xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯมองทางเลือกอื่นๆ หลังญัตติเรื่องซีเรียถูกคว่ำในยูเอ็น

เผยแพร่:   โดย: ซาเมอร์ อะราบี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

US weighs options as Syrian violence rises
By Samer Araabi
07/02/2012

ภายหลังประสบความล้มเหลวในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ในการผ่านร่างมติที่มีเนื้อหาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองในซีเรีย ก็มีเสียงเรียกร้องดังกระหึ่มยิ่งขึ้นในวอชิงตันให้ลงมือปฏิบัติการอย่างเป็นอิสระ เพื่อส่งอิทธิพลต่อความเป็นไปของเหตุการณ์ในซีเรียอย่างเป็นรูปธรรม ท่ามกลางความวิตกของผู้คนจำนวนมากที่ว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะบีบบังคับให้ประเทศตะวันออกกลางแห่งนี้ยิ่งขยับเข้าไปใกล้ภาวะสงครามกลางเมือง

วอชิงตัน – ภายหลังประสบความล้มเหลวไม่สามารถผลักดันให้ร่างมติที่มีเนื้อหาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองในซีเรีย ผ่านการรับรองของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ วอชิงตันก็กำลังพิจารณาวิธีอื่นๆ ที่จะส่งอิทธิพลต่อความเป็นไปของเหตุการณ์ในซีเรียอย่างเป็นรูปธรรม ในขณะที่ประเทศดังกล่าวกำลังอยู่ในอาการโซซัดโซเซเข้าไปใกล้ภาวะสงครามกลางเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ

การลุกฮือในซีเรียกำลังใกล้ที่จะถึงหลักหมายครบรอบ 1 ปีเต็มแล้ว และความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นทุกทีด้วยน้ำมือของระบอบปกครองซีเรีย ก็กำลังทำให้เกิดกระแสเรียกร้องอย่างกึกก้องมากขึ้นเรื่อยๆ ให้นานาชาติเข้าไปแทรกแซงเพื่อยุติการนองเลือดเหล่านี้ และบังคับให้ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด (Bashar al-Assad) ลงจากอำนาจ

ถึงแม้ในตอนเริ่มแรกทีเดียว สภาแห่งชาติชาวซีเรีย (Syrian National Council) ซึ่งอ้างตนเป็นผู้นำการลุกขึ้นสู้ของชาวซีเรียคราวนี้ แสดงให้เห็นอย่างประจักษ์ชัดเจนว่าต่อต้านแนวทางการนำเอาต่างชาติเข้าไปแทรกแซงช่วยเหลือ แต่เมื่อเวลาผ่านไป กลุ่มนี้ก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนจนกระทั่งมีจุดยืนเรียกร้องให้นานาชาติเข้าแทรกแซงอย่างตรงๆ แล้ว ด้วยเหตุผลที่ว่านั่นเป็นเพียงวิธีการซึ่งยังเหลืออยู่ในการหยุดยั้งไม่ให้ประเทศจมถลำลงสู่สงครามกลางเมือง สหประชาชาติขณะนี้ประมาณการว่าความไม่สงบตลอดปีที่ผ่านมาทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 5,000 คน

ทั้งนี้ สภาแห่งชาติชาวซีเรียได้ออกคำแถลงฉบับหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ เรียกร้องให้ “ทุกผู้ทุกคนตลอดทั่วทั้งโลกจักต้องพูดออกมา และจักต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อหยุดยั้งการนองเลือดของชาวซีเรียผู้บริสุทธิ์” ขณะเดียวกันก็ประณามรัสเซียซึ่งมีท่าทีไม่ปรารถนาที่จะยุติความสัมพันธ์ทางทหารอันแข็งแกร่งที่พวกเขามีอยู่กับระบอบปกครองซีเรีย

**ความปราชัยในเวทีสหประชาชาติ**

ความพยายามทั้งหลายทั้งปวงที่จะรวบรวมประสานงานให้เกิดการปฏิบัติการของนานาชาติในเรื่องซีเรียขึ้นมา มีอันต้องพังครืนลงไปในวันเสาร์ (4) ที่แล้ว เมื่อทั้งรัสเซียและจีนต่างออกเสียงคัดค้านในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเท่ากับใช้สิทธิยั้บยั้งร่างมติที่มีเนื้อหาเรียกร้องอัสซาดยอมสละอำนาจให้แก่รองประธานาธิบดีของตน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่จะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลสามัคคีแห่งชาติขึ้นในซีเรีย

เอกอัครราชทูตของรัสเซียและของจีนประจำยูเอ็น อ้างเหตุผลความชอบธรรมในการใช้สิทธิวีโต้ของพวกตนว่า เพื่อเป็นการพิทักษ์ปกป้องอธิปไตยของรัฐๆ หนึ่ง ปรากฏว่าพวกเขาได้ถูกตอบโต้อย่างดุเดือดจากเอกอัครราชทูตของสหรัฐฯและของฝรั่งเศส

เอกอัครราชทูต ซูซาน ไรซ์ ของสหรัฐฯ ได้แถลง (พร้อมกับ ทวีต) ว่า เธอรู้สึก “ขยะแขยงที่รัสเซียและจีนป้องกันขัดขวางไม่ให้คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามวัตถุประสงค์อันแท้จริงขององค์การนี้”

ภายหลังการลงมติที่สหประชาชาติแล้ว สภาแห่งชาติชาวซีเรียได้ออกคำแถลงฉบับหนึ่ง เรียกร้องให้ “ผู้ที่มีความเห็นอกเห็นใจในตลอดทั่วทั้งโลก ได้ใช้มาตรการทุกอย่างทั้งทางการเมือง, เศรษฐกิจ, และการทูต ต่อพวกประเทศที่ได้ขัดขวางไม่ให้คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นผ่านมติฉบับนี้” ตลอดจน “ดำเนินการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ, ยกเลิกบรรดาข้อตกลงความร่วมมือทางการค้า, และประเมินทบทวนความสัมพันธ์ที่มีอยู่ (กับประเทศเหล่านี้) เสียใหม่”

ทางด้านวอชิงตันนั้นก็กำลังชั่งน้ำหนักดูว่า จะดำเนินมาตรการอะไรกับซีเรียต่อไป ซึ่งจะเป็นการปฏิบัติการที่มีลักษณะเป็นทั้งการลงโทษ, มีความเป็นสัญลักษณ์, และเป็นการกระทำเพื่อมนุษยธรรม

ในวันจันทร์(6)ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯประกาศว่า จะทำการปิดสถานเอกอัครราชทูตของอเมริกาในกรุงดามัสกัส โดยที่จะเรียกเจ้าหน้าที่ทั้งหมดซึ่งประจำอยู่ที่นั้นให้กลับไปสหรัฐฯ

คำแถลงต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับเรื่องนี้ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้อ้างอิงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงหลังๆ มานี้ในกรุงดามัสกัส ซึ่ง “ก่อให้เกิดความวิตกห่วงใยอย่างจริงจังขึ้นมาว่า สถานเอกอัครราชทูตของเราไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองเพี่อมิให้ถูกโจมตีด้วยกำลังอาวุธอย่างเพียงพอ” ขณะเดียวกันก็ย้ำด้วยว่า ถึงแม้ “เอกอัครราชทูต (โรเบิร์ต) ฟอร์ด ได้ออกมาจากกรุงดามัสกัสแล้ว แต่เขายังคงมีฐานะเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำซีเรียและตลอดจนประชาชนชาวซีเรีย”

นอกจากนั้นยังมีการถกเถียงอภิปรายกันอยู่ระดับหนึ่ง เกี่ยวกับความรับผิดชอบทางด้านมนุษยธรรมของรัฐบาลสหรัฐฯ รวมทั้งเมื่อไม่นานมานี้ก็ได้มีการจัดรายการแถลงสรุปซึ่ง ส.ส.ซู ไมริก (Sue Myrick) เป็นเจ้าภาพ อันมีจุดมุ่งหมายที่จะมองหาวิธีการต่างๆ ซึ่งรัฐบาลอเมริกันสามารถที่จะทำได้ เพื่อบรรเทาวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายลงทุกที ทั้งในชุมชนผู้ลี้ภัยซีเรียที่อยู่ตามพื้นที่ชายแดนของประเทศนั้น และทั้งภายในซีเรียเองด้วย

สืบเนื่องจากการที่ซีเรียเผชิญการถูกลงโทษคว่ำบาตรอย่างหนักหน่วง บวกกับความสัมพันธ์ทางการทูตและทางเศรษฐกิจที่มีกับชาติต่างๆ อยู่ในสภาพเสื่อมทรุดลง ตลอดจนรัฐบาลซีเรียยังมีการปรับเปลี่ยนลำดับความสำคัญทางด้านงบประมาณแผ่นดินของตนเสียใหม่ เหล่านี้เป็นสาเหตุทำให้ราคาอาหารพื้นฐานในประเทศนี้พุ่งสูงลิบลิ่ว และมีรายงานจากหลายๆ พื้นที่ว่าเกิดการขาดแคลนอาหาร, ยา, และกระแสไฟฟ้า อย่างร้ายแรง

ค่ายผู้ลี้ภัยต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตแดนประเทศตุรกี ก็ดูจะไม่ได้อยู่ในสภาพที่ดีกว่าอะไรนัก โดยที่มีรายงานจากที่นั่นบ้างที่นี่บ้าง ซึ่งพูดถึงการขาดแคลนสิ่งจำเป็นพื้นฐานทั้งหลายในทำนองเดียวกัน ทั้งหมดเหล่านี้ยังบังเกิดขึ้นท่ามกลางภาวะภูมิอากาศที่เลวร้าย

**การติดอาวุธพวกกบฎ**

ในเวลาเดียวกัน ความล้มเหลวไม่เป็นท่าในคณะมนตรีความมั่นคง ก็กำลังก่อให้เกิดเสียงเรียกร้องดังก้องมากขึ้นในกรุงวอชิงตัน เพื่อให้ลงมือดำเนินปฏิบัติการอันเป็นอิสระในเรื่องซีเรีย ซึ่งจะสามารถส่งอิทธิพลต่อความเป็นไปของเหตุการณ์ในประเทศนั้นอย่างเป็นรูปธรรม

ไม่นานนักหลังการโหวตของคณะมนตรีความมั่นคง รัฐมนตรีต่างประเทศ ฮิลลารี คลินตัน ของสหรัฐฯ ก็ออกมาแถลงเรียกร้องให้จัดตั้งกลุ่มพันธมิตรที่ประกอบด้วย “บรรดาเพื่อนมิตรของซีเรียที่เป็นประชาธิปไตย” เพื่อร่วมมือประสานความพยายามในการผลักไสให้ อัสซาด ตกลงจากอำนาจ

“เราจะทำงานกับบรรดาเพื่อนมิตรของซีเรียที่เป็นประชาธิปไตยตามที่ต่างๆ ทั่วโลก เพื่อสนับสนุนแผนการของฝ่ายค้านซึ่งมุ่งก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสันติ” คลินตันกล่าว ท่าทีเช่นนี้เห็นกันว่ากำลังเพิ่มพูนความเป็นไปเป็นได้ที่พวกมหาอำนาจตะวันตกอาจจะให้การสนับสนุนทางด้านอาวุธและการฝึกอบรมแก่กลุ่มกบฎต่างๆ ในซีเรีย ในลักษณะที่ชวนให้นึกไปถึง “กลุ่มติดต่อประสานงานว่าด้วยลิเบีย” (Contact Group on Libya) ซึ่งฝ่ายตะวันตกจัดตั้งขึ้นมา และได้ช่วยเหลือให้เงินทุนให้อาวุธแก่ “สภาถ่ายโอนอำนาจแห่งชาติของลิเบีย” (Libyan Transitional Council) แกนนำฝ่ายต่อต้านมูอัมมาห์ กัดดฟา ในลิเบีย เมื่อปีที่แล้ว

ถึงแม้ในสหรัฐฯขณะนี้ยังดูเหมือนไม่ค่อยมีกระแสความหิวกระหายที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องแทรกแซงทางทหารโดยตรงในซีเรีย แต่ก็มีหลายๆ เสียงภายในหมู่นักการเมืองฝ่ายรัฐบาล เป็นต้นว่า วุฒิสมาชิกโจเซฟ ลีเบอร์แมน (Joseph Lieberman) ที่ออกมาเรียกร้องอย่างเปิดเผยให้จัดหาอาวุธ, ข่าวกรอง, และความช่วยเหลือทางทหารอื่นๆ แก่พวกกบฎซีเรีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่พวกทหารแปรพักตร์ที่มีกำลังอาวุธอยู่แล้ว และรู้จักกันในชื่อว่า “กองทัพซีเรียเสรี” (Free Syrian Army)

อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์จำนวนหนึ่งกำลังรู้สึกวิตกกังวล จากการที่ความขัดแย้งคราวนี้กำลังถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นความขัดแย้งทางการทหารมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็มีหลายๆ ฝ่ายมองว่า การที่ฝ่ายตะวันตกเข้าเกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือทางการทหาร ต้องถือเป็นพัฒนาการที่น่าห่วงใย ซึ่งอาจจะส่งผลบิดเบือนรูปร่างลักษณะของการลุกขึ้นสู้คราวนี้

บัสซัม ฮัดดัด (Bassam Haddad) ผู้อำนวยการโครงการตะวันออกกลางศึกษา (Middle East Studies program) แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จ เมสัน (George Mason University) และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ “จะดาลิย์ยะ” (Jadaliyya) ที่ได้รับความนิยมอยู่มาก เมื่อเร็วๆ นี้ได้เขียนบทความชิ้นหนึ่ง วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงต่อวิธีการเช่นนี้ โดยเขาเห็นว่าการแทรกแซงของต่างชาติจะกลายเป็นการบ่อนทำลายเป้าหมายต่างๆ ที่กำหนดกันไว้ในช่วงแรกๆ ของการลุกขึ้นสู้ ปรากฏว่าบทความนี้ได้ก่อให้เกิดการถกเถียงตอบโต้กันอย่างดุเดือดระหว่างพวกสนับสนุนและพวกค้ดค้านการแทรกแซงของต่างชาติ

ในการให้สัมภาษณ์โทรทัศน์อัล-ญะซีเราะห์ (al-Jazeera) ภาคภาษาอังกฤษ เมื่อเร็วๆ นี้ ฮัดดัดกล่าวเตือนว่า การลุกขึ้นสู้ของชาวซีเรียกำลังค่อยๆ แปรเปลี่ยน “จากการต่อสู้ภายในประเทศอย่างถูกต้องชอบธรรมเพื่อคัดค้านระบอบเผด็จการ ไปเป็นอะไรบางอย่างที่น่าดูถูกดูหมิ่นกว่ากันมากมายนัก” ฮัดดัดและคนอื่นๆ ยังกล่าวหาสหรัฐฯว่า กำลังให้การสนับสนุนการลุกขึ้นสู้ของชาวซีเรียก็เพราะมันสอดคล้องกับผลประโยชน์ในภูมิภาคแถบนี้ของตนเอง ขณะที่กำลังเพิกเฉยหรือกระทั่งบ่อนทำลายการลุกขึ้นสู้ทำนองเดียวกันในบาห์เรน, เยเมน, และที่อื่นๆ

บาชาร์ จาฟารี (Bashar Jaafari) เอกอัครราชทูตซีเรียประจำยูเอ็น ก็ได้ฉวยใช้ประโยชน์จากท่าทีอันขัดแย้งกันเองดังกล่าวนี้ของสหรัฐฯ โดยในระหว่างที่เขาแถลงตั้งข้อสังเกตเมื่อวันเสาร์(4)ที่ผ่านมา เขาได้เจาะจงถาม ซูซาน ไรซ์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำสหประชาชาติว่า ทำไมเธอถึงได้บกพร่องล้มเหลว ไม่ได้รู้สึก “ขยะแขยง” อย่างเท่าเทียมกัน กับการออกเสียงวีโต้จำนวนมากของสหรัฐฯที่มุ่งปกป้องคุ้มครองการปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในกาซา, เลบานอน, รวมทั้งมุ่งคัดค้านประชาชนชาวปาเลสไตน์โดยรวม

ท่าทีและการปฏิบัติของวอชิงตันต่อระบอบปกครองซีเรีย ยังดูยิ่งสลับซับซ้อนขึ้นไปอีก เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ในแบบค่อนข้างปิดลับดำมืดที่ดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องระหว่างรัฐบาลทั้งสอง

ตัวอย่างเช่น มีรายงานว่าซีเรียได้ปลดปล่อย อะบู มูซัด อัล-ซูรี (Abu Musad al-Suri) ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นจอมวางแผนเบื้องหลังเหตุการณ์ระเบิดโจมตีกรุงลอนดอนในวันที่ 7 กรกฎาคม 2005 ความเคลื่อนไหวคราวนี้ดูเหมือนดามัสกัสต้องการที่จะใช้มาตักเตือนฝ่ายต่างๆ ในโลกตะวันตกซึ่งกำลังป่าวร้องสนับสนุนให้โค่นล้มระบอบปกครองซีเรีย แต่ประเด็นที่น่าสนใจมากก็คือ อัล-ซูรี ถูกปล่อยออกมาจากคุกซึ่งเขาถูกควบคุมตัวภายใต้โครงการการส่งผู้ร้ายข้ามแดนพิเศษ (extraordinary rendition program) ของสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ)

เป็นที่เชื่อกันว่าการปล่อยตัวคราวนี้คือการตอบโต้เป็นนัยๆ สืบเนื่องจากการที่วอชิงตันกำลังทอดทิ้งระบอบปกครองซีเรีย รวมทั้งดามัสกัสยังมุ่งจะให้เป็นสิ่งย้ำเตือนสายสัมพันธ์ที่รัฐบาลสหรัฐฯและซีเรียได้เคยมีมาในระหว่าง “สงครามต่อสู้เอาชนะการก่อการร้าย” ของคณะรัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช

เมื่อพิจารณาจากการที่ทั้งระบอบปกครองซีเรียและพวกศัตรูของระบอบนี้ ต่างก็ได้ยกระดับความรุนแรงขึ้นไปมากในระยะหลังๆ รวมทั้งการที่ระบอบปกครองซีเรียแสดงเจตนารมณ์ที่จะใช้ทางเลือกทุกๆ อย่างที่มีอยู่เพื่อให้ตนเองยังครองอำนาจได้ต่อไป ผู้คนจำนวนมากจึงลงความเห็นว่า พัฒนาการเหล่านี้บ่งชี้ว่ายิ่งนานาชาติเข้าไปแทรกแซงเพิ่มมากขึ้น ก็รังแต่จะกลายเป็นการเติมเชื้อเพลิงให้แก่กองถ่านไฟร้อนระบุแห่งสงครามกลางเมืองเท่านั้น

“การลงมติวีโต้ (ของรัสเซียและจีน) จะทำให้สหประชาชาติสูญเสียบทบาทหน้าที่ที่จะจัดการประเด็นปัญหานี้ และไปเพิ่มโอกาสที่ซีเรียจะถลำลงสู่สงครามกลางเมืองมากยิ่งขึ้น โดยที่ได้เชื้อเพลิงจากประดาอาวุธและความช่วยเหลือที่หลั่งไหลทะลักเข้ามาจากทุกๆ ฝ่าย” มาร์ก ลินช์ (Marc Lynch) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องตะวันออกกลาง แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน (George Washington University) เขียนเอาไว้เช่นนี้ในบล็อก foreignpolicy.com ของเขา ภายหลังการลงมติของคณะมนตรีความมั่นคง

“ความล้มเหลวของยูเอ็นจะไม่ถึงกับกลายเป็นการยุติความพยายามทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ ในการรับมือจัดการกับความทารุณโหดเหี้ยมที่กำลังยกระดับเพิ่มขึ้นทุกทีหรอก ทว่ามาถึงตอนนี้มันจะบังคับให้ความพยายามต่างๆ เหล่านั้นต้องผ่านไปตามช่องทางที่ทั้งมีประสิทธิภาพต่ำลงและมีความชอบธรรมน้อยลง ลู่ทางโอกาสอันน้อยนิดอยู่แล้วสำหรับ “การซอฟต์แลนดิ้ง” ในซีเรีย ด้วยการทำข้อตกลงเปลี่ยนถ่ายอำนาจทางการเมืองพื่อยุติความรุนแรงไปเสีย บัดนี้กำลังขยับเข้าใกล้ความพังพินาศลงอย่างสิ้นเชิงยิ่งขึ้นทุกที”

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น