที่จะเกิดสนธิสัญญาฉบับใหม่) ได้จริง”
ข้อถกเถียงกันที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ประเด็นความสูญเสียและความเสียหาย โดยถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับบรรดาประเทศกำลังพัฒนา ที่กล่าวว่ากองทุนที่รับปากกันว่าจะจัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถปรับปรุงสิ่งต่างๆ ในประเทศให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศนั้นเป็นสิ่งที่ดี และเป็นที่ยอมรับ แต่พวกเขายังต้องการเงินพิเศษเพื่อรับมือ ในกรณีที่เกิดปัญหาขั้นเลวร้าย อย่างพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน
พวกเขาทุ่มเถียงกันในเรื่องกลไกใหม่ที่เรียกว่า กลไกความสูญเสียและความเสียหาย ซึ่งจะเป็นหนทางในการระดมทรัพยากรในการรับมือจัดการกับผลกระทบ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม กรอบโครงนี้ระบุว่า กลไกใหม่จะต้องอยู่ “ภายใต้” การดูแลขององค์กรยูเอ็น ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องการเตรียมการรับมือปัญหา
คำๆ เดียวนี้ทำให้บรรดาผู้แทนเจรจาจากประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรวมถึง เยบ ซาโน จากฟิลิปปินส์ ถึงกับกลืนไม่ลง ทำให้เขาต้องแทรกแซง ด้วยการออกมากล่าวคำพูดที่สะเทือนอารมณ์อีกครั้ง
“เรากำลังติดอยู่ที่คำๆ เดียว ที่ผมต้องบอกว่า นี่เป็นช่วงเวลาที่กำหนดทิศทางของกระบวนการนี้ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องแสดงความกล้า แล้วทิ้งคำๆ นั้นไปซะ”
ภายหลังที่บรรดารัฐมนตรีจับกลุ่มกันหารือกันอีกครั้ง คำดังกล่าวก็ถูกเปลี่ยนแปลง และผ่านความเห็นชอบในที่สุด
แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกๆ คนจะพึงพอใจ
ฮาร์จีต ซิงห์ จากองค์การแอคชันเอดกล่าวว่า กลไกใหม่นี้เป็นเพียงการทำตามคำมั่นสัญญาเมื่อปีที่แล้วเท่านั้นเอง
“กลไกความสูญเสีย และความเสียหาย เป็นการตกลงขั้นต่ำสุด ที่อย่างไรเสียก็จะต้องเกิดขึ้นที่กรุงวอร์ซอว์อยู่แล้ว พวกประเทศที่เจริญแล้ว อย่างสหรัฐฯ แค่เก็บไว้ใช้ต่อรองในนาทีสุดท้ายเท่านั้นเอง” เขากล่าว
การประนีประนอมเหล่านี้ไม่ใช่วิธีผ่าทางตันที่สำคัญ และบรรดาผู้แทนในการเจรจาต่างก็รู้ดีว่ายังมีการต่อสู้ครั้งใหญ่รออยู่อีก
“อย่างที่โรลลิงสโตนว่าไว้ ‘คุณจะไม่ได้สิ่งที่ต้องการเสมอไป’” อัลเดน เมเยอร์ จากสมาพันธ์นักวิทยาศาสตร์ “ยูเนียนออฟคอนเซิร์นไซแอนทิสต์” กล่าว
“แต่บางที ถ้าคุณพยายามมากพอ คุณก็จะได้สิ่งที่ต้องการ”