xs
xsm
sm
md
lg

จับตาแบรนด์จีน ก้าวสู่ระดับโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไฮเออร์กรุ๊ป (Haier Group) หนึ่งในบริษัทจีนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ผลิตและจำหน่ายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วโลก (ภาพเอเยนซี)
เอเยนซี - สินค้าจีนจำนวนมากถูกมองว่าราคาถูกและคุณภาพต่ำ ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่ต้องใช้เวลายาวนานของผู้ผลิตจีน ในการที่จะเปลี่ยนความรู้สึกกับคำว่า "ผลิตในประเทศจีน" หรือ "เมดอินไชน่า" และยังต้องพึ่งนวัตกรรมที่มีความต่อเนื่อง ยุทธศาสตร์การทำตลาดใหม่

นักวิเคราะห์การตลาดกล่าวว่า สินค้าจีนตั้งแต่รองเท้าแตะ ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อาทิ คอมพิวเตอร์ ที่ผลิตในจีนนั้นมึอยู่ทั่วทุกมุมโลก ซึ่งจีนประสบความสำเร็จในการขยายฐานตลาดกว้างไกล แต่ก็กลับกลายเป็นความสำเร็จที่มีลักษณะของ "ราคาถูกและคุณภาพต่ำ"

ความรับรู้เกี่ยวกับสินค้าทำให้ผู้ลิตจีนระดับคุณภาพต้องจำใจยอมรับ แม้จะไม่เห็นด้วยก็ตามกับอคติต่อสินค้าจีนทั้งหมด

ไฮเออร์กรุ๊ป (Haier Group) หนึ่งในบริษัทจีนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ผลิตและจำหน่ายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วโลก เผยกับไฟแนนเชียบไทม์สว่า ลูกค้าทั่วโลกส่วนใหญ่ ไม่รู้ว่าไฮเออร์ เป็นบริษัทสินค้าจีน

ไฮเออร์ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ชิงเต่า มณฑลซันตง และล่าสุดมีสัดส่วนครองตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุดในโลก มีรายได้ปีที่แล้วอยู่ที่ราว 23,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หัวเว่ย เทคโนโลยี แบรนด์โทรศัพท์มือถือจีน ที่มุ่งผลักดันสินค้าขึ้นไปแย่งตลาดกับ แอปเปิล และ ซัมซุง (ภาพเอเยนซี)
เลื่อนชั้น ก้าวสู่ระดับโลก

แม้ หลี่ ปัน ผู้อำนวยการบริหารของ ไฮเออร์ (ต่างประเทศ) กล่าวว่า "แม้จะไม่ยอมรับกับอคติที่มีต่อสินค้าจีน แต่ก็เข้าใจความรู้สึกของลูกค้า"

บรรดานักวิเคราะห์แบรนด์ให้ความเห็นว่า "วิธีที่จะแก้ปัญหานี้ เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างจริงจังต่อเนื่อง เพื่อลบภาพเก่า และประทับตราใหม่ให้กับคำว่า "เมดอินไชน่า" ให้ได้ เพราะการเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืนนั้น ต้องยกระดับสินค้าไปถึงจุดที่ทุกคนรู้สึกถึงคุณค่าของคำว่า เมดอินไชน่า"

แอนดรูว์ ฟิลิปส์ รองประธานฝ่ายบริหารของ การ์ดเนอร์ อิงก์ บริษัทวิจัยในปักกิ่ง กล่าวว่า บรรดาบริษัทจีนเคยชินกับการทำตลาดและส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสร้างเศรษฐกิจด้วยยอดจำนวน อาทิ ในปี 2554 จีนส่งออกโทรศัพท์มือถือ 1,130 ล้านเครื่อง หรือ ร้อยละ 71 ของทั้งหมดในโลก ซึ่งเพิ่มขึ้นมหาศาลจากเมื่อ 10 ปีก่อน ปี 2544 ที่ส่งออกร้อยละ 19 และ ปี 2549 ขึ้นมาที่ร้อยละ 40

ซุน เวินผิง เลขาธิการของสมาคมโทรศัพท์มือถือเซินเจิ้น กล่าวว่า "ส่วนใหญ่ของโทรศัพท์มือถือแบรนด์จีนที่ผลิต ไปขายต่างประเทศกลับมุ่งไปที่ลูกค้ากลุ่มล่างสุด โดยเซินเจิ้นเป็นฐานการผลิตและกระจายสินค้าประเภทนี้ที่ใหญ่สุดของจีน นอกจากนี้ ยังเป็นฐานของบริษัทอย่าง หัวเว่ย เทคโนโลยี (Huawei Technologies Co)และ ซีทีอี คอร์ป (ZTE Corp)

ฟิลิปส์ กล่าวว่า "บริษัทจีนตีตลาดโลกด้วยการแข่งขันด้านราคา แม้ว่าจะมีสินค้าที่ดีกว่า และราคาสูงกว่า แต่ก็เก็บไว้จำหน่ายในประเทศ ทว่า การสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งนอกประเทศนั้น ปัจจัยไม่ได้อยู่ที่จำนวนชิ้นที่ส่งออกไปขายได้ ดังนั้นการที่จะเปลี่ยนทัศนคติต่อสินค้าผลิตในประเทศจีน บริษัทจีนต้องเลือกเอาสินค้าที่ดีที่สุดของตนเองออกไป มากกว่าเลือกตัวที่ถูกที่สุด และต้องใช้การตลาดมากขึ้นเพื่อสร้างมูลค่าสินค้า ค่อยๆ แกะคำว่า ราคาถูก กับ คุณภาพต่ำ ออกจากความรู้สึกผู้บริโภค"

ล่าสุดนี้ บริษัทจีนหลายๆ ราย เริ่มที่จะเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และเปิดตัวสินค้าในระดับคุณภาพดีออกไปยังตลาดต่างประเทศมากขึ้นๆ อาทิ หัวเว่ย เทคโนโลยี และ ซีทีอี คอร์ป ซึ่งทุ่มพัฒนาโทรศัพท์มือถือและเริ่มปล่อยสินค้าระดับแนวหน้าของตนออกไปแข่งในกลุ่มเดียวกับ ไอโฟน ของแอปเปิลฯ และ กาแล็กซี่ซีรี่ส์ ของซัมซุง นอกจากนั้นยังทำอีเวนต์การตลาด ทุ่มโฆษณาประชาสัมพันธ์ตามเมืองใหญ่ รวมถึง กรุงลอนดอน และนิวยอร์ก และยังจ้างนักออกแบบระดับโลกจากค่าย BMW มาปรับโฉมให้สินค้าของตนด้วย

หัวเว่ย ยังเป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันรายการ อิตาเลียน ซูเปอร์คัพ (2011 Italian Supercoppa) ด้วยงบ 100 ล้านหยวน เพื่อดึงดูดความสนใจจากกลุ่มแฟนบอลยุโรป

หวัง เว่ยจวิน ประธานบริษัท หัวเว่ยดีไวซ์ (Huawei Device Co Ltd.) กล่าวว่า "เราวางแผนที่จะขยายและยกแบรนด์ไปสู่ระดับสินค้าไฮ-เอนด์"

ขณะที่ ซีทีอี คอร์ป ผู้จำหน่ายโทรศัพท์มือถือ อันดับ 4 ของโลก ก็เริ่มมุ่งเน้นสร้างแบรนด์ทั้งในและต่างประเทศ ด้วยสินค้าระดับไฮเอนด์เช่นกัน

เหอ ซื่อยู่ว์ รองประธานบริหารฯ กล่าวว่า บริษัทมุ่งเพิ่มยอดจำหน่ายสูงขึ้นสองเท่า เป็น 30 ล้านเครื่องในปีนี้ และในจำนวนนี้รวมถึงเพิ่มสินค้าระดับกลาง และไฮเอนด์ อีกเท่าตัวเช่นเดียวกัน

การทำตลาดของบริษัทจีนยังรวมถึงช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ ออนไลน์ด้วย อาทิ เฟซบุ๊ก และยูทิวบ์ ซึ่งจะช่วยสร้างการรับรู้ในสินค้า โดย ไฮเออร์ ได้ประเดิมคลิปวิดีโอเกือบ 50 คลิปฯ บนยูทิวบ์ไปก่อนแล้วในปีนี้

ฟิลิปส์ ยังกล่าวว่า "การบริการหลังการขาย เป็นเรื่องสำคัญ ที่แบรนด์จีนจะต้องขยายตามไปให้เท่าทัน เพราะเป็นสิ่งหนึ่งที่สร้างความสบายใจให้กับลูกค้า"
กำลังโหลดความคิดเห็น