xs
xsm
sm
md
lg

‘โอบามา’ยังตกเป็นเชลยของนโยบายการต่างประเทศยุค‘บุช’

เผยแพร่:   โดย: จิม โล้บ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Obama 'imprisoned' by terror paradigm
By Jim Lobe
29/05/2014

สหรัฐอเมริกายังคงเป็น “ชาติที่ทรงความสำคัญอย่างยิ่งยวดในระดับที่ไม่อาจขาดหายไปได้” ของโลก ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ประกาศเอาไว้เช่นนี้ ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์สำคัญทางด้านนโยบายการต่างประเทศ ณ โรงเรียนนายร้อยทหารสหรัฐฯ เวสต์พอยต์ โดยที่เขาได้เน้นด้วยว่า เขานิยม“แนวทางการแก้ปัญหาด้วยความร่วมมือระดับพหุภาคี” มากกว่า “แนวทางการแก้ปัญหาด้วยการมุ่งพึ่งพากำลังทหาร” อย่างไรก็ตาม พวกนักวิพากษ์วิจารณ์โอบามา ยังคงออกมากล่าวย้ำกันอยู่ดีว่า วอชิงตันแสดงท่าทีจ๋องๆ เป็นฝ่ายถูกกระทำมากเกินไป ในการตอบโต้กับวิกฤตการณ์ต่างๆ ตั้งแต่กรณียูเครนไปจนถึงทะเลจีนใต้ รวมทั้งหยิบยกเรื่องที่โอบามาโฟกัสอยู่ที่เรื่องการก่อการร้าย มาเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่า คณะรัฐบาลของเขายังคงตกเป็นเชลยของกระบวนทัศน์ทางนโยบายการต่างประเทศในยุคจอร์จ ดับเบิลยู บุช

วอชิงตัน - ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ เน้นย้ำให้ความสำคัญกับ “แนวทางการแก้ปัญหาด้วยความร่วมมือระดับพหุภาคี” (multilateralism) มากกว่า “แนวทางการแก้ปัญหาด้วยการมุ่งพึ่งพากำลังทหาร” (militarism) ในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ที่เวสต์พอยต์ (West Point) เมื่อวันพุธ (28 พ.ค.) สุนทรพจน์คราวนี้ได้รับการป่าวร้องล่วงหน้าจะว่าเป็นการปราศรัยแสดงแจกแจงนโยบายด้านการต่างประเทศครั้งสำคัญ โดยมุ่งที่จะตอบโต้ตอกกลับการประสานเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างดังอื้ออึงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝีมือของพวกรีพับลิกันและพวกอนุรักษนิยมใหม่ (neo-conservative) ที่กล่าวหาว่าช่วงแห่งการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา เป็นช่วงเวลาแห่งความอ่อนแอและการถอยร่น

ในการกล่าวสุนทรพจน์เมื่อวันพุธที่ 28 พ.ค. ณ พิธีเฉลิมฉลองการสำเร็จการศึกษาของโรงเรียนนายร้อยทหารสหรัฐฯ (US Military Academy) เมืองเวสต์พอยต์ มลรัฐนิวยอร์ก (อันเป็นเวทีเดียวกันกับที่ประธานาธิบดีคนก่อนหน้าเขา นั่นคือ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้ประกาศหลักนิยม (doctrine) ทางทหารของเขาที่ว่าสหรัฐฯต้องพร้อมเป็นฝ่ายเปิดการรุกโจมตีก่อน (military pre-emption) 9 เดือนก่อนหน้าที่เขาจะออกคำสั่งให้กองทัพสหรัฐฯรุกรานและยึดครองอิรัก) โอบามากล่าวยืนยันว่า สหรัฐฯยังคงเป็น “ชาติที่ทรงความสำคัญอย่างยิ่งยวดในระดับที่ไม่อาจขาดหายไปได้” ของโลก แต่เขาก็ย้ำด้วยว่า กำลังทหารนั้นควรที่จะนำมาใช้เพียงแค่ในสภาวการณ์ไม่กี่อย่างเท่านั้น

“สิ่งที่ผมถือว่าเป็นสาระสำคัญที่สุดก็คือ อเมริกาจักต้องเป็นผู้นำบนเวทีโลกอยู่เสมอ ถ้าหากเราไม่เป็นผู้นำแล้ว ก็จะไม่มีคนอื่นๆ มาแสดงบทบาทนี้ กองทัพที่พวกคุณเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งนั้น คือกระดูกสันหลังของความเป็นผู้นำดังกล่าวนี้ และก็จะเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกเรื่อยๆ ไป” เขาบอกกับบรรดานักเรียนนายร้อยที่เพิ่งสำเร็จการศึกษา ซึ่งบางคนอาจจะได้รับคำสั่งในเร็วๆ นี้ให้ไปประจำการยังอัฟกานิสถาน โดยที่ตัวโอบามาเองได้แถลงเอาไว้ในวันอังคาร (27 พ.ค.) ว่า เขามีความตั้งใจที่จะถอนทหารหน่วยสู้รบของสหรัฐฯทั้งหมดออกจากประเทศนั้นภายในช่วงสิ้นปี 2016

“ทว่าการปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ไม่สามารถที่จะเป็นส่วนประกอบแต่เพียงอย่างเดียว หรือแม้กระทั่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่สุด ของความเป็นผู้นำของเราในทุกๆ กรณีได้ เพียงแค่ที่เรามีค้อนที่ดีที่สุด ไม่ได้หมายความว่าปัญหาทุกๆ อย่างคือตะปู” ซึ่งเราสามารถตอกกระหน่ำได้ เขากล่าวเตือน

“... ผมจะทรยศต่อหน้าที่ของผมซึ่งมีต่อพวกคุณ และจะทรยศต่อหน้าที่ของผมซึ่งมีต่อประเทศชาติที่พวกเรารัก ถ้าหากผมส่งพวกคุณไปอย่างชนิดที่สร้างความเสียหาย เพียงเพราะผมมองเห็นว่ามีปัญหาอยู่สักที่ไหนสักแห่งหนึ่งในโลกซึ่งกำลังต้องการการแก้ไข หรือเพียงเพราะผมรู้สึกวิตกกังวลต่อเสียงของพวกนักวิพากษ์วิจารณ์ ผู้ซึ่งคิดว่าการเข้าแทรกแซงทางทหารเป็นหนทางเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ที่จะทำให้อเมริกาสามารถหลีกเลี่ยงจากการถูกมองว่าอ่อนแอได้” เขาบอก

โอบามาระบุว่า ลัทธิการก่อการร้าย คือ “ภัยร้ายที่กำลังคอยคุกคามโดยตรงที่สุดต่ออเมริกาทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ... สำหรับช่วงอนาคตอันใกล้ที่เราสามารถมองเห็นได้นี้” อย่างไรก็ดี เขาโต้แย้งว่า “ยุทธศาสตร์ซึ่งมุ่งรุกรานเข้าไปในทุกๆ ประเทศที่เป็นแหล่งพักพิงของเครือข่ายผู้ก่อการร้ายนั้น เป็นยุทธศาสตร์ที่ทั้งไร้เดียงสาและทั้งไม่ยั่งยืน”

ดังนั้น จากบริบทดังกล่าว เขาจึงเน้นย้ำว่า เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องสร้างสมรรถนะของกองกำลังความมั่นคงขึ้นมาภายในประเทศนั้นๆ เอง พร้อมกันนั้น เขาก็ประกาศว่าจะขอรัฐสภาอเมริกันให้อนุมัติเงินงบประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับการจัดตั้งกองทุนที่จะใช้ชื่อว่า “กองทุนหุ้นส่วนการต่อต้านการก่อการร้าย” (Counter-Terrorism Partnership Fund ใช้อักษรย่อว่า CTPF)

โอบามายังอุทิศเนื้อหาจำนวนมากในสุนทรพจน์ของเขาคราวนี้ เพื่อแจกแจงให้เห็นความสำคัญของการค้ำจุนสนับสนุนและการพึ่งพาอาศัยพวกสถาบันระหว่างประเทศต่างๆ ในการจัดการรับมือกับประดาวิกฤตการณ์ทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ และความท้าทายต่างๆ ในระดับโลก โดยหมายรวมถึงปัญหาภาวะโลกร้อนด้วย

“พวกช่างระแวงสงสัยนั้น บ่อยครั้งทีเดียวมักดูเบาประสิทธิภาพของการปฏิบัติการแบบพหุภาคี สำหรับพวกเขาแล้ว การทำงานผ่านทางสถาบันระหว่างประเทศทั้งหลาย หรือการให้ความเคารพยึดมั่นในกฎหมายระหว่างประเทศ คือสัญญาณแสดงถึงความอ่อนแอ ผมคิดว่าพวกเขาผิดแล้ว” โอบามาบอก พร้อมกับอ้างอิงสิ่งที่เขาเรียกว่าเป็นตัวอย่างความสำเร็จของวอชิงตันในแนวทางเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นการโดดเดี่ยวรัสเซียภายหลังจากที่มอสโกเข้าผนวกดินแดนแหลมไครเมีย หรือความสำเร็จในกรณีการสร้างกลุ่มพันธมิตรของเหล่ามหาอำนาจซึ่งกำลังดำเนินการเจรจาเพื่อกดดันให้อิหร่านยอมตัดทอนโครงการนิวเคลียร์

“นี่คือความเป็นผู้นำของอเมริกัน นี่คือความเข้มแข็งของอเมริกัน” เขาประกาศ และเรียกร้องต่อไปว่า วอชิงตันจะต้องสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันระหว่างประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization ใช้อักษรย่อว่า NATO) และองค์การสหประชาชาติ ซึ่งได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเป็นสถาบันที่สามารถคาดการณ์ว่าอาจจะเกิดวิกฤตและทำการป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตขึ้นมา

เขากล่าวย้ำด้วยว่า อิทธิพลของวอชิงตันในโลก “มักแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นเสมอ เมื่อเราเป็นผู้นำด้วยการกระทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง”

ขณะที่เขาพูดยืนยันว่า ตัวเขาเชื่อใน “แนวความคิดที่ว่าอเมริกาเป็นประเทศพิเศษที่ไม่เหมือนชาติใดในโลก (American exceptionalism) ตลอดทั่วทุกขุมขน ตลอดทั่วทุกเส้นใยแห่งการดำรงอยู่ของผม” เขาก็บอกด้วยว่า “เราไม่สามารถที่จะยกเว้นให้ตัวเราเองหลุดพ้นออกจากกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่จะนำเอามาใช้กับคนอื่นๆ ทุกๆ คน ... สิ่งที่ทำให้เรามีความพิเศษไม่เหมือนคนอื่นนั้น มิได้อยู่ที่เรามีความสามารถในท้าทายดูหมิ่นไม่ปฏิบัติตามบรรทัดฐานระหว่างประเทศและหลักนิติธรรม หากแต่อยู่ที่เรามีเจตนารมณ์ที่จะยืนยันถึงสิ่งเหล่านี้ด้วยการกระทำของเราเองต่างหาก” เขาบอก และยังเสริมว่า เขาจะสืบต่อความพยายามของเขาในการปิดเรือนจำที่กวนตานาโม (Guantanamo) ให้สำเร็จ

สุนทรพจน์ในครั้งนี้ของโอบามา ปรากฏออกมาท่ามกลางวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศจำนวนหนึ่ง กำลังทำท่าขยายตัวบานปลายออกไปเรื่อยๆ ไล่เรียงตั้งแต่การที่รัสเซียเข้าแทรกแซงในยูเครน และความตึงเครียดซึ่งเพิ่มทวีขึ้นในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออกระหว่างจีนกับพวกชาติเพื่อนบ้านที่สหรัฐฯให้การหนุนหลังอยู่ ไปจนถึงสงครามกลางเมืองที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องในซีเรีย ตลอดจนการแพร่กระจายของกลุ่มซึ่งเกี่ยวข้องโยงใยอยู่กับอัลกออิดะห์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโบโก ฮาราม (Boko Haram) ที่ไนจีเรีย และกระทั่งตลอดทั่วทั้งตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ

พวกนักวิพากษ์วิจารณ์ตัวโอบามาซึ่งอยู่ภายในสหรัฐฯเอง ตลอดจนชาติพันธมิตรต่างประเทศบางรายของอเมริกา ดังเช่น ซาอุดีอาระเบีย, อิสราเอล, และฝรั่งเศส ต่างกำลังหยิบยกเหตุผลขึ้นมาแจกแจงว่า วอชิงตันกำลังแสดงท่าทีจ๋องๆ เป็นฝ่ายถูกกระทำมากเกินไปแล้ว ในการตอบโต้ต่อเหตุการณ์อันน่าวิตกเหล่านี้

กระทั่งภายหลังการกล่าวสุนทรพจน์ของโอบามาในวันพุธ (28 พ.ค.) แล้ว เสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวนี้ก็ยังคงดังซ้ำขึ้นมาอีก เป็นต้นว่า วุฒิสมาชิกจอห์น แมคเคน (John McCain) ที่เคยเป็นผู้สมัครของพรรครีพับลิกันในการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแต่พ่ายแพ้ต่อโอบามาเมื่อปี 2008 เขาออกมากล่าวหาโอบามาว่า กำลังใช้วิธีโจมตีใส่ร้ายพวกที่วิพากษ์วิจารณ์เขา “ด้วยการเสนอแนะให้เห็นไปอย่างผิดๆ ว่า ถ้าหากไม่ยอมรับนโยบายของเขาแล้ว หนทางเลือกอื่นก็จะเหลืออยู่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือการใช้กำลังทหารแต่เพียงฝ่ายเดียวในทุกที่ทุกหนแห่ง”

“ทางเลือกที่แท้จริงนั้น อยู่ที่การหาทางนำเอาเครื่องมือต่างๆ ทั้งในทางอำนาจอ่อน (soft power) และในทางอำนาจแข็ง (hard power) ของเรามาใช้อย่างผสมผสานกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการสู้รบขัดแย้งกัน, รักษาผลประโยชน์ของเราและอุดมคติของเรา, และรับมือกับสิ่งที่ท้าทายเรา โดยผ่านการป้องปรามและการทูตซึ่งมีประสิทธิภาพ” แมคเคนกล่าว พร้อมกับระบุถึงวิกฤตการณ์ต่างๆ ในระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมาว่า “การท้าทายเหล่านี้ ไม่มีครั้งไหนเลยที่ถือเป็นความผิดของท่านประธานาธิบดีของเราท่านนี้ก็จริงอยู่ แต่สิ่งที่เขากระทำก็ไม่มีอะไรสิ่งไหนเลยซึ่งเพียงพอสำหรับการรับมือกับวิกฤตการณ์เหล่านี้

“เวลานี้กำลังเกิดความรับรู้ความเข้าใจไปทั่วโลกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า อเมริกานั้นพึ่งพาอาศัยไม่ได้, สับสนหลงทิศหลงทาง, และไม่มีเจตนารมณ์ที่จะเป็นผู้นำ ศักยภาพสมรรถนะของประเทศชาติของเรานั้นไม่ได้ถูกตั้งคำถามหรอก ทว่าความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวและการวินิจฉัยของเราต่างหากที่ถูกแสดงความกังขา การปราศรัยกล่าวสุนทรพจน์เพียงอย่างเดียวไม่ได้เป็นสาเหตุของพัฒนาการที่มีอันตรายอย่างนี้ แต่การปราศรัยกล่าวสุนทรพจน์กันเพิ่มมากขึ้นก็จะไม่สามารถแก้ไขคลี่คลายพัฒนาการนี้ได้เช่นเดียวกัน” แมคเคนบอก

กระทั่งพวกนักวิเคราะห์ที่โดยทั่วไปแล้วมีความเห็นอกเห็นใจกับวิธีการของโอบามามากกว่านักการเมืองรีพับลิกันอย่างแมคเคน ก็ยังแสดงความผิดหวังอยู่พอสมควรกับสุนทรพจน์คราวนี้

“สุนทรพจน์นี้พูดได้อย่างแข็งขันที่สุดในเรื่องที่ว่า นโยบายการต่างประเทศของเรานั้นไม่ควรที่จะเป็นเช่นไร มันไม่ควรที่จะมีลักษณะเป็นนักนิยมแยกตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยว (isolationist) และก็ไม่ควรที่จะเกิดจากพลังขับดันทางทหาร” บรูซ เจนเทิลซัน (Bruce Jentleson) อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการต่างประเทศทั้งในยุครัฐบาลโอบามาและรัฐบาลบิลล์ คลินตัน (1993-2001) และเวลานี้สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยดุ๊ก (Duke University) กล่าวแสดงความคิดเห็น

“ในเวลาที่โลกกำลังเผชิญกับเรื่องต่างๆ ทะลักทลายเข้ามา เรามีความจำเป็นอย่างแท้จริงที่จะต้องขบคิดพิจารณาจากแง่มุมของส่วนต่างๆ ที่จะนำเอามาสร้างเป็นยุทธศาสตร์แกนกลาง อย่างเช่น ควรจะมีการดัดแปลงปรับปรุงมาตรการในการป้องปรามกันอย่างไรบ้าง, การใช้การทูตเชิงบีบบังคับนั้นจะต้องอาศัยปัจจัยอะไรบ้าง, และอะไรที่จะต้องใช้จริงๆ ในการสร้างความเป็นหุ้นส่วนขึ้นมา ไม่ใช่เพียงแค่ทางส่วนของเราเท่านั้น แต่ทางส่วนของฝ่ายอื่นๆ ด้วย” เขาระบุ “จากแง่มุมเหล่านี้ตลอดจนในแง่มุมอื่นๆ จึงกล่าวได้ว่า มัน (สุนทรพจน์คราวนี้) มีลักษณะหลีกเลี่ยงไม่ยอมตอบคำถามซึ่งยากๆ ฉกาจฉกรรจ์จริงๆ เหล่านี้”

ขณะที่ สตีเฟน วอลต์ (Stephen Walt) ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และเป็นหนึ่งในผู้นำทางความคิดของทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสำนักสัจนิยม (realism school of international relations) ให้ทัศนะว่า การที่สุนทรพจน์นี้มุ่งโฟกัสไปที่เรื่องการก่อการร้าย เป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่าคณะรัฐบาลชุดปัจจุบันยังคงตกเป็นเชลยของกระบวนทัศน์ที่สร้างขึ้นในยุคของจอร์จ ดับเบิลยู บุช

“จุดซึ่งผมติดใจยิ่งกว่าสิ่งอื่นๆ ทั้งหมด ก็คือผมคิดว่าสุนทรพจน์นี้ได้เน้นย้ำอย่างไม่ได้ตั้งใจ ให้เราได้มองเห็นระดับของการที่เรื่อง สงครามต่อสู้กับการก่อการร้าย, สภาวการณ์ที่ยังคงพึ่งพาอาศัยกองทหารหน่วยรบพิเศษ อากาศยานไร้นักบิน (โดรน) และอื่นๆ อีกมากมาย, และการมัวพะวงอยู่กับอันตรายภัยคุกคามต่างๆ ซึ่งที่จริงแล้วเป็นประเด็นเล็กทว่าโดดเด่นเตะตา จะยังคงเป็นตัวขับดันแนวทางวิธีการของคณะรัฐบาลชุดนี้ ในการรับมือจัดการกับนโยบายด้านความมั่นคงแห่งชาติ แทนที่พวกเขาจะมุ่งไปจับปัญหาระยะยาวต่างๆ ซึ่งมีความสาหัสร้ายแรงมากกว่านั้น” เขากล่าวกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service ใช้อักษรย่อว่า IPS)

“นอกเหนือจากเรื่องการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามอันถนัดชัดเจนแล้ว การก่อการร้ายตามแบบแผนธรรมดานั้นมีอันตรายต่อชาวอเมริกันเล็กน้อยมาก ... กระนั้น เขา (โอบามา) ก็ยังรู้สึกถูกกดดันให้ต้องพูดถึงเรื่องการก่อการร้าย และต้องประกาศร้องขอเงินงบประมาณอีก 5,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อใช้ฝึกอบรมกองทหารในสถานที่ต่างๆ ซึ่งเราไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจอะไรกันเลย”

ทางด้าน ลอว์เรนซ์ วิลเคอร์ซัน (Lawrence Wilkerson) นายทหารเกษียณอายุยศพันเอก ซึ่งได้เคยทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ของอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คอลิน พาวเวลล์ (Colin Powell) มาเป็นเวลายาวนาน และเวลานี้สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิลเลียมแอนด์แมรี (William & Mary University) แสดงความเห็นด้วยเป็นอย่างมากกับ วอลต์

“การรวมศูนย์ให้ความสนใจกับภัยคุกคามอย่างหนึ่งซึ่งยังไม่ได้ใหญ่โตถึงขนาดคุกคามความอยู่รอดของเรา โดยที่ต้องแลกกับการละเลยภัยคุกคามอย่างอื่นๆ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นเรื่องใหญ่โตสาหัสยิ่งกว่า อีกทั้งเป็นรูปธรรมมากกว่าด้วยเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการดื้อรั้นไม่ยอมรับความเป็นจริง และ (อย่างน้อยที่สุดก็ในบางส่วนล่ะ) มันคือผลผลิตของปมทางจิตใจว่าด้วยอุตสาหกรรมการก่อการร้าย (terrorism-industrial complex) ซึ่งเราได้สร้างขึ้นมา (ในยุคของจอร์จ ดับเบิลยู บุช) และดูเหมือนว่าโอบามายังไม่สามารถที่จะหลุดพ้นออกจากมัน (ปมทางจิตใจนี้) ได้” เขาบอกกับสำนักข่าวไอพีเอสในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันทางอีเมล

“สิ่งที่เชื่อกันในเวลานี้ว่าเป็นความช่วยเหลือเพื่อต่อสู้กับการก่อการร้ายนั้น ช่างเหมือนกันอย่างมากกับสิ่งที่เคยเชื่อกันว่าเป็นความช่วยเหลือเพื่อต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น” เขาตั้งข้อสังเกต “พวกผู้นำทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกผู้เผด็จการทั้งหลายจะยิ่งโดดเด่นกว่าใครเพื่อนเลย ต่างก็เอ่ยปากแสดงท่าทีต่อต้านคอมมิวนิสต์กันอย่างแข็งขันทั้งนั้น จาในเวลาเดียวกันนั้นเอง พวกเขาก็สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้ตัวเอง, ทำให้ตัวเองยังรักษาครอบครองอำนาจเอาไว้ได้, และเที่ยวกดขี่ประชาชนของพวกเขาเอง โดยอาศัยความช่วยเหลือที่เราให้ไปเป็นเครื่องสนับสนุนค้ำจุนที่สำคัญที่สุดซึ่งทำให้พวกเขากระทำเช่นนั้นได้”

สำหรับองค์การสิทธิมนุษยชนอย่าง “ฮิวแมน ไรต์ วอตช์” (Human Rights Watch) และ “ฮิวแมน ไรต์ เฟิร์สต์” (Human Rights First) ขณะที่แถลงยกย่องโอบามาที่ให้คำมั่นสัญญาอีกครั้งที่จะปิดเรือนจำกวนตานาโมและเคารพยึดถือกฎหมายระหว่างประเทศ แต่องค์การเหล่านี้ก็แสดงความวิตกที่เขาเสนอจัดตั้งกองทุนหุ้นส่วนการต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งอาจเอื้อประโยชน์ให้แก่พวกรัฐบาลและกองกำลังรักษาความมั่นคงที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ

ทั้งนี้ ในเนื้อหาของสุนทรพจน์คราวนี้ โอบามาก็ได้พยายามที่จะบรรเทาความวิตกกังวลเหล่านี้ลงบ้างอย่างน้อยก็บางส่วน โดยในขณะที่เขาพูดพาดพิงถึงการใช้อากาศยานไร้นักบินของสหรัฐฯเข้าโจมตีเล่นงานเป้าหมายที่ถูกระบุว่าเป็นพวกอัลกออิดะห์ซึ่งมีคุณค่าสูงนั้น เขาก็อ้างว่ามีความพยายามที่จะป้องกันไม่ให้พลเรือนต้องบาดเจ็บล้มตายจากการโจมตีเหล่านี้ด้วย “เราจะต้องไม่สร้างศัตรูเพิ่มมากขึ้นกว่าที่เราได้จัดการขจัดออกไปจากสมรภูมิ” เขากล่าว

จิม โล้บ จัดทำบล็อกว่าด้วยนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งสามารถเข้าไปอ่านได้ที่ http://www.lobelog.com

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจาก สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (ไอพีเอส) http://www.ipsnews.net ซึ่งเป็นสถาบันเพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศที่มีสำนักข่าวระดับโลกเป็นแกนกลาง ไอพีเอสก่อตั้งขึ้นในปี 1964 มีความชำนาญเป็นพิเศษในการเสนอข่าวด้านพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจ, สิทธิมนุษยชน, สิ่งแวดล้อม, ตลอดจนเรื่องนโยบายการต่างประเทศของพวกมหาอำนาจพัฒนาแล้ว ซึ่งมองจากแง่มุมของการที่พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับพวกประเทศกำลังพัฒนา
กำลังโหลดความคิดเห็น