xs
xsm
sm
md
lg

ปี 2014 จะเกิดสงครามสหรัฐฯ-จีน? ตอน 1: ปักกิ่งเพลี่ยงพล้ำ-วอชิงตันรุกไล่

เผยแพร่:   โดย: ปีเตอร์ ลี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Erase that war with China 'in 2014'
By Peter Lee
23/12/2013

ยุทธศาสตร์ “ปักหมุดในเอเชีย” ที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ประกาศ เมื่อปี 2011 นั้น ถูกสร้างขึ้นมาในขณะที่สหรัฐฯกำลังพยายามหาความชอบธรรมและแรงจูงใจต่างๆ สำหรับการเป็นปรปักษ์ทางการทหารกับจีน โดยที่มีความเป็นไปได้ว่าอะไรๆ จะปะทุตัวขึ้นมาในปี 2014 นี้ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากพัฒนาการต่างๆ ในช่วงหลังๆ ก็กลับพบว่า นโยบายการต่างประเทศและการดำเนินการทางการทูตของฝ่ายจีน ส่วนใหญ่แล้วยังคงขับเคลื่อนด้วยความปรารถนาที่จะหลีกเลี่ยงภาวะถูกโดดเดี่ยว ตลอดจนยังคงขับดันด้วยความพยายามที่จะบรรเทาเจือจางการแบ่งขั้วอำนาจอย่างชัดเจนของนโยบาย “ปักหมุดในเอเชีย” ดังนั้น สงครามจึงยังคงเป็นสิ่งที่สามารถชะลอออกไปได้ อย่างน้อยที่สุดก็จนกระทั่งถึงปี 2017

เมื่อช่วงสิ้นปี 2011 ในข้อเขียนของผมที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์เอเชียไทมส์ออนไลน์ (www.atimes.com) โดยใช้หัวเรื่องว่า "Maybe that war with China isn't so far off after all" (บางทีช่วงเวลาที่จะเกิดสงครามสหรัฐฯ-จีนอาจจะไม่ได้อยู่ห่างไกลจากนี้เท่าไหร่เลย) ผมได้เสนอข้อสรุปอันมืดมนตามชื่อหัวเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ก็เพราะว่าสหรัฐฯนั้น จากการสรรหาเหตุผลความชอบธรรม รวมทั้งข้อแก้ตัวต่างๆ ตลอดจนข้ออ้างทั้งหลายทั้งปวง ขึ้นมาล้อมรอบความมุ่งมาดปรารถนาที่จะ “ปักหลุดในเอเชีย” (pivot to Asia) ของตน ก็ได้ก่อรูปกลายเป็นความชอบธรรมในทางหลักการและความชอบธรรมในทางการประชาสัมพันธ์ รวมทั้งแรงจูงใจเชิงสถาบันต่างๆ เพื่อการเป็นปรปักษ์ทางการทหารกับสาธารณรัฐประชาชนจีน [1]

“การปักหมุด” ของสหรัฐฯ ที่ค่อยๆ พัฒนาไปอย่างช้าๆ แน่นอนทีเดียวว่า ได้สร้างปัญหาไม่ใช่น้อยให้แก่สาธารณรัฐประชาชนจีนในรอบปี 2013 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะในรูปของ การเติมพลังให้แก่พวกที่เป็นปรปักษ์กับแดนมังกร, การทำให้พวกผู้สนับสนุนปักกิ่งต้องอ่อนด้อยถอยกำลังลง, และการพลิกผันความพยายามของจีนที่จะแสวงหาประโยชน์ข้อได้เปรียบจากสภาพแวดล้อมในเอเชียตะวันออกของตน ให้กลับกลายเป็นการที่แดนมังกรต้องต่อสู้ฝ่าฟันอย่างหนักหน่วงและสิ้นเปลืองพลัง โดยที่เราสามารถมองเห็นความแปรเปลี่ยนเช่นนี้ได้อย่างถนัดชัดเจน ทั้งจากการเสียดสีเสียดทานกันอย่างไม่หยุดไม่หย่อนระหว่างญี่ปุ่นกับจีน, การแสดงการท้าทายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของฟิลิปปินส์, และการที่อินเดียปรากฏตัวออกมาอย่างน่ากลัว ในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนทางด้านความมั่นคงของญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย

ถึงแม้มีการพูดกันว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน อาจจะกำลังปรับเปลี่ยนเข้าสู่ “โมเดลใหม่” ทว่าเอาเข้าจริงแล้วระบอบปกครองใหม่ในจีนของสี จิ้นผิง ก็ยังคงมิได้แสดงความอ่อนข้อประนีประนอมในเรื่องต่างๆ จำนวนมาก ตามที่สหรัฐฯระบุเรียกร้องต้องการ (และยิ่งในกรณีของซีเรียด้วยแล้ว การที่จีนต้านทานนโยบายของคณะรัฐบาลโอบามาในเรื่องนี้ กลับปรากฏผลออกมาว่าปักกิ่งเป็นฝ่ายถูกต้องอย่างค่อนข้างชัดเจนด้วยซ้ำ)

ในเอเชียตะวันออก จีนยังคงประกาศอ้างความมีอภิสิทธิ์ทางด้านความมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ทางทะเลของตน ท่ามกลางเสียงต่อต้านคัดค้านจากหลายๆ ฝ่าย ความคิดเห็นชั้นนำในโลกตะวันตกในเวลานี้ กำลังเป็นไปในทางคัดค้านต่อต้านแดนมังกรโดยมองว่าจีนเป็นพลังอำนาจที่แข็งกร้าว, ไม่ร่วมมือกับใคร, และกวนโมโห (ดังเห็นประจักษ์ชัดเจนจากกระแสขุ่นเคืองไม่พอใจของสื่อมวลชน ต่อความผิดพลาดบกพร่องของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ภัยพิบัติพายุไต้ฝุ่น “ไห่เยี่ยน” ในระดับที่เหมาะควรแก่ฟิลิปปินส์ น่าสังเกตว่ากระแสความขุ่นเคืองเช่นนี้ อาจจะส่งผลกลายเป็นบั่นทอนทำลายเหตุผลความชอบธรรมของจีนที่พยายามสร้างภาพลักษณ์วางตัวเองว่าเป็นมหาอำนาจระดับภูมิภาคที่เมตตาปรานี) ทั้งนี้ทิศทางโดยภาพรวมสำหรับปี 2014 น่าที่จะอุดมไปด้วยความไม่พอใจสูงขึ้นไปอีก และการบีบบังคับเพิ่มมากขึ้นอีก

จากทัศนคติความคิดเห็นชั้นนำในโลกตะวันตกดังกล่าวข้างต้น แวดวงสาธารณะของโลกตะวันตกในปัจจุบันก็ดูมีการแสดงออกให้เห็นอย่างแรงกล้าขึ้นทุกทีว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบันนั้น กำลังหันเหเบี่ยงเบนออกจากการเป็นโมเดลของการแข่งขันกันอย่างสันติ กลายมาเป็นการต่อสู้อย่างเอาเป็นเอาตายระหว่างฝ่ายดีกับฝ่ายชั่ว อย่างไรก็ตาม สภาวการณ์เช่นนี้ไม่ได้ปรากฏให้เห็นในเวทีแสดงทัศนะระดับของผู้ทรงภูมิรู้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือกระทั่งในทางฝ่ายสหรัฐฯ ถ้าเป็นกรณีของการนำเอานโยบายปักหมุดไปประยุกต์ใช้กันจริงๆ หากพิจารณากันให้ดีแล้วก็ดูเหมือนจะไม่ได้เป็นอย่างนั้นเช่นเดียวกัน อันที่จริงแล้ว เมื่อเพ่งพินิจเหตุการณ์ต่างๆ ของปี 2013 อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น มันกลับแสดงนัยที่ว่า สหรัฐฯกำลังจัดลำดับความสำคัญในเอเชียอย่างเร่งด่วนและอย่างบังเกิดผล หาใช่กำลังเตรียมการเคลื่อนขบวนเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 แต่อย่างใดไม่

แนวโน้มโดยทั่วไปในปี 2013 คือการที่สหรัฐฯมุ่งแทะมุ่งตอดบรรดาจุดอ่อนของสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วยวิถีทางซึ่งรวมศูนย์อยู่ที่เรื่องเศรษฐกิจและค่อนข้างเป็นไปในทางสันติ โดยที่ถอยห่างจากการเผชิญหน้าทั้งหลายที่จะเป็นการกระตุ้นโทสะอันล้ำลึก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการปะทะกันด้วยอาวุธ และทำให้เศรษฐกิจโลกที่กำลังย่ำแย่ง่อนแง่นอยู่แล้วถึงกับพังทลายลงไป

ทั้งนี้แนวโน้มใหม่ดังกล่าวนี้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนหากยึดเอาปฏิสัมพันธ์ที่สหรัฐฯมีกับพม่ามาเป็นแบบฉบับ คณะทหารผู้ปกครองประเทศพม่านั้น เนื่องจากตระหนักแล้วว่าการเอาแต่พึ่งพาอาศัยสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งไม่เป็นที่นิยมชมชื่นในแดนหม่องเสียแล้ว มีแต่จะผลักไสตนเองให้เข้าสู่ภาวะจนตรอกทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้จึงได้พยายามยื่นมือส่งสัญญาณความพรักพร้อมที่จะติดต่อพัวพันชิดใกล้กับสหรัฐฯเมื่อปี 2011 ทั้งโดยการประกาศชะลอโครงการสร้างเขื่อนมยิตโสน (Myitsone dam) อันเป็นโครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่สร้างด้วยเงินทุนของสาธารณรัฐประชาชนจีนและเป็นที่กล่าวขวัญจับตามองกันอย่างกว้างขวาง ตลอดจนโดยการเจรจาหาทางรอมชอมปรองดองในเรื่องการปฏิรูปทางการเมืองกับ อองซานซูจี (ถ้าหากกรณีการประหารชีวิต จาง ซองเต็ก Jang Song-thaek ผู้เป็นอาเขยของคิม จองอึน อีกทั้งได้ชื่อว่าเป็นผู้นิยมฝักใฝ่ปักกิ่งที่มีคุณค่าเป็นอย่างมากของจีนในกรุงเปียงยาง เกิดกลายเป็น “เขื่อนมยิตโสน” ของเกาหลีเหนือขึ้นมาแล้ว เราก็น่าจะได้เป็นประจักษ์พยานถึงปีอันน่าสนใจแห่งการยื่นมือเข้าหากัน แม้อาจจะเป็นไปอย่างอิหลักอิเหลื่อ ระหว่างสหรัฐฯกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี)

สหรัฐฯยังกำลังฉวยใช้ประโยชน์จากความหวาดผวา “ปีศาจจีน” ที่หลอกหลอนบางประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก มาผลักดัน “ข้อตกลงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภูมิภาคแปซิฟิก” (Trans Pacific Partnership ใช้อักษรย่อว่า TPP) ของตน โดยที่สัญญาทางการค้าฉบับนี้ บางทีอาจจะมีความสำคัญสำหรับวอชิงตัน ในฐานะที่พวกเขาเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของภาคบริษัททั่วโลก ซึ่งกำลังต้องการกัดกร่อนบั่นทอนอำนาจอธิปไตยของแต่ละประเทศลงไป มากยิ่งกว่าการเป็นกลไกเครื่องมือแห่งการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือการเป็นอาวุธเพื่อการล้อมกรอบตีกระหน่ำจีนด้วยซ้ำไป ในรอบปี 2013 ที่ผ่านมา การเจรจาจัดทำข้อตกลง TPP ถือได้ว่ามีความก้าวหน้าไปก้าวใหญ่ อย่างน้อยที่สุดก็ในแง่การเมือง จากการที่รัฐบาลชินโซ อาเบะ แสดงความแน่วแน่จริงจังที่จะผลักดันญี่ปุ่นให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกรายหนึ่งในสัญญาฉบับนี้ด้วย ขณะที่มหาอำนาจอื่นๆ ในเอเชียซึ่งสนใจเน้นหนักในเรื่องผลในทางปฏิบัติมากกว่าหลักการใดๆ ก็พากันกระโดดเข้าไปในขบวนแห่นี้ แต่ในเวลาเดียวกันนั้นก็ประกาศเงื่อนไขขอบเขตต่างๆ ที่ฝ่ายตนจะสามารถยอมรับได้ พร้อมๆ กับที่ยังคงแสดงความยึดมั่นภักดีอย่างน้อยก็บางส่วน ต่อการเจรจาทำข้อตกลงทางการค้าระดับภูมิภาคอีกฉบับหนึ่งที่เป็นคู่แข่งกลายๆ กับ TPP และมีสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นผู้อุปถัมภ์สำคัญ ข้อตกลงดังกล่าวก็คือ ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership ใช้อักษรย่อว่า RCEP)

ในส่วนของสาธารณรัฐประชาชนจีนเอง เพื่อตอบโต้กับสภาวการณ์เช่นนี้ พวกเขาถึงกับแสดงความสนอกสนใจที่จะเข้าร่วม TPP เสียเลย (ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะสกัดขัดขวางความพยายามของญี่ปุ่น ซึ่งต้องการใช้ TPP เพื่อก่อให้เกิดกลุ่มพันธมิตรทางเศรษฐกิจมุ่งต่อต้านจีนของพวกเขาขึ้นมา อีกทั้งมีความเป็นไปได้ด้วยว่า ปักกิ่งยังอาจมุ่งหวังที่จะใช้สัญญาฉบับนี้มาเป็นข้ออ้างเครื่องกำบังในการผลักดันการปฏิรูปทางเศรษฐกิจภายในแดนมังกรเองอย่างจริงจัง) ซึ่งแน่นอนทีเดียวว่าจะสามารถเจือจางลดทอนท่าทางแนวโน้มมุ่งล้อมกรอบเล่นงานจีนของข้อตกลงฉบับนี้ลงไปได้

**หมายเหตุ**

[1] ดูเรื่อง Maybe that war with China isn't so far off after all, Asia Times Online, December 22, 2011.

ปีเตอร์ ลี เป็นนักเขียนที่สนใจเรื่องกิจการเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ตลอดจนจุดตัดกันระหว่างภูมิภาคเหล่านี้กับนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ

(ข้อเขียนนี้มีความยาวมาก จึงแบ่งเป็น 5 ตอน นี่คือตอน 1 โปรดติดตาม
ปี 2014 จะเกิดสงครามสหรัฐฯ-จีน? ตอน 1: ปักกิ่งเพลี่ยงพล้ำ-วอชิงตันรุกไล่
ปี 2014 จะเกิดสงครามสหรัฐฯ-จีน? ตอน 2: เขตป้องกันภัยทางอากาศของปักกิ่ง
ปี 2014 จะเกิดสงครามสหรัฐฯ-จีน? ตอน 3: ‘อาเบะ ’ยึด ‘ยุทธศาสตร์ปักหลุด’
ปี 2014 จะเกิดสงครามสหรัฐฯ-จีน? ตอน 4: ‘จีน’ แตกต่างจาก ‘สหภาพโซเวียต’
ปี 2014 จะเกิดสงครามสหรัฐฯ-จีน? ตอน 5: ‘ปักหมุด’ เวอร์ชั่น 2.0)

กำลังโหลดความคิดเห็น