xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน’ใช้‘อำนาจเศรษฐกิจ’ผลักดันนโยบาย (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: เบรนดัน โอไรลีย์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

China’s economic power mightier than the sword
By Brendan O'Reilly
15/10/2012

กระทรวงการต่างประเทศจีนเพิ่งประกาศจัดตั้งกรมกิจการเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งมีภาระหน้าที่โดยตรงในการใช้หรือไม่ใช้อำนาจทางเศรษฐกิจอันมากมายมหาศาลของแดนมังกร มาบรรลุวัตถุประสงค์ต่างๆ ทางด้านนโยบายการต่างประเทศ วัตถุประสงค์ต่างๆ เหล่านี้มิได้จำกัดอยู่เพียงแค่แวดวงด้านการพาณิชย์เท่านั้น แต่จากนี้เป็นต้นไป ปักกิ่งยังจะใช้บรรดาเครื่องมือทางเศรษฐกิจทั้งหลาย เพื่อการขยายผลประโยชน์ทางการเมืองและผลประโยชน์ด้านดินแดนของตนด้วย เรื่องนี้นับว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษในจังหวะเวลาที่ทั้งสหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป, และญี่ปุ่น ต่างยังกำลังตะเกียกตะกายอยู่ท่ามกลางความยุ่งเหยิงทางเศรษฐกิจในขณะนี้

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

ประเทศจีนกำลังมีข้อพิพาททางการเมืองและทางเศรษฐกิจอันดุเดือดเข้มข้นยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ทั้งกับญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา, และสหภาพยุโรป ในเวลาเดียวกันนั้น ทิศทางแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกก็เป็นที่ชัดแจ้งว่ากำลังอยู่ในภาวะมืดมน โดยที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กำลังคาดการณ์ว่ายุโรปจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างยืดเยื้อ ขณะที่สหรัฐฯก็ประสบกับความยากลำบากทางด้านงบประมาณที่สาหัสร้ายแรงยิ่ง

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออันสำคัญยิ่งยวดนี้เอง คณะผู้นำจีนก็ตัดสินใจที่จะทำการสำรวจเส้นทางต่างๆ ที่จะทำให้สามารถใช้อิทธิพลบารมีทางเศรษฐกิจที่กำลังเบ่งบานขยายตัวของแดนมังกร ไปหาประโยชน์ดอกผลในทางภูมิรัฐศาสตร์ อำนาจทางเศรษฐกิจของจีนนั้น ถ้าหากมีการใช้อย่างฉลาดหลักแหลมและอย่างเสมอต้นเสมอปลายแล้ว ก็สามารถที่จะกลายเป็นเครื่องมืออันทรงคุณค่าในการผลักดันเป้าหมายต่างๆ ในทางนโยบายการต่างประเทศของตนให้คืบหน้าไปได้ และจากการที่รัฐบาลปักกิ่งมุ่งมั่นที่จะใช้ศักยภาพทางการเงินและการค้าของตนเพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในทางการทูตเพิ่มมากขึ้นเช่นนี้ ย่อมจะส่งผลกระทบต่อระบบระหว่างประเทศอย่างน่าตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งนี้เมื่อวันพุธที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศของจีนได้แถลงข่าวการจัดตั้งหน่วยงานระดับกรมขึ้นมาในกระทรวงอีกกรมหนึ่ง ซึ่งก็คือ กรมกิจการเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (Department of International Economic Affairs) จู ไช่ฮวา (Zhu Caihua) รองคณบดีของวิทยาลัยเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (School of International Economy) แห่งมหาวิทยาลัยกิจการต่างประเทศจีน (China Foreign Affairs University) กล่าวย้ำถึงวัตถุประสงค์ของกรมใหม่นี้อย่างตรงไปตรงมา โดยบอกว่า “ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของจีนที่กำลังเพิ่มทะยานขึ้นอย่างพรวดพราดในเวลานี้ ทำให้จีนสามารถที่จะให้ความช่วยเหลืออันถูกต้องเหมาะสมทั้งแก่พวกประเทศกำลังพัฒนา และแก่สหภาพยุโรปที่กำลังถูกตีกระหน่ำจากวิกฤตหนี้สิน ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ยังทำให้จีนมีปากเสียงและความยืดหยุ่นเพิ่มมากขึ้นในการดำเนินความสัมพันธ์กับต่างประเทศอีกด้วย” [1] อาจารย์จูกล่าวต่อไปโดยเน้นย้ำว่า กรมใหม่ในกระทรวงการต่างประเทศแห่งนี้ จะได้รับมอบหมายภาระหน้าที่ในการจัดการกับ “พวกข้อพิพาททางเศรษฐกิจที่มีภูมิหลังทางการเมืองทั้งหลาย”

การสถาปนากรมกิจการเศรษฐกิจระหว่างประเทศขึ้นมา ถือเป็นสัญญาณอันแสดงให้เห็นว่า คณะผู้นำของจีนกำลังเกิดความตระหนักมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับความหมายโดยนัยในเชิงยุทธศาสตร์ของเศรษฐกิจจีนที่กำลังเติบโตขยายตัวออกไปเรื่อยๆ และของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศซึ่งจีนมีอยู่ในครอบครองเป็นปริมาณมหาศาล มาถึงตอนนี้ รัฐบาลแดนมังกรจึงกำลังเสาะแสวงหาทางที่จะใช้ประโยชน์โดยตรงจากอิทธิพลบารมีทางการเงินและทางเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตมากขึ้นทุกทีของตน เพื่อเพิ่มพูนอำนาจสิทธิขาดและความยืดหยุ่นในเชิงภูมิรัฐศาสตร์

สถานการณ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่ทั่วโลกควรต้องใส่ใจเอาไว้ให้มาก เพราะปักกิ่งกำลังส่งสัญญาณออกมาอย่างเปิดเผยว่า ต่อจากนี้ไปประเทศใดจะมีความสามารถและเป็นที่ยินดีต้อนรับให้ต่อเชื่อมเข้าถึงเงินกู้และตลาดอันสำคัญยิ่งของจีนมากน้อยแค่ไหนนั้น จะได้รับการพิจารณาจากจุดมุ่งหมายโดยรวมของนโยบายการต่างประเทศของแดนมังกร

การที่จีนได้กลายเป็นพลังสำคัญในแวดวงการเงินระหว่างประเทศในระดับที่จะไม่นำเอามาใส่ใจไม่ได้แล้วนั้น หาใช่เป็นเรื่องใหม่แต่ประการใดไม่ จากตัวเลขข้อมูลของจริงระบุออกมาให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า ในช่วงปีหลังๆ มานี้ จีนกำลังปล่อยเงินกู้ให้แก่พวกชาติยากจนในปริมาณสูงกว่าที่ธนาคารโลกเป็นผู้ให้กู้แก่ประเทศเหล่านี้ด้วยซ้ำ [2] สิ่งที่ถือเป็นเรื่องใหม่อยู่ตรงที่ว่า จีนกำลังแสดงเจตนารมณ์ออกมาอย่างเปิดเผยว่าจะนำเอาวัตถุประสงค์ในทางเศรษฐกิจมาต่อเชื่อมโยงใยกับจุดมุ่งหมายต่างๆ ในทางภูมิรัฐศาสตร์ ในเวลาที่ยุโรปกับอเมริกาต่างต้องเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจอันยืดเยื้ออยู่นี้ คณะผู้นำของจีนกำลังรู้สึกมั่นอกมั่นใจว่า ฐานะใหม่อันสวยหรูของแดนมังกรในขบวนแถวลำดับชั้นทางการเงินของทั่วโลก จะสามารถสร้างดอกผลในทางภูมิรัฐศาสตร์ขึ้นมาได้

**ข้อพิพาททางการค้า**

การประกาศจัดตั้งกรมกิจการเศรษฐกิจระหว่างประเทศขึ้นมาของจีนในครั้งนี้ บังเกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่มีความหมายอย่างยิ่งยวด ปัจจุบันจีนกำลังตกอยู่ใต้แรงกดดันทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากคู่แข่งรายสำคัญ (และก็เป็นคู่ค้ารายสำคัญด้วยเช่นกัน) ถึง 3 ราย ได้แก่ ญี่ปุ่น, สหรัฐฯ, และอียู

กรณีพิพาทระหว่างจีนกับญี่ปุ่นเพื่อช่วงชิงอธิปไตยเหนือหมู่เกาะเล็กๆ ในทะเลจีนตะวันออกซึ่งจีนเรียกชื่อว่าเตี้ยวอี๋ว์ ส่วนญี่ปุ่นขนานนามว่าเซงกากุ กำลังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างชัดแจ้งต่อทั้งสองชาติ เสียงเรียกร้องของประชาชนผู้ประท้วงให้คนจีนทำการคว่ำบาตรไม่ซื้อไม่ใช้สินค้าญี่ปุ่นกำลังได้รับการตอบสนองอย่างจริงจัง ยอดขายของโตโยต้าในประเทศจีนในเดือนกันยายน ลดต่ำลงมาถึง 40% จากเมื่อ 1 ปีก่อน [3] เที่ยวบินโดยสารระหว่างประเทศทั้งสองถูกบอกยกเลิกการจองที่นั่งเป็นหมื่นๆ ที่ จนกระทั่งทำให้ต้องมีการระงับเส้นทางบางเส้นทาง บริษัทญี่ปุ่นหลายสิบแห่งก็ถูกขับไล่ออกจากงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศของเขตภาคตะวันตกของจีน (Western China International Trade Fair)

ทางด้านรัฐบาลจีนก็ได้ระบุออกมาอย่างเปิดเผยแล้วว่า มีความคิดที่จะลงโทษรัฐบาลญี่ปุ่นในทางเศรษฐกิจ สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นดำเนินการซื้อหมู่เกาะที่พิพาทกันอยู่นี้จากเอกชนที่เป็นเจ้าของผู้ครอบครอง บทความชิ้นหนึ่งซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์เหรินหมินรึเป้าของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเดือนที่แล้ว กล่าว “เตือน” หรือน่าจะเรียกว่า “ขู่” เอาไว้ว่า “เศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะประสบความเสียหายอย่างสาหัสร้ายแรง ถ้าหากจีนดำเนินมาตรการลงโทษคว่ำบาตรต่อญี่ปุ่น ขณะที่ความสูญเสียของจีนนั้นเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วจะเกิดขึ้นน้อยกว่า”

แต่การข่มขู่นี้นับว่าสมเหตุสมผลอิงอยู่กับความเป็นจริงทางภววิสัย (objective reality) กล่าวคือ ระบบเศรษฐกิจของจีนยังคงเป็นระบบเศรษฐกิจด้อยพัฒนาเมื่อเปรียบกับของญี่ปุ่น และยังคงมีศักยภาพอย่างมากมายที่จะเติบโตขยายตัวจากภายใน ขณะที่ระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั้นประสบความเสียหายจากภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจมาเป็นเวลายาวนานถึง 2 ทศวรรษแล้ว การที่จีนแสดงเจตนารมณ์ที่จะใช้การข่มขู่ทางเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มน้ำหนักให้แก่การอ้างกรรมสิทธิ์ทางดินแดนของตนเช่นนี้ ถือเป็นมิติที่สำคัญมิติหนึ่งของกรณีพิพาทในขณะนี้

นอกเหนือจากญี่ปุ่นแล้ว กรมกิจการเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่จีนจัดตั้งขึ้นมาหมาดๆ ยังอาจจะพบว่าตนเองยังจะต้องวุ่นวายสาละวนกับการรับมือจัดการกับสหรัฐฯด้วยเหมือนกัน ทั้งนี้การเมืองภายในประเทศของสหรัฐฯกำลังส่งผลกระทบทางอ้อมอย่างสำคัญทีเดียวต่อการทูตในด้านเศรษฐกิจที่จีนกำลังเริ่มนำออกมาใช้นี้

เมื่อเร็วๆ นี้มีรายงานฉบับหนึ่งที่ออกมาจากคณะกรรมาธิการข่าวกรองของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ มีเนื้อหาเตือนพวกบริษัทอเมริกันทั้งหลายว่า อย่าได้ติดต่อทำธุรกิจกับ หัวเว่ย (Huawei) และ แซดทีอี (ZTE) สองบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีน แต่แทนที่จะระบุตัวอย่างของการกระทำความผิดอย่างเฉพาะเจาะจง ซึ่งจะกลายเป็นหลักฐานอันหนักแน่นของการไปสู่ข้อสรุปด้วยคำเตือนดังกล่าวข้างต้น รายงานฉบับนี้กลับบอกว่าที่ต้องเตือนก็เพราะเล็งเห็นปัญหายุ่งยากที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ทั้งนี้ ไมก์ รอเจอร์ส (Mike Rogers) ประธานของคณะกรรมาธิการชุดนี้ กล่าวเตือนว่า “ดังที่รายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นกันแล้ว เรามีความวิตกกังวลอย่างจริงจังเกี่ยวกับบริษัทหัวเว่ย และบริษัทแซดทีอี และความเกี่ยวข้องที่พวกเขามีอยู่กับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของประเทศจีน เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าจีนคือผู้กระทำผิดรายสำคัญในการทำจารกรรมทางด้านไซเบอร์ และ หัวเว่ย กับ แซดทีบี ก็ล้มเหลวไม่สามารถบรรเทาความวิตกกังวลอันร้ายแรงลงไปได้ในตลอดทั้งการสอบสวนที่ทรงความสำคัญครั้งนี้ ธุรกิจอเมริกันทั้งหลายจึงควรที่จะหันไปใช้ผู้ขายรายอื่นจะดีกว่า” [4]

เบรนดัน พี โอไรลีย์ เป็นนักเขียนและนักการศึกษาที่มาจากเมืองซีแอตเติล, สหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบันพำนักอยู่ในจีน เขาเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Transcendent Harmony
กำลังโหลดความคิดเห็น