xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน’ใช้‘อำนาจเศรษฐกิจ’ผลักดันนโยบาย (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: เบรนดัน โอไรลีย์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

China’s economic power mightier than the sword
By Brendan O'Reilly
15/10/2012

กระทรวงการต่างประเทศจีนเพิ่งประกาศจัดตั้งกรมกิจการเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งมีภาระหน้าที่โดยตรงในการใช้หรือไม่ใช้อำนาจทางเศรษฐกิจอันมากมายมหาศาลของแดนมังกร มาบรรลุวัตถุประสงค์ต่างๆ ทางด้านนโยบายการต่างประเทศ วัตถุประสงค์ต่างๆ เหล่านี้มิได้จำกัดอยู่เพียงแค่แวดวงด้านการพาณิชย์เท่านั้น แต่จากนี้เป็นต้นไป ปักกิ่งยังจะใช้บรรดาเครื่องมือทางเศรษฐกิจทั้งหลาย เพื่อการขยายผลประโยชน์ทางการเมืองและผลประโยชน์ด้านดินแดนของตนด้วย เรื่องนี้นับว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษในจังหวะเวลาที่ทั้งสหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป, และญี่ปุ่น ต่างยังกำลังตะเกียกตะกายอยู่ท่ามกลางความยุ่งเหยิงทางเศรษฐกิจในขณะนี้

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

การรณรงค์แข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกันที่กำลังดำเนินไปอย่างดุเดือดเข้มข้นอยู่ในตอนนี้ ก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบด้านลบเพิ่มมากขึ้นต่อการค้าระหว่างประเทศของจีน ทั้งประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้สมัครของพรรคเดโมแครต และ มิตต์ รอมนีย์ ผู้ท้าชิงคนสำคัญที่มาจากพรรครีพับลิกัน ต่างกำลังเล่นบทขึงขังเอาจริงพร้อมเล่นงานจีนอย่างโหดๆ เพื่อเรียกคะแนนจากประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียง ซึ่งจำนวนมากทีเดียวมีความเข้าใจว่าการที่จีนใช้กลเม็ดลูกเล่นต่างๆ ซึ่งไม่เป็นธรรม เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สินค้าจีนได้เปรียบในการแข่งขัน และคนอเมริกันจึงต้องตกงานขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯย่ำแย่ เมื่อไม่กี่วันมานี้เอง โอบามาได้ออกมาสกัดกั้นขัดขวางไม่ให้มีการติดตั้งเครื่องกังหันลมที่ทำในจีน ณ บริเวณชายฝั่งของมลรัฐออริกอน ด้วยเหตุผลที่ว่ามีความวิตกกังวลกันว่าการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวมีศักยภาพที่จะกลายเป็นการสืบความลับจากฐานทัพทหารของอเมริกันแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ แถวนั้น [5] ความเคลื่อนไหวคราวนี้ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมาที่มีประธานาธิบดีอเมริกันคนใดคนหนึ่งเข้าขัดขวางข้อตกลงการลงทุนของต่างประเทศ

ในเวลาเดียวกัน รอมนีย์ก็ประกาศท่าทีวิพากษ์วิจารณ์จีนอย่างรุนแรงที่สุด โดยระบุว่าแดนมังกร “ฉวยใช้ความได้เปรียบจากการที่พวกเราย่อหย่อนไม่ได้พยายามบังคับกดดันให้เกิดการค้าอันยุติธรรมขึ้นมา ... เราจะไม่ยินยอมให้พวกเขาแย่งชิงตำแหน่งงานของพวกเราไปเรื่อยๆ อีกแล้ว” [6] ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกันผู้นี้ยังกล่าวหารัฐบาลจีนว่า กระทำการปั่นค่าเงินตราของตนเพื่อให้สินค้าออกของแดนมังกรได้เปรียบในการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมต่อพวกผู้ผลิตของชาติอื่นๆ เขาลั่นปากให้สัญญาอย่างเป็นทางการด้วยว่า ถ้าหากเขาชนะได้เป็นประธานาธิบดีแล้ว ในวันแรกที่เขาเริ่มต้นทำงาน เขาจะประกาศให้จีนเป็นประเทศที่ทำการปั่นค่าเงินตรา ซึ่งจะเปิดทางให้สหรัฐฯสามารถดำเนินการลงโทษคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจได้

ไม่เพียงแต่สหรัฐฯและญี่ปุ่น จีนยังกำลังเผชิญกระแสร้อนเดือดในทางเศรษฐกิจจากเวทียุโรปอีกด้วย อียูนั้นกำลังเริ่มต้นเปิดการไต่สวนว่าสินค้าแผงวงจรพลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตในแดนมังกร อาจจะเข้าข่ายใช้วิธีทุ่มตลาด ซึ่งจะต้องถูกตอบโต้ด้วยมาตรการลงโทษ ทั้งนี้เรื่องนี้อาจเป็นภัยคุกคามต่อสินค้าออกของจีนที่ส่งไปขายในยุโรปคิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านยูโรทีเดียว

**แรงบีบคั้นทางการเมือง**

จีนไม่เพียงแต่กำลังประสบกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจจากการที่อาจถูกสหรัฐฯและอียูลงโทษคว่ำบาตรเท่านั้น แต่ยังเผชิญการท้าทายทางการเมืองในระยะยาวจากพวกมหาอำนาจฝ่ายตะวันตกเหล่านี้อีกด้วย การที่สหรัฐฯประกาศแผนการหวนกลับมาให้ความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อเอเชีย ถูกจับตามองว่าเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อความมั่นคงในภูมิภาคนี้ของจีน ขณะเดียวกัน ทั้งสหรัฐฯและอียูต่างกำลังนำพวกเขาเองเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันในการเมืองภายในประเทศของจีนอยู่เป็นประจำ ทั้งนี้การที่ฝ่ายตะวันตกให้ความสนับสนุนส่งเสริมพวกนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวจีนซึ่งเรียกร้องให้มีการปฏิรูปต่างๆ นั้น ในมุมมองของฝ่ายมังกรแล้ว มันคือการเข้ามาแทรกแซงอย่างก้าวร้าวในเรื่องที่เป็นกิจการภายในของจีนแท้ๆ

ในเมื่อจีนต้องเผชิญกับแรงบีบคั้นกดดันทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจจากมหาอำนาจใหญ่ๆ รายอื่นๆ เช่นนี้ คณะผู้นำของจีนจึงกำลังตรวจสอบทบทวนบรรดาวิธีการที่สามารถนำมาใช้เพื่อตอบโต้ โดยที่เห็นกันว่า พวกเครื่องมือในทางเศรษฐกิจถ้าสามารถนำมาใช้ได้อย่างถูกต้องแล้ว ก็จะกลายเป็นอุปกรณ์ชั้นเลิศในการส่งเสริมสนับสนุนวัตถุประสงค์ต่างๆ ในด้านนโยบายต่างประเทศของจีนในปัจจุบัน

แม้กระทั่งเมื่อภาวะเศรษฐกิจเคลื่อนเข้าสู่ช่วงที่อัตราการเจริญเติบโตอยู่ในระดับค่อนข้างชะลอตัวแล้ว แต่ศักยภาพในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนก็ยังคงมีมากกว่าของพวกคู่แข่งรายใหญ่ๆ ไม่ว่ารายไหนก็ตามที และถึงแม้เศรษฐกิจของจีนกำลังอยู่ในสภาพที่ต้องพึ่งพาอาศัยการค้าที่มีอยู่กับสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, และอียู เป็นอย่างสูง แต่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจเหล่านี้กลับต้องพึ่งพาอาศัยจีนมากกว่าเสียอีก ทั้งในเรื่องการเข้าถึงศักยภาพด้านอุตสาหกรรมการผลิตของจีน และการเข้าถึงตลาดภายในแดนมังกรที่กำลังขยายตัว นอกจากนั้น ชาติที่มีฐานะร่ำรวยกว่าแดนมังกรโดยเปรียบเทียบเหล่านี้ ยังต้องพึ่งพาอาศัยจีนเป็นอย่างมากในอีกด้านหนึ่ง ได้แก่การให้ช่วยซื้อตราสารหนี้รัฐบาลของพวกเขา

ถึงแม้กล่าวโดยเปรียบเทียบแล้ว ถ้าหากเกิดสงครามเศรษฐกิจขึ้นมา จีนน่าจะเป็นฝ่ายได้เปรียบ แต่ถึงอย่างไร สงครามเศรษฐกิจก็มีลักษณะเป็นเสมือนดาบสองคมและทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายแก่ทุกๆ ฝ่าย ในระหว่างการเผชิญหน้ากันเมื่อเร็วๆ นี้ พวกบริษัทญี่ปุ่นเกิดความเสียหายมากกว่าเหล่าธุรกิจของจีนก็จริงอยู่ แต่พวกเขาทั้งสองฝ่ายก็จะได้รับความกระทบกระเทือนในทางลบจากปริมาณการค้าที่ลดน้อยลงไปอยู่นั่นเอง พวกที่เข้าร่วมการสู้รบทั้งหมดจึงต่างก็จะกลายเป็นผู้แพ้ในสงครามการค้า –แม้ว่าจีนดูเหมือนจะเสียหายน้อยกว่าพวกคู่แข่งก็ตาม

ทั้งนี้ จากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แดนมังกรยังคงทำได้ ตลอดจนสภาพคล่องจำนวนมหึมาที่จีนมีอยู่ ทำให้จีนมีช่องทางอย่างมากในการเคลื่อนไหวเดินเกม โดยเป็นช่องทางซึ่งใหญ่โตกว้างขวางกว่าของพวกที่อาจกลายมาเป็นปรปักษ์กับแดนมังกรไม่ว่ารายใด ในสภาพการณ์เช่นนี้ จึงมีความเป็นไปได้ที่ว่า ในยามที่เกิดการประจันหน้าทางเศรษฐกิจขึ้นมา และเกิดถูกบีบคั้นกดดันอย่างหนักหน่วง จีนก็อาจตัดสินใจเดินหมากในลักษณะตั้งท่าว่าจะใช้ไม้แข็งตอบโต้ในทางเศรษฐกิจจนถึงที่สุด และจะยืนกรานในท่าทีเช่นนั้นเอาไว้ให้นานที่สุด เพื่อกดดันให้ฝ่ายปรปักษ์ยอมอ่อนข้อ แม้การยืนกรานท่าทีดังกล่าวอาจจะถึงขนาดทำให้สถานการณ์เฉียดใกล้จะกลายเป็นสงครามการค้า

ปัจจุบันทั้งอียูและสหรัฐฯในเวลานี้ต่างกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤตหนี้สิน ขณะที่จีนกลับกำลังถือครองทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเป็นจำนวนคร่าวๆ ราวๆ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดุลอำนาจทางการเงินกำลังเอนเอียงไปทางฝ่ายไหนควรที่ทุกๆ ฝ่ายจะมองเห็นไหด้อย่างชัดเจนถนัดตา ด้วยการสถาปนากรมกิจการเศรษฐกิจระหว่างประเทศขึ้นมา รัฐบาลจีนจึงกำลังส่งสัญญาณว่า มีความตระหนักเป็นอย่างดีเกี่ยวกับความสามารถของตนเองที่จะใช้ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจมาเป็นเครื่องมือในการเดินนโยบายการต่างประเทศ

กรมใหม่ในกระทรวงการต่างประเทศของจีนกรมนี้ จะใช้วิธีการทางการเงินมาปกป้องผลประโยชน์ที่ืทางคณะผู้นำจีนถือเป็นผลประโยชน์แกนกลาง อันได้แก่ การเข้าถึงตลาดต่างประเทศแห่งต่างๆ, บูรณภาพแห่งดินแดน, และพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังจะต้องเป็นผู้ผูกขาดอำนาจทางการเมืองเอาไว้ต่อไป รัฐบาลแดนมังกรอาจจะไม่มีความยินดีที่จะเข้าไปช่วยเหลือกอบกู้ยุโรป ถ้าหากพวกรัฐบาลยุโรปยังคงให้การสนับสนุนคนจีนที่ไม่เห็นด้วยกับทางการ และปักกิ่งยังอาจจะไม่มีความยินดียิ่งไปกว่านั้นเสียอีก ถ้าหากการปล่อยกู้ให้แก่วอชิงตัน กลับกลายเป็นการให้เงินทุนอันจำเป็นสำหรับการที่อเมริกาจะขยายการปรากฏตัวทางทหารในเอเชีย

การก่อตั้งกรมกิจการเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จึงถือเป็นขั้นตอนอันสำคัญมากในการนำเอาอำนาจทางเศรษฐกิจของจีนมาใช้เป็นเครื่องมือในกรณีพิพาททางการทูตต่างๆ อย่างเป็นทางการ ในขณะที่จีนยังคงดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจอยู่อย่างขะมักเขม้น คณะผู้นำของแดนมังกรย่อมแทบไม่ได้ผลประโยชน์อะไรเลย ถ้าหากคิดริเริ่มให้เกิดการประจันหน้าราคาแพงขึ้นมา ดังนั้น จีนน่าจะใช้ความได้เปรียบในทางเศรษฐกิจของตน ก็เพียงเพื่อตอบโต้การลงโทษคว่ำบาตร หรือไม่ก็เพื่อรักษาผลประโยชน์ที่ถือเป็นแกนกลางของตนเท่านั้น อาวุธทางด้านการเงินของจีนน่าที่จะยังถูกเก็บซุกเอาไว้ก่อน ตราบเท่าที่ประเทศอื่นๆ ยังไม่ทำการคุกคามโดยตรงต่อเศรษฐกิจจีน หรือต่อวัตถุประสงค์หลักๆ ในทางนโยบายของรัฐบาลจีน

หมายเหตุ

[1] ดูเรื่อง China boosts economic diplomacy, China Daily, Oct 10, 2012.
[2] ดูเรื่อง China loans more money than World Bank - report, BBC News, Jan 18, 2011.
[3] ดูเรื่อง China-Japan island row disrupts trade, Irish Times, Oct 9, 2012.
[4] ดูเรื่อง Stay Away from Huawei and ZTE: US Congress Committee, Business Standard, Oct 10, 2012.
[5]. ดูเรื่อง Obama blocks Chinese wind farms in Oregon over security, Hindustan Times, Sep 29, 2012.
[6] ดูเรื่อง China gaining fast on US, says Mitt Romney, Economic Times, Oct 11, 2012.

เบรนดัน พี โอไรลีย์ เป็นนักเขียนและนักการศึกษาที่มาจากเมืองซีแอตเติล, สหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบันพำนักอยู่ในจีน เขาเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Transcendent Harmony
กำลังโหลดความคิดเห็น